ย้อนไปเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2567 หรือ 6 วันก่อนถึงวันเลือก สว. รอบสุดท้ายระดับประเทศ มีการบรรยายเรื่อง “ความคาดหวังกับความเป็นจริง :การเมืองของการออกแบบวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560” อันเป็นส่วนหนึ่งของงาน “Direk Talk : มองโลก มองไทย มองไปข้างหน้า” จัดโดยศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากร
อาจารย์ปุรวิชญ์ เริ่มต้นจากการเล่าย้อนไปในเดือนมี.ค. 2567 การเลือก สว. ชุดใหม่ เริ่มถูกพูดถึง ซึ่งตนก็มีโอกาสไปร่วมหลากหลายวงเสวนา แต่ทุกวงจะมีคำถามเหมือนกันคือ “ทำไมต้อง 20 กลุ่ม?”, “ทำไมต้องเลือกไขว้?”, “ทำไมต้องเลือกกันเอง”เป็นต้น ซึ่งก่อนหน้านั้น ตนทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเมืองการเปลี่ยนแปลงในเชิงสถาบันของวุฒิสภาในประเทศไทย” ศึกษาตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 จนมาถึงช่วงที่ สว. ชุดบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เลือก เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ตนมีโอกาสได้อ่านเอกสาร “บันทึกของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในเรื่องที่เกี่ยวกับการออกแบบวุฒิสภา” ซึ่งก็พบว่า “เรื่องนี้ซับซ้อนกว่าที่คิด” เพราะไม่ใช่แค่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกแบบระบบการเลือกตามรัฐธรรมนูญแล้วนำมาออกเป็น พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 แต่ระหว่างทางนั้นมีเรื่องของ “การเมือง” แทรกอยู่หลายจังหวะ
โดยหลักฐานสามารถพบเห็นหรือสืบค้นได้คือ “ความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560” เป็นชื่อเอกสารที่เผยแพร่อยู่ในฐานข้อมูลของรัฐสภา เนื้อหาเป็นการรวบรวมความคิดเห็นของ กรธ. ซึ่งมีข้อความ เช่น ที่มาของ สว. ไม่ได้คิดอย่างหลักลอยมีหลักคิดจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว,สว. แต่เดิมคือแนวคิดเรื่องพี่เลี้ยง แต่เราไม่ต้องการพี่เลี้ยงอีกแล้ว แต่ต้องการให้เป็นสภาเติมเต็ม, แต่จะให้ สว. ปลอดการเมืองก็เป็นไปไม่ได้ เพราะหากไม่ศิโรราบกับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองในพื้นที่ก็ยากที่จะได้เป็น สว.,
ทำไมเราไม่เปลี่ยน สว. เป็นสภาที่รับรู้ความเดือดร้อนของประชาชน ให้ได้คนทุกสาขาอาชีพมามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง, นี่จะเป็นวุฒิสภาที่มาจากประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกอาชีพ ทุกลักษณะ, เรื่องนี้ไม่ได้คิดเองแต่เอามาจากสภาสูงของอังกฤษ, เราแบ่ง 20 กลุ่ม ก็ไม่ได้คิดอย่างหลักลอย แต่พยายามคิดเรื่องกลุ่มอาชีพต่างๆ ให้ครอบคลุม คำนึงถึงกลุ่มต่างๆ ที่ควรจะมี เป็นต้น
“ทำไมต้องเลือกกันเอง? ทำไมต้องแบ่งกลุ่มอาชีพ? ผมคิดว่าคำตอบที่ตอบได้ชัดเจนที่สุด ข้อแรกเลยคือไปดูในบันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 29 วันที่ 16 พ.ย. 2558 คือเห็นได้ชัดเจนว่า ปฏิเสธแนวคิดที่จะให้สว. มาจากการเลือกตั้ง เพราะว่าถ้าเลือกตั้งเดี๋ยวต้องไปยอมศิโรราบกับพรรคการเมือง-นักการเมือง ก็เลยไปคิดค้นวิธีจะไม่ให้เลือกตั้งทางตรง แต่เดิมเราเคยมีเลือกตั้งทางตรง พอปี 2550 มีเลือกตั้งทางตรง+สรรหา ก็ปรากฏว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องของความชอบธรรม ก็กลายเป็นปลา 2 น้ำ
ชุดของคุณมีชัย (มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ฉบับ 2560) ก็เลยคิดเสาะแสวงหาวิธีการอื่นนอกเหนือจากเลือกตั้งทางตรงและสรรหา ก็ให้อนุกรรมการไปเสนอมาว่าจะทำอย่างไรก็มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมา ก็ยังเรื่องของการให้อำนาจในการให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งองค์กรอิสระ ต้นร่างการเลือกกันเองเริ่มมีเค้าลางตรงนี้ คือมีกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอความเห็นว่า การได้มาซึ่ง สว. ทำไมเราไม่เอารูปแบบการได้มาซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550” อาจารย์ปุรวิชญ์กล่าว
อาจารย์ปุรวิชญ์ ขยายความในส่วนนี้ว่า ก่อนจะมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ย้อนไปหลังรัฐประหารปี 2549 และมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ซึ่งเป็นคณะรัฐประหารในเวลานั้นได้ตั้งสมัชชาแห่งชาติจำนวน 1,982 คนโดยให้คนเหล่านี้ไปเลือกกันเองให้เหลือ 200 คน จากนั้น คมช. ก็จะเลือกให้เหลือ100 คน มาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ซึ่งในการหารือเรื่องที่มา สว.ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ก็มีผู้เสนอว่า หากจะใช้วิธีเดียวกับสมัชชาแห่งชาติก็น่าจะให้ยึดโยงกับกลุ่มอาชีพด้วย
ต่อมาในการประชุม กรธ. ครั้งที่ 31มีการนำเสนอ 3 แนวทาง 1.ให้กลุ่มอาชีพเลือกกันเองในกลุ่ม 2.ให้กลุ่มอาชีพคัดเลือกในกลุ่มก่อนแล้วมีกรรมการสรรหาทำหน้าที่คัดกรองอีกชั้นหนึ่ง และ 3.เลือกกันเองภายในกลุ่มแล้วนำรายชื่อที่ถูกเลือกนั้นมาให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกอีกครั้ง ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่มี กรธ. พูดในที่ประชุมว่า ในเมื่อจะให้มีการเลือกตามกลุ่มอาชีพ ก็ควรมีกลุ่มอาชีพที่หลากหลาย
กับคำถามที่ว่าทำไมต้อง 20 กลุ่ม?หากไปดูแนวคิดของ กรธ. จะพบว่าต้องการให้มี สว. จำนวน 200 คน โดยมองว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสม และให้แบ่งเป็น 20 ด้าน หรือก็คือคิดง่ายๆ ว่า20 กลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มละ 10 คน รวมกันก็ได้ 200 คนพอดี อย่างไรก็ตาม เริ่มมีเสียงทักท้วงในที่ประชุม กรธ. แล้วว่า หากใช้วิธีเลือกกันเองในกลุ่มก็อาจเกิดปัญหา โดยอ้างถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับบางหน่วยงานที่นำวิธีนี้ไปใช้
จากในการประชุม กรธ. ครั้งที่ 32วันที่ 19 พ.ย. 2558 พบการเริ่มแบ่งกลุ่มเบื้องต้นไปแล้ว 11 กลุ่ม จากนั้นเพิ่มมาอีก 4 กลุ่ม เป็น 15 กลุ่ม ยังขาดอีก 5 กลุ่ม กระทั่งในการประชุม กรธ.ครั้งที่ 36 วันที่ 2 ธ.ค. 2558 คราวนี้ทำมาให้ครบ 20 กลุ่ม โดยระบุว่า การจัดกลุ่มครั้งนี้ได้คำนึงถึงวิถีชีวิตหรือการดำรงชีวิตที่เหมือนกันของบุคคลในแต่ละกลุ่มด้วย แต่ก็มีเสียงทักท้วงอีกว่าที่จัดมานั้นเน้นไปที่องค์กร ซึ่งควรเน้นไปที่กลุ่มบุคคลเพิ่มเติม เช่น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มองค์กรชุมชน แต่โดยสรุปคือ “อย่างไรก็ต้อง 20 กลุ่ม” ส่วนเรื่องรายละเอียดค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง
“ทีนี้มันก็มีความคิดเห็น ตอนแรกเขาจะให้ สว. เป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพ จะไม่ยึดโยงกับพื้นที่ ทางฝ่ายเลขานุการกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็เสนอมาว่า ควรจะให้มีการยึดโยงกับพื้นที่ไหม? ก็มีการถกเถียงกัน ซึ่งต่อมามันจะกลายเป็นตอนที่เรากำลังเลือกกันอยู่นี้ กลุ่มอาชีพไปสมัครในจังหวัดที่ทำงาน จังหวัดที่เกิด จังหวัดที่เรียนได้ อะไรแบบนี้ ตอนแรกมันยังไม่มีความคิดเรื่องพวกนี้อยู่” อาจารย์ปุรวิชญ์ ระบุ
ยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ในการประชุม กรธ. ครั้งที่ 41 วันที่ 2 ธ.ค.2558 ในที่ประชุมมีข้อเสนอว่าควรลดจาก 20 กลุ่ม มี สว. กลุ่มละ 10 คน ลงมาให้เหลือ 10 กลุ่ม โดยมี สว. กลุ่มละ 20 คน แต่สุดท้าย ในการประชุม กรธ. ครั้งที่ 43 วันที่ 9 ธ.ค. 2558 ก็ตกลงจะแบ่ง 20 กลุ่ม มี สว. กลุ่มละ 10 คน และครั้งนี้เริ่มพูดถึง “การเลือกไขว้” โดยให้เหตุผลว่า “การเลือกไขว้เป็นมาตรการป้องกันการสมยอม” หรือพูดง่ายๆ คือ “ไม่ให้มีการฮั้ว” ด้วยเชื่อว่าการเลือกไขว้จะทำให้การบล็อกโหวตทำได้ยากขึ้น
อาจารย์ปุรวิชญ์ กล่าวต่อไปว่า จากเอกสารข้างต้นที่สืบค้นมา สัมผัสได้ถึงความรู้สึก (Sense) ของ กรธ. ฉบับ 2560 ว่า ไม่อยากให้ใช้วิธีเลือกตั้ง สว. โดยตรง โดยพยายามอธิบายวิธีการใหม่ที่พยายามคิดขึ้นมาว่าเป็นวิธีที่ประชาชนจะได้มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง อนึ่งในการประชุม กรธ. ครั้งที่ 49 วันที่ 22 ธ.ค. 2558 ยังมีการพูดถึงคำว่า “การเลือกกันเอง” แทนคำว่า “เลือกตั้ง”เพราะ สว. ที่จะเกิดขึ้นนี้ไม่ได้ใช้วิธีการเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกกันเอง และเรื่องของ 20 กลุ่ม จะมีกลุ่มใดบ้างก็มีการปรับแก้ไปจนถึงช่วงปี 2559 ที่มีการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ
เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 แล้วเสร็จ งานต่อไปของ กรธ. ชุดเดียวกันคือการร่างกฎหมายลูก 10 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ที่น่าสนใจคือ “ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 2 ได้เสนอให้ยุบจาก 20 กลุ่ม เหลือ 10 กลุ่ม, ยกเลิกการเลือกไขว้, ให้มีผู้สมัคร2 ประเภท คือผู้สมัครอิสระ และผู้สมัครที่องค์กรเสนอ” แต่สุดท้ายก็กลับมาใช้แบบร่างเดิมที่ กรธ. ส่งมา
ในการประชุม สนช. ครั้งที่ 68/2560 วันที่ 30 พ.ย. 2560 เพื่อพิจารณา (ร่าง) พ.ร.ป.สว. (วาระที่ 1รับหลักการ) มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ฉบับ 2560 ยืนยันแนวคิดเรื่อง สว. แบ่ง20 กลุ่ม และการเลือกไขว้ ด้วยเหตุผลด้านความหลากหลายของผู้ที่จะเข้ามาเป็น สว. และป้องกันการสมยอม แต่ในวันดังกล่าว ก็มี สนช. บางท่าน ให้ความเห็นที่คล้ายกับที่หลายคนตั้งข้อสังเกตในปัจจุบัน เช่น กิตติ วะสีนนท์ กล่าวว่า “ในการเลือก สว. ครั้งแรก การใช้20 กลุ่มนี้อาจยังไม่ประสบความสำเร็จ” จึงต้องมีการทดลองและแก้ไขปรับปรุงในการเลือก สว. ครั้งต่อไป
เช่นเดียวกับ กล้าณรงค์ จันทึก ที่ตั้งคำถามว่า “วิธีการเลือก สว. ที่ซับซ้อนแบบนี้จะป้องกันการทุจริตได้จริงหรือ?” แถมยังยกตัวอย่างไว้ด้วยว่า “หากจะทุจริตก็สามารถทำได้ด้วยการจัดตั้งคน 3,080 คน หรือ 770 คน ใน 5 สาย หรือส่งตัวแทนลงสมัครให้ได้สัก 39 จังหวัด เพื่อควบคุมผลการเลือก” เป็นต้น แต่ท้ายที่สุดก็ผ่านวาระแรกไปได้ ซึ่งเมื่อเข้าสู่วาระที่ 2 มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณา ก็มีความพยายามจะลดการแบ่งกลุ่ม สว. จาก 20 เหลือ 15 และ 10 กลุ่ม ตามลำดับ
อาจารย์ปุรวิชญ์ ระบุว่า กมธ.วิสามัญ ซึ่งพิจารณาร่างกฎหมายการได้มาซึ่ง สว. มีที่มาจากตัวแทน สนช. และจากตัวแทนคณะกรรมการ
ร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ฉบับ 2560 โดยทาง กรธ. ก็คัดค้านการยุบเพราะจะมีปัญหาการตรวจสอบถ่วงดุล และอ้างว่าหลักคิดเรื่อง 20 กลุ่ม มาจากฐานข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่มีการแบ่งอาชีพมากถึง 4,000 อาชีพ แต่ทาง สนช. ก็แย้งว่า ยังไม่สามารถได้ข้อมูลอ้างอิงจำนวนของแต่ละกลุ่มได้อย่างชัดเจน และเชื่อว่ามีจำนวนกลุ่มน้อยแต่คนในกลุ่มมากการทุจริตจะทำได้ยากกว่า
ในชั้นกรรมาธิการ หรือวาระที่ 2 นี้ก็ยังเห็นมุมที่แตกต่างระหว่าง กมธ.ฝั่ง สนช. กับฝั่ง กรธ. เช่น ฝั่ง สนช. ให้มีผู้สมัคร สว. 2 ประเภท คือผู้สมัครอิสระ กับผู้สมัครที่ส่งโดยองค์กร ให้เหตุผลว่า องค์กรที่เสนอชื่อมีสถานะเป็นนิติบุคคล จึงสามารถระบุตัวตนของผู้สมัครได้ (ต่างจากผู้สมัครอิสระ ที่ใครจะสมัครก็ได้โดยมีบุคคลเพียงคนเดียวรับรอง) และเสนอให้ยกเลิกการเลือกไขว้ เพราะไม่ได้ช่วยเรื่องป้องกันปัญหาบล็อกโหวต ซึ่งท้ายที่สุด ฝั่ง สนช. เป็นฝ่ายชนะ ในวาระ 2 บทสรุปคือยุบเหลือ 10 กลุ่ม มีผู้สมัคร2 ประเภท และยกเลิกการเลือกไขว้
ไม่เพียงเท่านั้น “ร่างกฎหมาย สว. ที่ผ่านวาระ 2 มาแล้ว ยังผ่านวาระ 3 ในลักษณะเดียวกันด้วย” แต่คำถามคือ “แล้วทุกอย่างกลับไปเป็นแบบที่ กรธ. ฉบับ 2560 ร่างไว้ได้อย่างไร?” ประเด็นนี้ อาจารย์ปุรวิชญ์อธิบายว่า หากไปดู “รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 267 (วรรคห้า)” ระบุว่า เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง หรือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญให้แจ้งให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งมีจํานวนสิบเอ็ดคน ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมอบหมาย ฝ่ายละห้าคน
เพื่อพิจารณาแล้วเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเพื่อให้ความเห็นชอบถ้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกินสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป ในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติไม่ถึงสองในสามดังกล่าว ให้ถือว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ความเห็นชอบตามร่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเสนอและให้ดําเนินการต่อไปตามมาตรา 81
หรือโดยสรุปคือ “ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ขั้นตอนสุดท้ายของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ก็ต้องส่งกลับมาให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา” ซึ่ง กรธ. ก็ยังยืนยันว่า ทั้งการยุบ สว. เหลือ 10 กลุ่ม การมีผู้สมัคร2 ประเภท และการยกเลิกการเลือกไขว้ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญกระทั่งท้ายที่สุด กมธ.วิสามัญฯ พิจารณาร่าง พ.ร.ป. การได้มาซึ่ง สว. ก็เปลี่ยนกลับไปเหมือนเดิมตามที่ กรธ. เสนอและผ่านความเห็นชอบในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 11/2561วันที่ 8 มี.ค. 2561
“พูดอย่างง่ายที่สุดเลย เราทำมาอย่างซับซ้อน ผมนิยามว่าการเลือก สว. ครั้งนี้ มันคือการทำให้งงอย่างจงใจ พอผมมาค้นคว้าเรื่องนี้แล้วมานำเสนอ ผมเพิ่มต่อให้ “ทำให้งงอย่างจงใจ..เดินไปเสียไกลวนกลับมาที่เดิม” หมายความว่าอย่างไร? ที่เราพูดกันมาทั้งหมดวนกลับไปสู่ร่างฉบับแรกที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คือให้มี 20 กลุ่มอาชีพ ให้มีเลือกไขว้ ให้มีผู้สมัครอิสระ” อาจารย์ปุรวิชญ์ กล่าว
ทั้งหมดนี้ที่เล่ามานี้ยังอยู่ในภาคของ “ความคาดหวัง” ในความเชื่อมั่นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ว่าระบบที่คิดขึ้นจะตอบโจทย์และอุดช่องโหว่ได้ ส่วนในภาค “ความจริง” อาจารย์ปุรวิชญ์ กล่าวว่า จะเขียนเป็นบทความเผยแพร่อีกครั้งหลังเสร็จสิ้นการเลือก สว. รอบสุดท้ายระดับประเทศซึ่งต้องย้ำอีกครั้งว่า การบรรยายนี้เกิดขึ้นในวันที่ 20 มิ.ย. 2567 หรือ 6 วันก่อนถึงวันที่ 26 มิ.ย. 2567 ที่มีการเลือก สว. รอบสุดท้ายระดับประเทศ
เวลานี้ได้ผ่านวันดังกล่าวมาจนเห็นหน้า “ว่าที่ สว. ชุดใหม่” กันแล้ว..ท่านผู้อ่านคงไม่ต้องรอบทความฉบับสมบูรณ์ของอาจารย์ปุรวิชญ์ ก็ลองพิจารณากันดูว่า “ความจริง”ที่ปรากฏ เป็นไปตามความคาดหวังในการเขียนกฎหมายหรือไม่?
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี