ครม.อนุมัติงบยกระดับรพ.ในนครปฐม-สระแก้ว นายกฯสั่ง สธ.เพิ่มจำนวนครูสอนพยาบาล
11 กรกฎาคม 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้ใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลนครปฐม จังหวัดนครปฐม ก่อสร้างอาคารจอดรถ 10 จำนวน 1 หลัง วงเงิน 118,141,600 บาท และใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว ก่อสร้างอาคารพักเจ้าหน้าที่ 7 ชั้น 96 ห้อง จำนวน 2 หลัง ในวงเงิน 147,550,100 บาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า โรงพยาบาลนครปฐม เป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 860 เตียง มีพื้นที่ใช้สอยอาคาร จำนวน 65,636 ตารางเมตร โดยมีสถานที่จอดรถยนต์ 4 ลาน จอดรถได้ทั้งหมด 250 คัน และที่จอดรถจักรยานยนต์ จอดได้ประมาณ 200 คัน แต่มีอัตราหมุนเวียนการใช้ที่จอดรถประมาณ 1,000 คัน/วัน ทำให้พื้นที่จอดรถไม่เพียงพอเกิดปัญหาการจราจรที่หนาแน่น ส่งผลให้ผู้ป่วย ผู้เข้ามารับบริการ และเจ้าหน้าที่ได้รับความเดือดร้อนและทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการรับ–ส่งผู้ป่วย ทั้งนี้ ระยะเวลาก่อสร้าง 545 วัน
ส่วนโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว เนื่องจากปัจจุบันมีบุคลากรทั้งหมด จำนวน 1,265 คน และจะมีบุคลากรที่จบการศึกษาในปี พ.ศ. 2566 – 2568 มาปฏิบัติงานที่โรงพยาบาล จำนวนมากกว่า 100 คน ขณะที่ที่พักอาศัยใน ร.พ. รองรับได้เพียง 500 คน ซึ่งไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ระยะเวลาก่อสร้างหลังละ 580 วัน
โดยที่สำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาแล้วเห็นชอบให้ สป.สธ. (โรงพยาบาลนครปฐม) ดำเนินการก่อสร้างอาคารจอดรถ 10 ชั้น พื้นที่อาคาร 16,603 ตารางเมตร โรงพยาบาลนครปฐม จังหวัดนครปฐม จำนวน 1 หลัง ในวงเงิน 118,141,600 บาท โดยใช้จ่ายจากเงินบำรุงโรงพยาบาลนครปฐม โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ และต่อรองราคาจนถึงที่สุดด้วย และ กค. และ สงป. พิจารณาแล้วอนุมัติ/เห็นชอบให้ สป.สธ. (จังหวัดสระแก้ว) ดำเนินการก่อสร้างอาคารพักเจ้าหน้าที่ โดยใช้จ่ายจากเงินบำรุงโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว โดย สงป. เห็นว่าให้ดำเนินการก่อสร้างในวงเงิน 147,550,100 บาท
“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเสริมด้วยว่า ในการพิจารณางบประมาณดังกล่าวนี้ การก่อสร้างโรงพยาบาลนั้นสำคัญก็จริง เป็นดั่งการพัฒนาฮาร์ดแวร์ ซึ่งต้องควบคู่มากับการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วย หนึ่งในปัญหาเร่งด่วนคือการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และจากการลงพื้นที่ได้ทราบมาว่า สาเหตุหนึ่งของการขาดแคลนบุคลากรพยาบาล มาจากการขาดแคลนครูผู้สอนพยาบาล จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อผลิตบุคลากรครูผู้ฝึกสอนพยาบาลเพิ่มขึ้นควบคู่ไปด้วย” นางรัดเกล้า กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี