ย้อนไปเมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. 2566 ทีมงาน “นสพ.แนวหน้า” ได้นำเสนอบทสัมภาษณ์ ประมุข เจิดพงศาธร ประธานบริษัท PJUS GROUP, USA นักธุรกิจชาวไทย
ผู้จัดหาสินค้าไทยส่งให้กับห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับการนำ “ข้าวหอมมะลิ” หนึ่งในสินค้าขึ้นชื่อของประเทศไทยเข้าไปเจาะตลาดสหรัฐฯ (เปิดวิสัยทัศน์ “ประมุข เจิดพงศาธร” มองเศรษฐกิจ “สหรัฐอเมริกา” และโอกาสของ “ข้าวหอมมะลิไทย” : หน้า 17 นสพ.แนวหน้า ฉบับวันจันทร์ที่ 13 มี.ค. 2566)
ซึ่งล่าสุด ในวันที่ 24 มิ.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณประมุขอีกครั้ง ในช่วงที่ท่านเดินทางกลับมาประเทศไทย เพื่อสอบถามความคืบหน้าทั้งเรื่องข้าวหอมมะลิ รวมถึงโอกาสของสินค้าเกษตรของไทยอย่าง “ผลไม้อบแห้ง” ที่ทาง PJUS GROUP เริ่มนำเข้าไปเจาะตลาดเพิ่มเติม ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและคำแนะนำถึงประชาชนชาวไทย
- จากครั้งที่แล้ว ท่านพูดถึงการนำข้าวหอมมะลิไทยไปเจาะตลาดสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง? : ข้าวหอมมะลิซึ่งเป็นสัญลักษณ์โดดเด่นของประเทศไทย คือข้าวที่มีโลโก้รับรองโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศอ้างว่าสามารถผลิตข้าวหอมมะลิได้คุณภาพดี เช่น กัมพูชา เวียดนาม หรือแม้แต่ เมียนมา เอง หรือแม้แต่ในอเมริกาซึ่งปลูกข้าวเดิมชื่อ แจสแมน ตอนหลังก็มาใช้ จัสมิน ก็เขียนว่าเป็นข้าวหอมมะลิ ประชาชนก็อาจจะสับสน
ฉะนั้นในหน้าที่ของผม ก็มีหน้าที่ที่จะพยายามอธิบายให้กับทางกลุ่มลูกค้า ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่ผมทำอยู่จะเป็นตลาดอเมริกันพรีเมียม ซึ่งเป็นตลาดบนและต้องการสินค้าคุณภาพดีกลุ่มตลาดฮิสปานิก แล้วผมมีพรรคพวกที่เป็นเจ้าของห้างและผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของห้าง นโยบายนี้ผมทำมาร่วม 12 ปีแล้วคือสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการค้าแบบแน่นแฟ้นโดยเน้นหลักของการโชว์ผลงาน เพราะห้างเหล่านี้เราไม่สามารถบรรจุเข้าห้างได้อย่างง่ายๆ แต่ในขณะเดียวกัน หลังจากผมไปโปรโมทแล้ว ในเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็สร้างความเข้าใจให้กับห้างมากมาย
ทุกครั้งที่ไปโปรโมทจะส่งตัวอย่างไปให้เขาได้ทดลอง แล้วก็อธิบายให้เขาทราบด้วยว่าข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดี ถ้าหากเป็นข้าวที่ออกในฤดูใหม่จะมีกลิ่นหอม แล้วจะมีรสชาตินุ่มนวล ในขณะเดียวกันก็จะมี Texture (ผิวสัมผัส) เวลาทานเข้าไปแล้วจะรู้ความแตกต่างทันที หลังจากขยายไปเรื่อยๆ ก็เป็นที่น่ายินดีว่าเขาเข้าใจมากขึ้นตลอดเวลา ของเราโตที่แคลิฟอร์เนีย แต่มาโตอย่างรุนแรงที่เท็กซัส แล้วขยายไปทางฝั่งนิวยอร์กซึ่งเป็นฝั่งตะวันออก
“เท็กซัสเป็นจุดหนึ่งที่เราสร้างจุดขายขึ้นมา ก็คือเราสามารถแก้ปัญหาเรื่องมอด เท็กซัสนี่ภูมิอากาศจะคล้ายๆ ประเทศไทย ก็คือร้อนชื้น แล้วเมื่อมีอากาศที่ร้อนชื้นก็จะสามารถให้เกิดมอดได้ง่าย แล้วก็ในอดีต ตอนที่มีปัญหาเรื่องเรือเมื่อ2 ปีก่อน คลังสินค้าหรือท่าเรือมีเรือไปออกันเต็มไปหมดแล้วไม่สามารถเอาสินค้าลงจากเรือได้ ก็เกิดวิกฤตอย่างมากมาย ทำให้ค่าขนส่งขึ้นไปสูงเป็นประวัติการณ์ ในขณะเดียวกัน การส่งออกข้าวจากประเทศไทย ช่วงนั้นก็มีกฎหมายว่าจะต้องอบยา เป็นกฎของกระทรวงพาณิชย์
ซึ่งการอบยามันมีระยะเวลาได้แค่ 1 เดือน แล้วปกติการเดินทางของเรือไปก็ 1 เดือนพอดี ซึ่งปัญหาก็ไม่มีอะไร แต่จากเหตุการณ์ที่เรือใช้เวลาเดินทางนานขึ้นแล้วก็ไปติดอยู่ที่ท่าเรือ อาจจะเป็น 3 เดือน ยามันหมดฤทธิ์ไปแล้วมอดมันก็เกิดขึ้นมาอีก สิ่งเหล่านี้ทำให้เราแก้ปัญหา ข้าวของผม แบรนด์ Queen Elephant ทำไมถึงได้โตอย่างรวดเร็ว เพราะจุดขายของเรา เราใช้ไนโตรเจนเฟิล เหมือนพวก Snack (ขนมขบเคี้ยว) ซึ่งจะมีอากาศอยู่ข้างใน จะไม่มีรูเมื่อเป็นเช่นนี้มอดก็ไม่สามารถเข้าไปได้ เมื่อเราแก้ตรงนี้ได้ อัตราการโตของแบรนด์ Queen Elephant จึงรวดเร็ว”
ที่รัฐเท็กซัสเอง ถ้าเฉพาะในกลุ่มบริษัทที่ผมร่วมมือด้วย ซึ่งมีทีมตลาดอยู่ 10-20 กว่าคน โตถึง 360% นี่คือแบรนด์ข้าว Queen Elephant ในรัฐเท็กซัส แต่ถ้ารวมกับห้างดังอื่นๆ ด้วย เราโตถึง 600% ขึ้นมาเคียงบ่าเคียงไหล่กับแบรนด์ดังๆ ขึ้นมาอยู่อันดับ 4 อันดับ 5 แล้ว เป้าหมายต่อไปของเรา ภายใน 2 ปีจะขึ้นไปอยู่ถึงอันดับ 2 เนื่องจากขณะนี้ทางบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เราร่วมมือด้วย เป็นผู้ผลักดันให้สินค้าแบรนด์ของเราโตข้ามไปถึงมลรัฐฝั่งตะวันออก คือนิวยอร์กและคอนเนตทิคัต
คือการทำสินค้าของผม จะมีคลังสินค้าที่เป็น American Public Warehouse เราเช่าอยู่ 5 แห่งด้วยกัน ที่ลอสแองเจลิส (รัฐแคลิฟอร์เนีย) 1 จุดที่โอ๊คแลนด์ (รัฐแคลิฟอร์เนีย) 1 จุด ที่ฮิวส์ตัน(รัฐเท็กซัส) 1 จุด ที่ไมอามี (รัฐฟลอริดา) 1 จุด และที่ (รัฐ) นิวเจอร์ซีย์ 1 จุด นี่คือเป้าหมายของเรา แล้วก็การโปรโมทข้าวตั้งแต่ปีที่แล้ว (2566) เราทำไม่หยุด คืออุปสรรคการค้าเวลานี้มีมากมาย เริ่มต้นตั้งแต่สมัยเกิดโควิด แล้วก็ต่อเนื่องมา ซึ่งธุรกิจในอเมริกากับประเทศไทยจะต่างกัน ทางโน้นอยู่ไม่ได้ก็ล้มไป
- สถานการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐฯ วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง? แล้วธุรกิจของท่านปรับตัวหรือรับมืออย่างไร? :จะสังเกตเห็นได้ว่าธุรกิจเนื่องจากบอบช้ำมาจากการที่มีปัญหามากมาย ไม่สามารถจะคาดคะเนได้เลยว่าปัญหามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะเป็นอัตราแลกเปลี่ยน จะเป็นราคาน้ำมัน อยู่ดีๆ สงครามมีการยิงจรวดไปโดน เรือไม่กล้าวิ่ง ทำให้ค่าระวางเรือขึ้นไปมหาศาล เหล่านี้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง เพราะว่าโรงงานกว่าจะผลิตสินค้าได้ชิ้นหนึ่งต้องใช้แรงงานมหาศาล โดยเฉพาะข้าวหรือสินค้าที่เป็น Commodity (โภคภัณฑ์) หลายๆ ชนิด
“จุดโดดเด่นของบริษัทผมก็คือเนื่องจากผมมีพรรคพวกมาก แล้วพวกห้างเขาอยากจะทำแบรนด์ของเขาก็ไม่มีปัญหา ผมก็ทำให้ เพราะเป็นนโยบายอันหนึ่งที่ได้รับมาจากตอนที่เซ็น MOU เมื่อต้นปี (2567) เมื่อเดือนมกราคม กับท่านรองนายกฯ ภูมิธรรม (ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์) แล้วก็ตอนเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว (2566) ผมมีการโปรโมทสินค้าข้าวหอมมะลินี่แหละ กับท่านนภินทร (นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์) ที่ช่วงประชุมเอเปก
มีการตัดริบบิ้นเปิดตัว พยายามโปรโมทโดยเอาโลโก้หอมมะลิไปติดไว้ ผมทำมาทั้งหมดประมาณ 400 กว่าห้างด้วยกัน ที่ติดโลโก้นั้นตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ ตอนที่ผมเข้ามาเยี่ยมท่านนภินทรที่กระทรวงพาณิชย์ ได้รับเกียรติเชิญไปทานอาหารกลางวัน ช่วงนั้นผลไม้ประเทศไทยกำลังออกเยอะ ท่านก็เกริ่นไว้ว่าควรจะนำผลไม้
จากประเทศไทยไปขยายที่อเมริกา ก็จังหวะนั้นเอง จากศูนย์เลยนะ มันก็ต้องมีดวงอยู่ด้วย พรรคพวกเก่าผมก็เข้ามาถามว่าทำผลไม้อบแห้งได้หรือเปล่า? ผมก็โอเค! ทำได้ ขณะเดียวกันก็เอาไปนำเสนอกับห้างพรรคพวก”
คราวนี้แบรนด์ข้าว Queen Elephant ของผมมันดังแล้ว เขาก็บอกใช้แบรนด์นี้เลย ไปต่อยอดเป็นผลไม้อบแห้ง 8-9 ชนิดด้วยกัน ซึ่งผมก็ทำให้เกิดขึ้นมาในพริบตาเดียว ก็ต้องเอาไปบรรจุให้ห้างอย่างรวดเร็ว ประจวบเหมาะกับปีนี้ภาวะเดือดร้อนเรื่องเรือเกิดขึ้นอีกแล้ว ค่าระวางเรือจากที่เคยขึ้นไปถึง 15,000-20,000 (เหรียญสหรัฐ) ต่อตู้ แล้วก็ลดลงมาปกติที่ 1,200-1,500 ต่อตู้ ตอนนี้ก็วิ่งขึ้นมา 6,000-7,000 อีกแล้ว อันนี้เป็นอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ หากคนที่ไม่มีชั่วโมงบิน ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีการวางแผนที่ดีบริหารจัดการนำสินค้าไปกักเก็บไว้ในอเมริกา รับรองทีเดียวเรียบร้อย
- จำได้ว่าสัมภาษณ์ท่านครั้งก่อน ท่านก็พูดเรื่องปัญหาค่าระวางเรือขึ้นๆ ลงๆ เหมือนกัน แสดงว่าค่าใช้จ่ายด้านนี้ผันผวนมาก? : ใช่! ตอนนี้กำลังจะวิ่งไปหา 10,000 แล้ว และผมพูดไว้ตั้งหลายเดือนแล้วนะ ของเราเตรียมการไว้ดีเพราะในเมื่อสินค้าเราแบรนด์มีชื่อเสียงแล้วเราไม่ต้องคิดมาก ถึงแม้ค่าระวางเรือขึ้นหรือไม่ขึ้น เราก็ต้องเตรียมวัตถุดิบ แล้วก็ประสานกับทางฝ่ายโรงงาน เราก็มีโรงงานของเราอยู่ในประเทศไทยด้วย ขณะเดียวกัน เราก็พยายามเตรียมการเหล่านั้นไว้
“ซึ่งพอมาถึงช่วงนี้ก็ครึ่งปีแล้ว เรือขึ้นผมไม่ได้เดือดร้อนเพราะของส่วนใหญ่ผมไปแล้ว ตอนนี้ถ้าเกิดผมจะต้องจ่ายค่าเรือขึ้น ผมก็นำเอาที่แพงๆ ไปเฉลี่ยกับพวกที่มันไปแล้ว”
(โปรดอ่านต่อหน้า 17 ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 27 มิ.ย. 2567)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี