เดือดร้อนหนัก! ‘หอการค้าเมืองย่าโม’ค้านค่าแรง 400 บาท บุกยื่นหนังสือ‘รองผู้ว่าฯนครราชสีมา’ ติงนโยบาย‘เศรษฐา’สัญญาว่าจะให้ ทำภาคธุรกิจพัง ย้ำรัฐบาลควรสร้างเศรษฐกิจให้ดีขึ้น จากการบริหารงานมากกว่าการโยนเงินให้ประชาชน
10 กรกฎาคม 2567 นายสุดที่รัก พันธ์สายเชื้อ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนางธิดารัตน์ รอดอนันต์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา , นางบังอร วรฉัตร ประธานสมาคมธนาคารไทย จังหวัดนครราชสีมา และภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เดินทางเข้าพบนายสุรพันธ์ ศิลปะสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ที่ห้องทำงานบนศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 9 ก.ค.67 เพื่อหารือและยื่นหนังสือถึงนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อคัดค้านการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ โดยมีจัดหางานจังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด จัดหางานจังหวัด ร่วมรับหนังสือ
นายสุดที่รัก กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา , สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และสมาคมธนาคารไทย จังหวัดนครราชสีมา ได้ประชุมพิจารณาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ พบว่า เป็นนโยบายการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ในระดับที่สูงเกินกว่าพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และยังมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ติดต่อกัน 2 ครั้ง ภายในปีเดียว (พ.ศ.2567) ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ การลงทุนภายในจังหวัดนครราชสีมา ตลอดจนถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ เช่น ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนการบริการ และต้นทุนการจ้างงานทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคการค้าและบริการ ภาคท่องเที่ยว และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) ที่ยังคงมีความเปราะบาง จากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน และมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการใช้แรงงานค่าจ้างขั้นต่ำเป็นส่วนใหญ่
“ดังนั้นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในระดับที่สูงเกินไป โดยไม่มีการรับฟังความเห็นรอบด้านจะส่งผลกระทบให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการจะต้องปิดกิจการ ลดขนาดกิจการ นำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานเพื่อลดต้นทุนให้อยู่รอด เกิดสภาวะการว่างงานเพิ่มขึ้นในที่สุด” นายสุดที่รัก กล่าว
นายสุดที่รัก กล่าวอีกว่า กกร.จังหวัดนครราชสีมา มีข้อเสนอและความเห็นต่อนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ 5 ข้อ ประกอบด้วย
1.กกร.จังหวัดนครราชสีมา เห็นด้วยกับการยกระดับรายได้ของแรงงานไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
2.กกร.จังหวัดนครราชสีมา ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ควรใช้กลไกจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างไตรภาคีจังหวัดพิจารณาอัตราจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด เสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้าง(ไตรภาคี) กลาง เป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทาง เศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และประสิทธิภาพของแรงงาน
3.การปรับอัตราจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน ( Pay By Skills) ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการ พัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงานให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re- Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity)
4 การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟัง ความคิดเห็นและศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และใช้กลไกจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่หรือประเภทธุรกิจเช่นกัน
5 นอกเหนือจากการยกระดับรายได้ของแรงงานแล้ว ภาครัฐควรเข้ามาดูแลค่าครองชีพในการดำรงชีพของแรงงาน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ภาคแรงงานและประชาชน เช่น ราคาอาหารสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมถึง ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสร้างความสมดุลด้านรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพให้กับแรงงานให้สอดคล้องตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ด้านนายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ รองประธานชมรมรถโดยสารประจำทางจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นระบบประชาธิปไตย มีระบบหาเสียง แต่จะทำอย่างไรที่จะกำหนดหรือควบคุมไม่ให้การหาเสียง เป็นไปในรูปแบบของคำว่าสัญญาว่าจะให้โดยที่ไม่ศึกษาผลกระทบล่วงหน้าก่อนที่จะเข้ามาทำงาน ไม่ใช่เข้ามาศึกษาในโอกาสที่ได้เข้ามาเป็นรัฐบาลหรือได้เข้ามาทำงานแล้ว ซึ่งเมื่อมีการสัญญาจึงจำเป็นที่จะต้องมีความพยายามที่จะทำให้ได้ แต่ความพยายามนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศ
“ภาคเอกชนจึงไม่เห็นด้วยหรือไม่สนับสนุนนโยบายที่จะเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ที่เป็นการเอาเงินอีกฝ่ายไปให้อีกฝ่าย แต่เราจะสนับสนุนสัญญาที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้น จากความสามารถของรัฐบาล เช่น การบริหารจากภาษี หรือการบริหารจากกฎหมายที่มีที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น เราสนับสนุนให้รัฐบาลใช้ความสามารถแบบนั้นมากกว่า” นายชัยวัฒน์ กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี