เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2567 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำทีม สพฐ. ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรฯ โดยนำนโยบายสู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ร่วมกับสถานีแก้หนี้ครู สพฐ. ภาคเหนือ ร่วมกับ ดร.กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ดร.ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย และผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี ร่วมพบปะหารือแนวทางการเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาภาคเหนือที่ลงทะเบียนเข้ารับการแก้ไขหนี้สินกับ สพฐ. โดยมีข้าราชการและบุคลากรฯในพื้นที่กว่า 800 คน พร้อมด้วยผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ ผู้จัดการธนาคารกรุงไทย สาขาแพร่ ผู้จัดการธนาคารออมสินสาขาแพร่ ผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือ เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ โรงเรียนนารีรัตน์ จังหวัดแพร่ พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ Facebook live : ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา สพฐ. ไปยังผู้ชมที่สนใจทั่วประเทศอีกด้วย
นางเกศทิพย์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เร่งขับเคลื่อนนโยบายการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรของ สพฐ. ทั้งบุคลากรที่อยู่ในระบบราชการและข้าราชการบำนาญ เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด
“จากการลงพื้นที่ภาคเหนือครั้งนี้ได้เห็นความเดือดร้อนและความต้องการของบุคลากรเราในพื้นที่หลายเรื่องที่ต้องการได้รับการแก้ไข เช่น การถูกฟ้องร้องบังคับคดี การเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินร้อยละ 6 ของธนาคารพาณิชย์ การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การรวมหนี้สิน การปรับโครงสร้างหนี้ การเจรจาต่อรองลดดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่ออเนกประสงค์สำหรับผู้รับบำนาญ บำเหน็จรายเดือน และผู้รับบำเหน็จพิเศษรายเดือน เป็นต้น ซึ่งปัญหาความต้องการเหล่านี้จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ส่วนไหนเป็นอำนาจหน้าที่ของ สพฐ. จะสั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการแก้ไขทันที ส่วนเรื่องไหนที่นอกเหนืออำนาจ สพฐ. ต้องใช้หน่วยงานภายนอกเข้ามาช่วยตามอำนาจหน้าที่ต่อไปโดยเร็ว ซึ่ง ดร.กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และ ดร.ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ในนามคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยของรัฐบาล จะร่วมนำประเด็นดังกล่าวไปหารือแนวทางแก้ไขทั้งในระดับรัฐบาล และการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
นางเกศทิพย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการลงพื้นที่สัญจรภาคเหนือที่จังหวัดแพร่ครั้งนี้ ยังเห็นความเข้มแข็งของเครือข่ายสหกรณ์ออมทรัพย์หลายแห่งที่ได้เริ่มดำเนินการ เริ่มพยายามลดอัตราดอกเบี้ยลงมาที่ร้อยละ 4.75 มีการส่งเสริมสร้างรายได้ให้กับสมาชิกสหกรณ์ เพื่อเพิ่มรายได้ด้วยการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ เช่น เสื้อหม้อห้อม เข่ง กาแฟ เครื่องจักสาน เป็นต้น ซึ่งเป็นต้นแบบที่ดีของการแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งระบบ สิ่งสำคัญที่ ทีมแก้หนี้ สพฐ. จะต้องเร่งขับเคลื่อนเพิ่มเติมคือรวบรวมปัญหาข้อเสนอขอความช่วยเหลือของลูกหนี้ไปวิเคราะห์จัดกลุ่ม และกำชับติดตามการหักเงินเดือนที่เหลือไม่ถึงร้อยละ 30 ให้หมดไปโดยเร็ว รวมทั้งสนับสนุนแนวทางการใช้มาตรการกลางในการแก้ไขหนี้ของรัฐบาลและกรมส่งเสริมสหกรณ์ ดอกเบี้ย 3% ขยายระยะเวลาไปถึง 80 ปี หลังจากอายุ 80 ปี จ่ายคืนเฉพาะส่วนเงินต้น นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างความสำเร็จของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี ในการลดดอกเบี้ยเงินกู้เหลือร้อยละ 4.75 ปรับดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 2.60 ซึ่งยังมากกว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์ธนาคารพาณิชย์ สามารถสร้างความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสมาชิกสหกรณ์ได้เป็นอย่างดี
นางเกศทิพย์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีครูและบุคลากรทางการศึกษาลงทะเบียนสมัครใจเข้าร่วมโครงการแก้ปัญหาหนี้ 7,820 คน ในระบบแก้หนี้ออนไลน์ สพฐ. และมี สพท. ที่สามารถแก้ไขปัญหาสำเร็จอย่างน้อย 1 รายแล้ว 131 แห่ง ซึ่งประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่ม 1 คือ กลุ่มที่ถูกฟ้องดำเนินคดี สพท. สามารถไกล่เกลี่ยเพื่อชะลอการฟ้องร้องก่อนการดำเนินคดีหรือไกล่เกลี่ยระหว่างการพิจารณาคดีหรือไกล่เกลี่ยชะลอการฟ้องล้มละลายหรือประสานงานช่วยเหลือในชั้นบังคับคดีหรือไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้กับครูและผู้ค้ำประกัน และกลุ่ม 2 คือ กลุ่มสีแดงที่ไม่ถูกฟ้อง สพท. สามารถทำให้มีสภาพทางการเงินดีขึ้นหรือมีเงินเดือนเหลือมากกว่าร้อยละ 30 รวมทั้งสิ้น 740 คน คิดเป็นมูลหนี้กว่า 2,220 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2567)
"จึงขอขอบคุณ ดร.กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ดร.ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ภาคเหนือ ผู้จัดการธนาคารกรุงไทย สาขาแพร่ ผู้จัดการธนาคารออมสินสาขาแพร่ ผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือ และทีมสถานีแก้หนี้ สพฐ. ทุกภาคส่วนที่ร่วมกันดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้อย่างเข้มแข็ง เพื่อให้ครูและบุคลากรมีความรู้และทักษะด้านการเงิน สามารถป้องกันและแก้ปัญหาด้านการเงินด้วยตนเองอย่างยั่งยืน สามารถเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย มีอาชีพเสริม และดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างดีมีประสิทธิภาพสูงตามแนวทาง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม" รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี