‘ชัยวัฒน์’แจงชัด
ชาวบ้านดั้งเดิมในพื้นที่ทับลาน
ก.ม.คุ้มครองให้อยู่อาศัย-ทำกิน
“ชัยวัฒน์”ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติฯแจงชัดปม“ทับลาน” ลั่นป้องปล่อยผีนายทุนฮุบป่าย้ำชาวบ้านดั้งเดิม ไม่ต้องห่วงจะได้รับการคุ้มครองให้อยู่อาศัยทำกิน ได้อย่างถูกตามกฎหมายด้าน‘กมธ.ที่ดินฯ’เสนอเข้าหารือในที่ประชุมใหญ่ 17 กรกฎาคมนี้
จากกรณีอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการปรับปรุงแนวเขต “อุทยานแห่งชาติทับลาน” ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ซึ่งหากมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแนวเขตใหม่นี้ จะมีผลทำให้อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่ จนเกิดกระแสในโลกออนไลน์ได้มีการติดแฮชแท็ก #Saveทับลาน กันในวงกว้าง โดยส่วนใหญ่ได้มีการรณรงค์ให้ลงชื่อคัดค้าน เนื่องจากเกรงว่าหากเรื่องนี้ผ่านแล้วจะต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไม้กว่า 265,000 ไร่ และมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าพื้นที่ดังกล่าวอาจจะหลุดไปยังมือนายทุนรายใหญ่ และอาจทำร้ายระบบนิเวศของสัตว์ป่าที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์เฟซบุ๊ก Chaiwat Limlikhitaksorn ระบุข้อความว่า...ขอบคุณผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น มีทั้งคัดค้าน และตั้งข้อสังเกต ให้คิดเรื่องการคัดค้าน !!!
สืบเนื่องอ้างว่า ชาวบ้านอยู่มาก่อน หรือ อุทยานแห่งชาติทับลาน ไปประกาศแนวเขต ทับที่ชาวบ้าน ขอให้ข้อเท็จจริง ความถูกต้อง หัวข้อในประเด็น : 1.ราษฎร รายใด มีเอกสารสิทธิ เช่น ส.ค.1 / น.ส.3 และ น.ส.3 ก สามารถนำไปออกเอกสารสิทธิที่ดิน เป็นโฉนดที่ดินได้ (ถูกต้องตามกฎหมาย ) 2.ราษฎรอยู่มาก่อนประกาศอุทยานแห่งชาติทับลาน เมื่อปี 2524 นั้น ราษฎรต้องดูข้อเท็จจริง ว่า ถ้าท่านไม่มี ข้อ (1) ถือว่า “ผิดกฎหมาย”
ขอแสดงลำดับการประกาศการคุ้มครองพื้นที่ป่า ซึ่งมีกฎหมาย บังคับใช้ หากบุคคลใด บุกรุกป่า ถือว่า “ผิดกฎหมาย” ดังนี้ เป็นป่าตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ 2484 , เป็นป่าไม้ถาวร 2506 , เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าครบุรี 2509 ,เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่า แก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน 2510 , เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าวังน้ำเขียว 2515 , เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน 2524 , เป็นกลุ่มป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 2548
แนวทางแก้ไขปัญหาราษฎรที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า มี มติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 คุ้มครองมิให้ จนท.จับกุมดำเนินคดี รวมถึงผ่อนปรน ผ่อนผันให้ราษฎรทำกินไปพลางก่อน จนกว่าจะมี มติ ครม. หรือ พระราชบัญญัติ เปลี่ยนแปลง เป็นอย่างอื่น เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 มีมาตรา 64 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 มี มาตรา 121 ประกาศใช้ โดยทั้งสองมาตรา(ม 64/ 121) มีความว่า “ให้สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า”
ที่สำคัญ และ สำคัญมาก คือ ม 64 และ ม 121 นี้ ออกมาเพื่อคุ้มครองราษฎรที่ทำผิดกฎหมาย ข้อหา “บุกรุกแผ้วถางป่า ยึดถือครอบครองที่ดิน” ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน และในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ
ฉะนั้น : ราษฎรที่อยู่มาก่อน จะได้รับการคุ้มครองให้อยู่อาศัย ทำกิน ได้อย่างถูกตามกฎหมายนี้
ที่รัฐสภา นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมกมธ.ที่ดินฯว่า วันนี้ กมธ. ที่ดินฯ จะมีการพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นกรณีพิเศษ เรามองว่าปัญหาทับลานเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานราชการหลายหน่วย เราจึงต้องขอมติที่ประชุมในวันนี้เพื่อนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 17ก.ค.นี้ ซึ่งการประชุมในวันนี้ต้องเรียนว่าเป็นการขอมติจากกรรมาธิการท่านอื่นๆ ซึ่งหากจะดำเนินการแบบใดก็ต้องขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมในวันนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่าวางกรอบไว้หรือไม่ เพราะในส่วนของการสำรวจความเห็นประชาชนในพื้นที่ใกล้เสร็จแล้ว และจะมีมติในวันที่ 12 ก.ค. นี้ นายพูนศักดิ์ กล่าวว่า นี่คือที่มาว่าทำไมต้องนำกรณีทับลานเข้าที่ประชุมวันนี้ อย่างที่ทราบว่า การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจะสิ้นสุดในวันที่ 12 ก.ค. โดยทางอุทยานฯ ต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูล ภายในเวลา 30 วัน ดังนั้นการประชุมที่เหมาะสม คือ 17 ก.ค. เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีเวลาในการเตรียมข้อมูล และนำข้อมูลเข้าสู่ที่ประชุม กมธ.
เมื่อถามถึงกรณีที่ประชาชนมีข้อสับสนว่าพื้นที่ป่าทับลานบางส่วน เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนดั้งเดิม บางส่วนเข้าใจว่าเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ในส่วนนี้ กมธ. ได้รับข้อเท็จจริงอย่างไร นายพูนศักดิ์ กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติทับลาน เคยเข้าสู่ที่ประชุมมาแล้ว เพราะฉะนั้นในเบื้องต้นก็ยังมีข้อมูลตรงนี้อยู่แล้วบ้าง ต้องแบ่งผู้ที่เกี่ยวข้องเป็น 3 กลุ่มเป็นหลัก โดยกลุ่มที่ 1. คือคนที่เคยอยู่มาก่อน เป็นกลุ่มคนดั้งเดิมหรือเป็นคนที่หน่วยงานรัฐนำเข้ามา กลุ่มที่2.เป็นกลุ่มที่เจ้าหน้าที่มีการอนุญาตให้เข้ามาในพื้นที่ในส่วนของอุทยาน หลังจากที่มีอุทยานเกิดขึ้น ซึ่งก็มีสิทธิ์ที่จะสามารถเข้ามาทำประโยชน์ได้ ตามที่รัฐบาลออกสิทธิ์ให้เพื่อการเกษตรกร และกลุ่มที่ 3.คือกลุ่มคนที่มีคดีกับทางอุทยานอยู่ประมาณ 552 คดี ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกลุ่มคนอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนของป่าทับลาน ในตอนนี้ ดังนั้นควรที่จะต้องนำเอากลุ่มคนเหล่านี้มาร่วมในการพิจารณาด้วยเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ดินของอุทยานแห่งชาติทับลานทั้งหมดสามารถจัดสรรได้เท่าไหร่ นายพูนศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าอยากจะให้มาคุยในวันที่ 17 ก.ค. เพื่อให้มีข้อมูลอย่างถูกต้อง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยจะมีการแบ่งว่าพื้นที่ของ ส.ป.ก. มีเท่าไร ซึ่งคร่าวๆ ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 60,000 ถึง 70,000 ไร่ ส่วนจะมีที่ดินที่มีการทับซ้อนของอุทยานอยู่ประมาณเท่าไร และเป็นคดีความอีกเท่าไร ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องมาประมวลข้อมูลทั้งหมด รวมถึงพิจารณาในการประชุม หากวันนี้มีมติ ก็เชื่อว่าจะมีการประชุมในวันที่ 17 ก.ค.นี้ ตามมา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี