“คุรุสภา” ชูนโยบาย เรียนดีมีความสุข มุ่งสร้างครูดี ส่งเสริมความก้าวหน้าเพิ่มโอกาสบุคลากรทางการศึกษาทุกกลุ่ม เข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์
ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า จากนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มุ่งเน้นให้เกิดคุณภาพการศึกษาแก่ผู้เรียน ซึ่ง ครู และบุคลากรทางการศึกษาเป็นบุคคลที่สำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ทางสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จึงได้หารือกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา( สำนักงาน ก.ค.ศ.) เพื่อหาแนวทางเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการศึกษาทุกกลุ่ม รวมถึงบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) และศึกษานิเทศก์ ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีจิตสำนึกดี ได้มีโอกาส มีความก้าวหน้าเข้ามาเป็นผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ โดยเสนอที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา พิจารณาปรับข้อบังคับมาตรฐานวิชาชีพ ให้รองรับการเข้าสู่ตำแหน่ง
เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ครั้งที่ 6/2567 เมื่อที่ 27 มิถุนายน 2567 บอร์ดคุรุสภาได้มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่าง ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.... ที่มีการปรับแก้ไขมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและสำเร็จการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาบริหารการศึกษา สามารถเทียบประสบการณ์การบริหารในหน่วยงานเขตพื้นที่ เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาได้และให้ผู้ที่มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนในสถาบันและมีประสบการณ์การนิเทศ หรือการกำกับติดตาม หรือการวิจัยร่วมกับสถานศึกษา ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ได้
ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวด้วยว่า สำหรับการเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) ที่มีประสบการณ์ในตำแหน่งหัวหน้างาน หรือตำแหน่งบริหารอื่นๆ ในหน่วยงานการศึกษา ใช้ประสบการณ์ประกอบการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ยังต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด คือ ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมาก่อน และในส่วนของวิชาชีพศึกษานิเทศก์ ได้แก้ไขมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ ให้มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาหรือสถาบัน และมีประสบการณ์การนิเทศ หรือการกำกับติดตาม หรือการวิจัยร่วมกับสถานศึกษา เพื่อให้ผู้ที่มีประสบการณ์ตามที่กำหนด สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ได้ ซึ่งแนวทางการดำเนินการนี้ เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่สนับสนุนการเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการศึกษาสามารถเลือกเปลี่ยนสายงานได้ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในวิชาชีพ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาสู่วิชาชีพครูมากขึ้นด้วย
“การปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าให้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ ได้มีโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งบุคคลและหน่วยงานทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการ ร่าง ข้อบังคับคุรุสภา ฉบับดังกล่าว สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จึงได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ผ่านเว็บไซต์คุรุสภา https://www.ksp.or.th/2024/06/26/51173/ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 เพื่อจะนำข้อมูลความคิดเห็นที่ได้รับไปประกอบการพิจารณาดำเนินงาน และหลังจากนี้คุรุสภาจะจับมือกับ ก.ค.ศ. และ สพฐ. กำหนดรายละเอียดต่อไป” เลขาธิการคุรุสภา กล่าว.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี