เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) รศ.ดร.จงจิตต์ ฤทธิรงค์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายหัวข้อ “เด็กกำพร้าจากโควิด-19 ในประเทศไทย” ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 18 "ประชากรและสังคม 2567" จัดโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยระบุว่า ตามข้อมูลที่รวบรวมจากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ในช่วงเดือน เม.ย. 2563-ก.ค. 2565 มีผู้เสึยชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ในประเทศไทย 42,194 ราย ส่วนใหญ่ ร้อยละ 74 เป็นผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี
ขณะที่มีเด็กและเยาวชน อายุตั้งแต่ 0-17 ปี กลายเป็นกำพร้า เพราะสูญเสียพ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่ จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวน 4,139 คน และในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี 452 หรืดคิดเป็นร้อยละ 10.9 ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางต้องการความช่วยเหลือมากเป็นพิเศษ นอกจากนั้น หากนับรวมการสูญเสียญาติคนอื่นๆ ในครอบครัว (พี่น้อง ปู่ย่าตายาย ฯลฯ) จำนวนเด็กและเยาวชนที่เผชิญความสูญเสียจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะสูงถึง 58,068 คน
“การกระจายตัวของผู้เสียชีวิตที่มีจำนวนมาก อยู่ในโซนของจังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ เช่นเดียวกัน ภาพการกระจายตัวของเด็กกำพร้าที่สูญเสียญาติ จะกระจุกตัวอยู่แถบกรุงเทพฯ-ปริมณฑล แล้วก็ขยับไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วก็ภาคใต้ จากภาพนี้จะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลของผู้เสียชีวิต จากกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงมหาดไทย ทำให้เราสามารถระบุได้ว่าเด็กที่กำพร้าและต้องการความช่วยเหลืออยู่จังหวัดไหน ฉะนั้นเราสามารถให้ความช่วยเหลือในเชิงรุกได้” รศ.ดร.จงจิตต์ ระบุ
รศ.ดร.จงจิตต์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเสนอแนะ 1.หน่วยงานภาครัฐควรเชื่อมโยงข้อมูลเด็กกำพร้าเข้ากับช้อมูลด้านการศึกษาและพัฒนาการก่อนวัยเรียนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อป้องกันปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา และนำเด็กที่หลุดออกไปแล้วกลับเข้าระบบการศึกษาด้วย 2.กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรทำงานเชิงรุก สนับสนุนเงินสงเคราะห์เด็กกำพร้า ตามสวัสดิการเด็กและครอบครัว จำนวน 2,000 บาท ไปจนถึงอายุ 18 ปี
และ 3.ควรจัดให้มีระบบการติดตามภาวะสุขภาพกายและสุขภาพจิตเด็กกำพร้าอย่างต่อเนื่องจากถึงอายุ 18 ปี รวมถึงส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้สมวัย และบรรเทาผลกระทบเชิงลบทางจิตใจ ส่วนที่มีผู้ตั้งคำถามว่า นิยามของเด็กกำพร้าคืออะไร เพราะโดยความเข้าใจทั่วไปจะหมายถึงการสูญเสียบุคคลที่มีบทบาทเลี้ยงดูโดยตรง เช่น พ่อแม่ แต่งานวิจัยกลับไปรวมถึงการสูญเสียญาติคนอื่นๆ ด้วย ตนขออธิบายว่า กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ให้นิยามเด็กกำพร้าไว้ว่า ประชากรอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่สูญเสียพ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่
แต่ที่ตนสนใจศึกษารวมไปถึงการเสียชีวิตของญาติคนอื่นๆ ในครอบครัวด้วย เนื่องจากในต่างประเทศ มีการศึกษาที่ไม่ได้เฉพาะการกำพร้าแบบปฐมภูมิ (Primary Orphanhood) หรือการสูญเสียพ่อแม่เท่านั้น แต่ยังขยายไปยังการกำพร้าแบบทุติยภูมิ (Secondary Orphanhood) หมายถึงการสูญเสียญาติคนอื่นๆ ซึ่งเป็นการสูญเสียทรัพยากรของครอบครัว ทั้งนี้ การที่ผลการศึกษาชี้ให้เห็นเด็กกำพร้าที่สูญเสียพ่อแม่ ก็เพื่อให้รัฐจัดสรรสวัสดิการตามสิทธิที่ควรได้ แต่ก็ไม่ใช่เฉพาะการสูญเสียพ่อแม่เท่านั้นที่จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และจิตใจของเด็ก
“การสูญเสียญาติคนอื่นๆ รวมทั้งปู่ย่าตายาย ที่เขาจะเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการเลี้ยงดูเด็กในครอบครัวหนึ่งๆ ก็ส่งผลกระทบต่อเด็กด้วยเช่นเดียวกัน ฉะนั้นการให้ความช่วยเหลือ รัฐสวัสดิการต่างๆ ก็ควรจะเข้าถึงกลุ่มเด็กที่สูญเสียปู่ย่าตายายด้วยเช่นกัน” รศ.ดร.จงจิตต์ กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี