ดร.อุเทน คำน่าน รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา เปิดเผยว่า นโยบายของรัฐบาลกำหนดให้มีการปฏิรูปและพลิกโฉมประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้แบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยออกเป็น 5 กลุ่ม ซึ่งในส่วนของ 9 มทร. อยู่ในกลุ่มที่ 2 กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม และได้มีการดำเนินงานร่วมกันภายใต้ยุทธศาสตร์ 9 มทร. ซึ่งในส่วนของมทร.ล้านนา มีแผนที่จะเน้นในเรื่อง “ครีเอทีฟล้านนา”ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้มีการแบ่งพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ โดยภาคเหนือ Northern EconomicCorridor: NEC - CreativeLANNA ถูกกำหนดไว้ 4 จังหวัดคือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน มทร.ล้านนา จึงจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนากำลังคนเฉพาะทาง ตามความต้องการของประเทศ ผลักดันครีเอทีฟล้านนาเข้าไปส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ให้เจริญเติบโตได้ด้วยอาชีพและการค้าใหม่ๆ ทั้งการปลุกปั้นสตาร์ทอัพ และบริษัทใหม่ๆ ที่เกิดจากนักศึกษาของมหาวิทยาลัย หรือมีส่วนสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นการเชื่อมต่อนโยบายของ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน อดีตรักษาการอธิการบดี มทร.ล้านนา ที่ได้ทำเอาไว้แล้วด้วย
ดร.อุเทน กล่าวต่อไปว่า มทร.ล้านนาต้องการบ่มเพาะนักศึกษา กลุ่มกำลังคนที่อยู่นอกภาคการศึกษา ทั้งภาคอุตสาหกรรม การเกษตร การบริการ และกลุ่มเด็กที่มีความเปราะบางในสังคม ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยทั้งโครงสร้างพื้นฐาน กำลังคน อาจารย์ ทั้งสายสนับสนุน และสายวิชาการ ขณะเดียวกันต้องจัดเตรียมหลักสูตรที่พร้อม โดย มทร.ล้านนา ได้ร่วมกับสภาวิชาชีพต่างๆ จัดทำขึ้น เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับสภาวิชาชีพวิศวกร เป็นต้น เพื่อกำหนดความชัดเจนของรายวิชา เพื่อให้ได้หลักสูตรที่มีคุณภาพ และตรงความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง รวมถึงการนำทรัพยากรและองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นอาจารย์และนักศึกษาออกไปทำงานร่วมกับผู้ประกอบการข้างนอก เพื่อร่วมกันเปลี่ยนผู้ประกอบการทั้งภาคอุตสาหกรรม บริการ และการเกษตรให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการต่อยอดธุรกิจที่มีในอนาคต
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมีความต้องการ ที่จะปั้นนักศึกษาของเราทั้งในระดับที่ต่ำกว่าปริญญาตรีและสูงกว่าปริญญาตรี บุคลากรของมหาวิทยาลัย ทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนให้มีโอกาสผันตัวเองไปเป็นสตาร์ทอัพ ภายใต้กระบวนการ Incubatorการค้นหาและพัฒนา และ Accelerator การส่งเสริมธุรกิจเพื่อเร่งการเติบโตและเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นของมหาวิทยาลัย เพื่อที่วันหนึ่งจะได้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศโตมากขึ้น
“สิ่งที่อยากจะฝากไปยังนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และสถานประกอบการ ก็คือ ยุคนี้ถือเป็นยุคทองของนักศึกษาทั้งในระบบ และกลุ่มบุคลากรที่อยู่นอกระบบการศึกษา โดยเฉพาะในภาคแรงงาน สามารถเข้ามาใช้บริการภายในมหาวิทยาลัยได้ เพราะมหาวิทยาลัยเปิดแบบ 360 องศา ให้ทุกคนสามารถเข้ามาเพื่อรับบริการด้านการศึกษาได้ตลอด มหาวิทยาลัยจะทำตัวเป็น Service Platform เพื่อให้บริการไม่ทั้งด้านงานวิจัย งานด้านการบริการวิชาการ การบริการ ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ
สตาร์ทอัพ ส่งเสริมให้คนได้ทำอาชีพ หรือธุรกิจใหม่ๆ ขณะเดียวกัน มทร.ล้านนา จะส่งเสริมให้นักศึกษา อาจารย์ และผู้ประกอบการจากข้างนอกสามารถเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นของตัวเองได้” ดร.อุเทน กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี