เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2567 นายนำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เขียนบทความ “ความผิดพลาดใหญ่ในการสอนวิทยาศาสตร์ในไทย” เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก “Namchai Chewawiwat” เนื้อหาดังนี้
#ความผิดพลาดใหญ่ในการสอนวิทยาศาสตร์ในไทย
วิทยาศาสตร์แบ่งคร่าวๆ ได้เป็น “กระบวนการวิทยาศาสตร์ (scientific method)” และ “ความรู้ที่ได้จากกระบวนการวิทยาศาสตร์ (scientific knowledge)”
ความผิดพลาดใหญ่ที่สุดในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในไทยคือ ให้ความสำคัญกับตัวความรู้ทางวิทยาศาสตร์ “มากเกินไป” แต่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้กระบวนการวิทยาศาสตร์ “น้อยเกินไป”
ผลลัพธ์ก็คือ (1) ไม่สนุกกับการเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะต้องท่องจำมากเกินไป และจำได้น้อยเกินไป เพราะไปมัวจดจำเรื่องจุกจิกที่ไม่ใช่แก่นสาร ซึ่งลืมง่ายมาก สุดท้าย พาลจะรู้สึกว่าอะไรที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ยากไปหมด และเกลียดอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์
(2) ไม่สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับเรื่องต่างๆ รอบตัวได้ เพราะไม่เข้าใจ “แก่นของเรื่อง” และ (3) ทำให้คนไทยไม่ฉุกคิดกับเรื่องต่างๆ จึงโดนหลอกได้ง่าย โดยเฉพาะที่ “อ้างว่า” เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะแยกแยะอะไรไม่ได้ จึงเชื่อแบบตะบี้ตะบันไป
เรื่องที่แชร์ในกลุ่มไลน์ยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะแม้แต่ในกลุ่มที่เรียนจบวิทยาศาสตร์ ก็ยังแชร์อะไรที่ไม่น่าเชื่อ เป็นไปไม่ได้ ไม่มีมูลหรือข้อสนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์เพียงพอ
เรื่องพวกนี้ หากต้องการแก้ไข ต้องทำหลายสิ่งหลายอย่างที่ขัดกับ “สามัญสำนึก” หรือวิธีการสอนวิทยาศาสตร์ที่ทำต่อๆ กันมา
เรื่องแรกสุดที่ทำได้คือ เปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนให้มี “ความเป็นธรรมชาติ” มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา กล่าวคือในต้นชั่วโมงต้องเปิดมาด้วยการทดลองก่อนเป็นเบื้องต้น ฝึกการสังเกตและตั้งคำถามซ้ำๆ จนติดเป็นนิสัย ต้องให้เวลาส่วนนี้มากๆ
จากนั้นก็ตามด้วย การทดสอบข้อสงสัย ข้อสังเกต สมมุติฐานที่เด็กๆ ตั้งขึ้น ซี่งในขั้นตอนนี้อาจมีการทดลองเพิ่มเติมอีกหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสม แล้วจึงตามมาด้วยการให้เด็กๆ พยายามสรุปสิ่งที่เรียนมาทั้งชั่วโมง เพื่อเป็นความรู้ ความเข้าใจ และนำมาใช้งานต่อในอนาคต
มีแต่การทำแบบนี้ จึงจะทำให้เด็กๆ เกิดความสงสัยติดเป็นนิสัย กลายเป็นคนอยากรู้อยากเห็น และรู้วิธีการหาคำตอบ อย่างเป็นขั้นตอน
วิธีการแบบนี้สวนทางกับการสอนในปัจจุบันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษา ในบางโรงเรียนอาจจะแทบไม่มีการทดลองเลย จึงทำให้เด็กๆ ติดนิสัยท่องจำสิ่งที่หนังสือหรือครูอาจารย์บอก วิธีการเรียนแบบนี้มีความเป็นไสยศาสตร์หรือศาสนามาก คือคำสอนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผิดพลาดไม่ได้
ขัดกับหลักการสำคัญทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นหัวใจคือ การพยายามเข้าใกล้ “สัจธรรม” ของโลกและจักรวาล ผ่านการสังเกต ทดลอง สรุปผลการทดลอง และทำซ้ำๆ เพื่อตรวจสอบว่า สิ่งที่รู้แล้ว สรุปมาแล้ว เป็นจริงแค่ไหน แล้วอะไรที่ไม่ถูกต้อง ก็ค่อยๆ แก้ไขไป เป็นการเดินเปะปะซ้ายขวา แต่มีวิธีตรวจสอบการเดินเบี้ยวของตัวเอง เพื่อให้เดินตรงเส้นทางมากที่สุด ซึ่งวิธีการแบบนี้ไม่มีในระบบแบบอื่น ไม่ว่าจะปรัชญา ลัทธิ หรือศาสนา
เป็น self-correction และเป็นจุดแข็งที่สุดของวิทยาศาสตร์
ความรู้วิทยาศาสตร์ใหม่จึงต้องสอดคล้องกับความรู้วิทยาศาสตร์ที่มีอยู่เดิม เป็นเนื้อเดียวกัน หากมีส่วนที่ไม่เข้ากัน ก็เป็นเพราะมีอะไรบางอย่างผิด ก็แก้ไขความเข้าใจผิดนั้นๆ ไป
ทำแบบนี้ เด็กๆ ก็จะติดนิสัย เคยชินกับการใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ในชีวิต แทนที่จะยึดติดและจมอยู่กับ “ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์” ที่อาจจะผิดได้ มีแต่ทำแบบนี้จึงจะได้คนรุ่นใหม่ด้านวิทยาศาสตร์ที่มาช่วยชาติได้
หากทำดังนี้ เราก็จะสามารถ “ลด” เนื้อหาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์มากมายมหาศาล (และมีแต่มากมายขึ้นเรื่อยๆ) ให้ลดน้อยลง เหลือเท่าที่จำเป็น เพราะคนที่จำเป็นต้องเรียนมากมายจริงๆ ก็มีแต่คนที่จะทำงานในสายงานด้านวิทยาศาสตร์ (นักวิทยาศาสตร์, วิศวกร, เภสัชกร, แพทย์ ฯลฯ) ต่อไปเท่านั้น
แต่คนทั่วไปหาได้มีความจำเป็น ต้องจดจำอะไรมากมาย เพื่อที่จะ “ลืมในทันทีที่สอบเสร็จ” เลย
หากทำแบบนี้ได้ เด็กๆ ก็จะมีความสุขกับการเรียน ได้เรียนเนื้อหาพอสมควร แต่เข้าไปเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นเลือดในตัว จดจำได้ไปนานๆ หรือแม้แต่จำได้จนตาย ถึง “หลักการ” และความเป็นวิทยาศาสตร์
แต่การเปลี่ยนแปลงให้คนในวงการศึกษาเข้าใจและเห็นด้วยกับข้อเท็จจริงนี้ น่าจะไม่ง่ายเลย
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี