‘หมูเถื่อน’ทุบเจ๊ง!ผู้ลี้ยงโอดขาดทุนหนัก จี้รัฐเร่งสางคดี คนผิดลอยนวล
20 มิถุนายน 2567 นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าวว่า ผู้เลี้ยงหมูต้องการเห็นภาครัฐเอาจริงเอาจังกับการดำเนินคดีหมูเถื่อน โดยนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลให้ตัดสินลงโทษตามความผิด ตามที่ฝ่ายตำรวจดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว 3 คดี ผู้ต้องหาได้รับโทษทั้งจำทั้งปรับ โดยเฉพาะหลัง DSI รับคดีมาสอบสวนต่อจากกรมศุลกากรมาตั้งแต่ปี 2566 จนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดจนถึงที่สุดได้เลย ทั้งที่มีการประกาศรายชื่อบริษัทที่ลักลอบนำเข้า และชื่อนายทุนที่เป็นผู้นำเข้าแล้ว แต่ก็เพียงเรียกมาสอบปากคำแล้วปล่อยตัวไป
“เกษตรกรเกรงว่า ยิ่งปล่อยไว้นานวัน ผู้ต้องหาลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจะรอดจากคดีทั้งหมด เพราะการหาหลักฐานหรือการสอบสวนปากคำต่อจากนี้ไปจะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องในขบวนการหลายรายและน่าจะเชื่อมโยงกัน หลักฐานต่างๆอาจถูกทำลาย ไม่สามารถหาได้ โอกาสที่จะสาวไปถึงนายทุนหรือนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังคดีนี้ก็ลดลงด้วย” นายปรีชา กล่าว
ปัจจุบัน DSI รับผิดชอบคดีหมูเถื่อนทั้งหมด 4 กลุ่มคดี ประกอบด้วย 1. คดีหมูเถื่อนตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ ซึ่งเป็นกลุ่มดำเนินคดีมีความคืบหน้าที่สุด โดย DSI เตรียมส่งสำนวนให้กับ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาจำนวน 10 บริษัท 2. คดีหมูเถื่อน 2,385 ใบขน หมูเถื่อนถูกนำออกไปกระจายทั่วประเทศแล้ว คดีนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ และเตรียมจะพิจารณาเป็นคดีนอกราชอาณาจักร เพื่อเดินทางไปสอบสวนบริษัทต้นทางหมูเถื่อนในประเทศบราซิล (จะทำให้เสียเวลาอีกประมาณ 1 ปี) 3.คดีลักลอบนำเข้าซากสัตว์อื่น หมู วัว และขาไก่ จำนวน 10,000 ตู้ เกี่ยวข้องกับคนสนิทนักการเมือง มีการฟ้องร้องแล้วแต่ไม่มีความคืบหน้าของคดี และกลุ่มสุดท้ายหมูเถื่อนตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง 17 ตู้ พบมีบริษัทนำเข้าทำผิดกฎหมายเพิ่มเติมอีก 5 บริษัท ซึ่ง DSI คงทำการสอบสวนและส่งสำนวนต่อให้ ป.ป.ช. เช่นกัน
นายปรีชา กล่าวว่า หมูเถื่อนเป็นปัจจัยบ่อนทำลายการเลี้ยงหมูของไทยอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหมูเถื่อนซึ่งเป็นหมูที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทย 50% จากประเทศบราซิลและประเทศในสหภาพยุโรป ทะลักเข้ามาและกระจายไปทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 70,000 ตัน กดราคาหมูไทยจนผู้เลี้ยงหมูต้องแบกภาระขาดทุนสะสมจนถึงทุกวันนี้ นานกว่า 12 เดือน ถึงขณะนี้ ราคาหมูหน้าฟาร์มที่ปรับขึ้นมาบ้างแต่ยังไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิตของเกษตรกรที่ 80-82 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เกษตรกรขายได้จริง 66-70 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น
นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และ DSI ต้องร่วมมือกันตรวจสอบบริษัทนำเข้าเนื้อสัตว์ที่อยู่ภายใต้เขตปลอดอากร (Free Zone) โดยได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าและขาออก ที่นำสินค้าเข้ามาโรงงานหรือพื้นที่ที่ขออนุญาตไว้ และทำการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมามีการตรวจพบหมูเถื่อนในพื้นที่ Free Zone จำนวนมาก หลังมีบริษัทนำเข้าถูกจับดำเนินคดีนำเข้าซากสัตว์ วัว ขาไก่และหมูเถื่อน จำนวน 10,000 ตู้ รวมถึงท่าเรือคลองเตย ที่ยังไม่เคยมีการตรวจค้น เพราะหากหมูเถื่อนที่ยังตกค้างถูกระบายออกมาจะฉุดราคาหมูในประเทศให้ตกต่ำอีกครั้ง เป็นการเพิ่มปัญหาขาดทุนสะสมของเกษตรกร และทำลายเศรษฐกิจของประเทศไทย
“เกษตรกรอยากให้ DSI เร่งทำคดีและปราบปรามหมูเถื่อนให้หมดสิ้น นำการผลิตเข้าสู่ภาวะปกติ นำราคาเข้าสู่กลไกตลาดอย่างสมดุล แทนที่จะต้องแบกภาระขาดทุนจนต้องเลิกอาชีพไปจำนวนไม่น้อย หากเป็นแบบนี้ต่อไปจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของคนไทยในอนาคต” นายปรีชา กล่าว
ล่าสุดจากการเปิดตู้สินค้าตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ยังพบหมูเถื่อนอีก 17 ตู้ และอาจจะยังตกค้างอยู่ที่ท่าเรืออื่นๆ ได้ หากหมูเถื่อนถูกลักลอบออกจากท่าเรือไปจำหน่ายในตลาดได้อีก ก็จะสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไม่มีวันจบ
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี