‘ไฟป่า’กับการจัดการด้านการท่องเที่ยวในเขต‘อุทยานแห่งชาติ’ บูรณาการร่วมหน่วยงานปกครองในพื้นที่
สถานการณ์ปัญหาไฟป่าเป็นปัญหาสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ มักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ซึ่งผลกระทบจากการเกิดไฟป่า นอกจากสร้างความเสียหายให้แก่ผืนป่า ยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า รวมถึงปัญหาหมอกควันจากไฟป่าที่ได้สร้างความเสียหายด้านสุขภาพของประชาชน ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวในพื้นที่ และปีนี้ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ยังเป็นภัยที่มีสถิติการเกิดสูงต่อเนื่อง ยาวนานและขยายเป็นวงกว้าง
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า การวางแผนป้องกันการเกิดไฟป่านั้น ในส่วนของกรมอุทยานฯจะมีรูปแบบ ฟังก์ชันการทำงานที่จะต้องทำ เช่น การฝึกอบรมเพื่อเข้าไปช่วยดับไฟป่าสำหรับหน่วยเสือไฟ การจัดชุดเฝ้าระวัง การชิงเผา การทำงานเชื่อมต่อกับชุมชน ซึ่งการร่วมมือกันทำงานกับชุมชน เช่น การชิงเผา พื้นที่ตรงไหน ชาวบ้านต้องการเผาให้มาแจ้งกับเจ้าหน้าที่ เพื่อที่จะได้หาเวลาร่วมกัน วางแผนการเผาเศษชิ้นส่วนการเกษตร ในช่วงเวลาที่อากาศดี ควันไฟสามารถเจือจางได้ทันทีโดยที่ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้กรมอุทยานแห่งชาติฯได้ตระหนักถึงปัญหาและให้ความสำคัญกับการเกิดไฟป่า มีการรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ไฟป่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนทราบแนวทางการ ป้องกันไฟป่า การแก้ไขปัญหาไฟป่า การระมัดระวังอันตรายจากไฟป่าและผลกระทบจากไฟป่า โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และการท่องเที่ยว
หากเกิดสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติซึ่งต้องระมัดระวังความปลอดภัยสูงสุดสำหรับนักท่องเที่ยว จึงทำให้ที่ผ่านมามีการจัดการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ อาทิ การออกประกาศปิดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 37 แห่งในพื้นที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ป่า มีการเพิ่มความเข้มงวดในการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ตรวจสอบบุคคลที่จะเข้าไปทำกิจกรรมในพื้นที่ต้องเป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตและลงทะเบียนการเข้า-ออกแล้วเท่านั้น หากฝ่าฝืนให้บังคับใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดจากเบาไปหนัก รวมทั้งยังมีสั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ทุกพื้นที่ลงไปกำกับสถานการณ์ การดูแลแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในสังกัดอย่างใกล้ชิด เพื่อยับยั้งปัญหาให้เร็วที่สุดเมื่อเกิดไฟป่า และต้องประสานแจ้งข้อมูลกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ ให้รับทราบถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย
ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการบูรณาการของหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะทางกระทรวงมหาดไทย ที่จะดูแลองค์การปกครองในพื้นที่ ตนเห็นว่าดีที่สุดแล้ว และทางผู้ว่าราชการจังหวัดควรจะเป็นผู้สั่งการ กำกับดูแล เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างจริงจังแข็งขันและมีประสิทธิภาพต่อไป
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี