ปลัด มท.และนายกสมาคมแม่บ้าน มท.นำประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด เข้าถวายเครื่องสักการะและลงนามถวายสักการะเบื้องหน้าพระรูป สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 97 พรรษา 26 มิถุนายน 2567
วันนี้ (21 มิ.ย. 67) เวลา 12.45 น. ที่พระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นำประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด เข้าถวายเครื่องสักการะ และลงนามถวายสักการะเบื้องหน้าพระรูป สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 97 พรรษา 26 มิถุนายน 2567
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้มีประกาศสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ที่ 1/2567 เรื่อง การจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสที่เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ทรงเจริญพระชนมายุ 97 พรรษา 26 มิถุนายน 2567 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ความว่า เนื่องในโอกาสที่ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชนมายุ 97 พรรษา 26 มิถุนายน 2567 สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช จึงประกาศแนวทางการจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันประสูติ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ดังต่อไปนี้ 1. เพื่อเป็นการถนอมพระอนามัย คณะแพทย์ผู้ถวายการอภิบาลจึงได้กราบทูลขอประทานให้ทรงงดการเสด็จออกเป็นการทั่วไปให้เฝ้าถวายสักการะ 2. งดการจัดกิจกรรมในพระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ตั้งแต่วันเสาร์ ที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป เพื่อปรับปรุงและบำรุงสถานที่ ยกเว้นเฉพาะในเวลาเปิดให้เข้าถวายเครื่องสักการะและลงนาม 3. เปิดพระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ให้เข้าถวายเครื่องสักการะ และลงนามถวายสักการะเบื้องหน้าพระรูป ในวันพฤหัสบดี ที่ 20 ถึงวันอังคาร ที่ 25 มิถุนายน 2567 ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ถึง 16.00 น. ทั้งนี้ การเข้าภายในเขตพระอารามเพื่อถวายเครื่องสักการะ ให้ถือประพฤติตามแนวปฏิบัติของวัด และ 4. คณะสงฆ์ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่ประสงค์จะจัดกิจกรรมถวายพระกุศล อาจจัดกิจกรรมบำเพ็ญกุศลและสาธารณสงเคราะห์ หรือประชุมกันเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตภาวนาถวายพระกุศล ภายหลังจากการทำวัตรเย็น ตามบริบทที่เหมาะสม โดยเน้นความเรียบง่าย และคำนึงถึงสาธารณประโยชน์
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) มีพระนามเดิมว่า “อัมพร ประสัตถพงศ์” ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ณ บ้านเลขที่ 28 หมู่ 1 ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี มีพระชนก ชื่อ นายนัย ประสัตถพงศ์ (แซ่ตั๊ง) และพระชนนี ชื่อ นางตาล ประสัตถพงศ์ สกุลเดิม วรกี เป็นบุตรคนที่ 2 จากพี่น้องทั้งหมด 9 คน โดยมีพระอนุชาที่ดำรงสมณเพศ 1 รูป คือ พระพรหมมงคลวัชราจารย์ (ไสว วฑฺฒโน) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศาราม วรวิหาร จังหวัดราชบุรี
"สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) ทรงบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. 2483 ณ วัดสัตตนารถปริวัตร วรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วย้ายไปทรงศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดตรีญาติ โดยมีพระครูศรีธรรมานุศาสน์ (โสตถิ์ สุมิตฺตเถร) เป็นพระอาจารย์คอยอบรมพระธรรมวินัย โดยพระองค์ได้ทรงศึกษาจนสำเร็จเปรียญธรรม 4 ประโยค ในปี พ.ศ. 2488 กระทั่งต่อมา ได้ทรงเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพโมลี เป็นพระอุปัชฌาย์ และสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมต่อในสำนักเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร จนสำเร็จเปรียญธรรม 6 ประโยค ในปี พ.ศ. 2493 นอกจากนี้ พระองค์ยังสำเร็จการศึกษาศาสนศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2500 และทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2512 และได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ได้แก่ 1) ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ โดยสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2552 และ 2) พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ โดยสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2553" นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ในด้านสมณศักดิ์ พระองค์ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ตามลำดับชั้นนับตั้งแต่ปี 2514 จนถึงในปี 2552 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ที่สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกธราจารย อัมพราภิธานสังฆวิสุต ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช" โดยทรงเป็น สมเด็จพระสังฆราช ลำดับที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอเชิญชวนพี่น้องพุทธศาสนิกชน ร่วมเข้าถวายเครื่องสักการะ และลงนามถวายสักการะ เบื้องหน้าพระรูปสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ถึง 16.00 น. ณ พระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร โดยพี่น้องพุทธศาสนิกชนที่ไม่สามารถเดินทางเข้าสักการะได้ สามารถร่วมกันทำความดีเพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาถวายเป็นพระกุศลในโอกาสอันเป็นมงคลดังกล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี