เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ข้อมูลล่าสุดของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และโรคไข้หวัดใหญ่ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนต่อเนื่องทั้งในโรงเรียน เรือนจำ ค่ายทหาร วัด และโรงงาน ระหว่างวันที่ 9-15 มิ.ย.2567 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จำนวน 2,881 ราย เฉลี่ยวันละ 412 ราย ซึ่ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) มีความเป็นห่วงสุขภาพอนามัยของนักเรียน ได้เน้นย้ำให้สถานศึกษาติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวัง และดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ซึ่งที่ผ่านมา ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้ทำหนังสือแจ้งเวียนและมีข้อเน้นย้ำไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ทั่วประเทศ เรื่องมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานศึกษา โดยให้ยึดแนวทางปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเดิม คือ ตรวจคัดกรองเด็กและบุคลากร ก่อนเข้าเรียนทุกเช้า แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ เว้นระยะห่างสวมหน้ากากอนามัย หมั่นทำความสะอาด และจัดจุดบริการให้มีการล้างมือ สบู่และน้ำสะอาด หรือเจลแอลกอฮอล์ พร้อมจัดทำแผนเผชิญเหตุป้องกันความเสี่ยง ซึ่งเรื่องที่ต้องระวังมากที่สุด คือ การกลับมาระบาดอีกครั้งของ โควิด-19 หากในพื้นที่ใดมีการระบาดค่อนข้างรุนแรง ก็ให้ขอความร่วมมือกระทรวงสาธารณสุข หรือจังหวัด และปิดการเรียนก่อน โดยสามารถจัดการเรียนการสอนเรียนในรูปแบบอื่น หรือให้เรียนออนไลน์ ออนดีมานด์ ออนแอร์ ซึ่งเป็นรูปแบบที่สถานศึกษาเคยดำเนินการในช่วงโรคโควิด-19 แพร่ระบาดหนัก ทั้งนี้ ตนขอเน้นย้ำให้โรงเรียนสร้างความตระหนักรู้ และสร้างทักษะ การเฝ้าระวัง ดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของตนเองให้แก่นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อไม่ประมาท มีการป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ เป็นพาหะ และเจ็บป่วยได้
“สุภาพอามัยของนักเรียน เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่สถานศึกษาต้องดูแล ซึ่งไม่เฉพาะการป้องกันโรคโควิด-19 หรือโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจที่แพร่ระบาดในปัจจุบันเท่านั้น สถานศึกษาต้องติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์โรคอุบัติใหม่อื่นๆที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันได้ทันท่วงที ขณะเดียวกันต้องกำหนดเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพอนามัยทั้งด้านน้ำหนักและส่วนสูงของนักเรียน ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด, ส่งเสริมให้นักเรียนได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและหลักการบริโภคที่เหมาะสม, ให้เด็กได้ออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพ, โรงเรียนกับผู้ปกครองนักเรียน ควรมีการทำข้อตกลงร่วมกันในการป้องกัน บำบัดและดูแลรักษา ระหว่างที่นักเรียนอยู่ที่โรงเรียนเป็นหน้าที่ของครู และเมื่อนักเรียนกลับไปที่บ้านก็จะเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง ตลอดจนร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ชุมชน ท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการเฝ้าระวังดูแลสุขภาพอนามัยสุขภาพอนามัยเด็กอย่างต่อเนื่อง” นายธีร์ กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี