นักวิชาการหวั่นปลาปนเปื้อนทางพันธุกรรมใหญ่ที่สุดในโลก หากผันน้ำข้ามลุ่มจากสาละวินสู่ปิง เดินหน้าโครงการผันน้ำยวม IUCN เสริมศักยภาพนักวิจัยชุมชน เชื่อมร้อยงานอนุรักษ์ลุ่มน้ำไทย-รัฐกะเหรี่ยง
ระหว่างวันที่ 2 - 4 กรกฎาคม 2567 องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ International Union for Conservation of Nature (IUCN) ร่วมกับคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการณ์การเก็บข้อมูลพันธุ์ปลาในลุ่มแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ BRIDGE 5 เพื่อส่งเสริมศักยภาพงานอนุรักษ์แม่น้ำสาละวิน โดยมีผู้เข้าร่วมจากองค์กรเครือข่ายจากประเทศไทยและรัฐกระเหรี่ยง ประเทศพม่า รวมทั้งชาวบ้านจากชุมชนบ้านแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน รวมประมาณ 20 คน
โดยในวันแรก รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญความหลากหลายพันธุ์ปลา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้บรรยายเรื่องการเก็บข้อมูลรวบรวมพันธุ์ปลาในลุ่มน้ำสาละวิน ต่อมาในวันที่ 3 กรกฎาคม คณะได้เดินทางไปที่บ้านแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจุดบรรจบที่แม่น้ำเงาไหลลงแม่น้ำยวม และเป็นพื้นที่โครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำยวมและอุโมงค์เพื่อผันน้ำลงเขื่อนภูมิพล (โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม ของกรมชลประทาน) โดยได้ประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในลุ่มแม่น้ำสาละวินระหว่างภาคประชาสังคมจากไทยและพม่า ต่อมาในวันที่ 4 กรกฎาคม คณะได้ร่วมการฝึกอบรมภาคสนามการเก็บตัวอย่างพันธุ์ปลาเพื่องานวิจัย ซึ่งเก็บข้อมูลในแม่น้ำยวมและลำห้วยสาขา ตั้งแต่บริเวณแม่น้ำสองสี ไปจนถึงบ้านท่าเรือ
ดร.อภินันท์ กล่าวว่า โครงการเขื่อนน้ำยวม สร้างเพื่อผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินไปยังลุ่มน้ำปิง จากปริมาณน้ำ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรที่เก็บกักได้ ส่งต่อไปยังลุ่มน้ำปิง 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยการกั้นเอาสองแม่น้ำสายใหญ่คือแม่น้ำยวมกับแม่น้ำเงา สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อนำน้ำมาใช้ ปลาที่แตกต่างกันเกินกว่า 98% จะมีการปนเปื้อนทางพันธุกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ระบบที่วางกันไว้น่าจะไม่สามารถป้องกันการเข้าไปของลูกปลา และไข่ปลาได้
“เรายังไม่รู้เรื่องชีววิทยาและชีวประวัติของเขาเลย ปลาแม่น้ำส่วนใหญ่จะอพยพขึ้นมาวางไข่ในพื้นราบของแอ่งแม่สะเรียง ที่ถูกกั้นเอาไว้ทั้งหมด แล้วจะไปต่อกันอย่างไร หรือเรากำลังร่วมมือกันปิดกั้นการขึ้นมาวางไข่ของปลา” ผู้เชี่ยวชาญปลาลุ่มน้ำสาละวิน กล่าว
นายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน กล่าวว่า แม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำสายเดียวในภูมิภาคนี้ที่ยังคงมีระบบนิเวศที่เป็นธรรมชาติ ไม่มีเขื่อนปิดกั้นสายน้ำ ปัจจุบันมีโครงการเขื่อนในจีน 13 เขื่อน และในรัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง และพรมแดนไทย อีก 7 โครงการเขื่อน ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ และเครือข่ายภาคประชาชนในพม่า ทำงานรณรงค์คัดค้านโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน มีการทำงานวิจัยไทบ้านมีการพบปลาสะแงะหรือปลาตูหนาและพันธุ์ปลาเฉพาะถิ่น นอกจากนี้ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาชุมชนมีการประกาศอนุรักษ์พันธุ์ปลาใน 12 หมู่บ้าน ชาวบ้านใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการต่อสู่ปกป้องแม่น้ำ
นายสะท้าน กล่าวต่อว่า ต่อมามีการผลักดันโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันน้ำยวม ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันตั้งคำถามและเรียกร้องการมีส่วนร่วม เนื่องจากชุมชนตลอดลำน้ำยวม และแม่น้ำเงส จะได้รับผลกระทบโดยตรง ชุมชนได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเสริมศักยภาพแก่เยาวชนให้เรียนรู้เรื่องกฎหมาย สิทธิชุมชน และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
“ระบบนิเวศของแม่น้ำเงามีความลาดชันสูง น้ำไหลแรงมีแก่งและโขดหิน คุณภาพน้ำมีออกซิเจนสูง ปลาที่จับได้จากแม่น้ำเงาเราเคยทดลองนำไปปล่อยในสระ ไม่ถึงชั่วโมงปลาตาย หากมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม น้ำยวมและน้ำเงาจะเปลี่ยนแปลงไป จากแม่น้ำที่ไหลกลายเป็นอ่างน้ำนิ่ง พันธุ์ปลาจะปรับตัวไม่ได้และตายเรียบ” นายสะท้าน กล่าว
ด้าน นส.Nan Aye Aye Myaing จากองค์กรอนุรักษ์กะเหรี่ยง Karen Environmental and Social Action Network (KESAN) กล่าวว่า ที่ผ่านมาทำงานร่วมทำงานกับชุมชนกะเหรี่ยงในรัฐกะเหรี่ยง เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมานานกว่า 30 ปี จนนำไปสู่การก่อตั้ง Salween Peace Park หรืออุทยานสันติภาพสาละวิน โดยสนับสนุนกลไกการอนุรักษ์ของแต่ละชุมชน ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์และพันธุ์พืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และเป็นที่อยู่อาศัยของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง
“เรากำลังพยายามฝึกเยาวชนเพื่องานวิจัยพันธุ์ปลา มีปลาหลายชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ เป้าหมายต้องการนำข้อมูลวิจัยพัฒนาเป็นข้อตกลงการอนุรักษ์ของแต่ละชุมชน อนาคตอยากร่วมมือกับชุมชนบ้านแม่เงาร่วมกันศึกษา เพราะเชื่อว่าพันธุ์ปลาที่ลำน้ำสาขาของสาละวินจะมีความเหมือนและเชื่อมโยงทางระบบนิเวศ” ตัวแทนจากองค์กร KESAN กล่าว
อนึ่ง กรมชลประทาน ได้จัดทำโครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตามพรบ.ร่วมทุนฯ ซึ่งการออกแบบและก่อสร้างองค์ประกอบสำหรับผันน้ำจากลุ่มน้ำยวมไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ได้แก่ 1 เขื่อนน้ำยวม ถนนเข้าหัวงานเขื่อน อ่างเก็บน้ำอยู่ในพื้นที่ ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และ ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน 2 สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา อุโมงค์อัดน้ำ อุโมงค์พักน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำ อุโมงค์เข้าออก พื้นที่จัดการวัสดุจากการขุดเจาะอุโมงค์ ถนนเข้าพื้นที่ก่อสร้าง อยู่ในพื้นที่ ต.สบเมย ต.แม่สวด ต.กองก๋อย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ต.นาเกียน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ 3 ทางออกอุโมงค์ส่งน้ำลำห้วยแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่
การศึกษา PPP ดังกล่าวมีการเสนอรูปแบบการลงทุน ในกรณีที่ภาครัฐไม่มีความพร้อมด้านงบประมาณในการลงทุนในการดำเนินโครงการ แต่มีเอกชนสนใจและมีความพร้อม รูปบบการร่วมทุนระหว่างรัฐ (โดยกรมชลประทาน) และเอกชน ด้วยวิธีแบบ Build Transfer Operate โดยทางเลือกนี้กรมชลประทานจะต้องจัดเตรียมงบประมาณค่าชดเชยชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ค่าจัดการสิ่งแวดล้อม ค่าก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ค่าตอบแทนเอกชนในรูปแบบ Availability Payment ระยะเวลา 25 ปี รวมถึงจ่ายคืนค่าก่อสร้าง รวมค่าดอกเบี้ยและกำไรของเอกชนแล้ว จำนวน 233,662 ล้านบาท จะส่งผลให้ต้นทุนเฉลี่ยค่าผันน้ำอยู่ที่ 6.71 บาทต่อลูกบาศก์เมตร
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี