เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำสำนักการระบายน้ำ ลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร โดยกล่าวย้ำ มั่นใจความพร้อมรับมือฝนในครึ่งปีหลัง จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าจะมีฝนมากจนถึงเดือนพฤศจิกายน
รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า จากการถอดบทเรียนน้ำท่วมจากฝนตกหนักในปี 2565 มีจุดเสียงน้ำท่วม 617 จุดเกิดจากน้ำฝน และ 120 จุดเกิดจากน้ำเหนือและน้ำหนุน โดยได้เอ็กซเรย์ทุกจุดว่าจะแก้ไขปัญหาเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้อย่างไร ซึ่งหลายๆ จุดไม่ได้ทำเรื่องเดียว ต้องทำหลายด้านเพื่อผลักดันน้ำฝนทั้งหมดลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จากผิวถนนลงท่อระบายน้ำ ใช้บ่อสูบลงคลองไปลงแม่น้ำ จึงต้องทำทั้งขุดลอกคูคลอง ท่อระบายน้ำ ทำเขื่อนปิดล้อมเนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ต่ำ เพิ่มกำลังบ่อสูบเร่งระบายน้ำจากท่อลงคลองให้เร็วขึ้น การขยายท่อเดิมหรือทำ Pipe jacking ช่วยในบางจุด
"ที่ลงตรวจ 8 จุดวันนี้จะเห็นภาพรวมว่าเราทำอะไรบ้างเพื่อแก้ปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วม ซึ่งทั้ง 8 จุดนี้เป็นจุดสำคัญและมีปริบทต่างกันการแก้ปัญหาจะไม่เหมือนกัน มีทั้งขอความร่วมมือใช้พื้นที่ของทางราชการ ทำงานร่วมกับเอกชน ส่วนปริมาณฝนที่จะตกกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ไว้ว่าครึ่งปีหลังจะมีฝนมาก สิงหาคม - กันยายนนี้ น่าจะมีฝนหนัก ความพร้อมในการรับมือฝนในปีนี้ ต้องดีขึ้นแน่ ทุกจุดน้ำต้องระบายได้ดีขึ้น ถ้ามีจุดไหนแย่ลงหรือฝนตกมีน้ำท่วมเกิน 2 ชม.ให้แจ้งเข้ามาได้เลย" รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าว
สำหรับการลงพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วม ประกอบด้วย จุดที่ 1 ถนนศรีอยุธยา บ่อสูบน้ำคูน้ำสารวัตรทหารที่ 11 ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนศรีอยุธยา และถนนพระรามที่ 6 (Pipe jacking) ดันท่อลอดใต้ดินช่วยระบายน้ำไปจุดพักที่บ่อสูบส่งต่อไปลงคลองสามเสนและบึงมักกะสัน (เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 งบประมาณรวม 960 ล้านบาท ผลการดำเนินการ 90% กำหนดแล้วเสร็จ ก.ค.67)
จุดที่ 2 ถนนพระรามที่ 9 บริเวณแยก อสมท. ตรวจสอบการก่อสร้างบ่อสูบน้ำถนนพระรามที่ 9 ตอนลำรางแยก อสมท. เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซอยทวีมิตร ร่วมกับเอกชนเนื่องจากเป็นพื้นที่เอกชน (ดำเนินการแล้วเสร็จ) จุดที่ 3 ถนนรัชดาภิเษก ช่วงบริเวณหน้าศาลอาญา ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างท่อลอดถนนรัชดาภิเษก และแผนการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ (ผลการดำเนินการ 90% กำหนดแล้วเสร็จ ก.ค.67) จุดที่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงวงเวียนบางเขน เยี่ยมชมการใช้งานแก้มลิงวงเวียนบางเขน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณซอย 2 , 5 ใช้พื้นที่กรมทางหลวง รองรับน้ำได้ 6,000 คิว (ดำเนินการแล้วเสร็จ เปิดใช้งานมาแล้ว 2 เดือน)
จุดที่ 5 ทำนบกั้นน้ำคลองลำผักชี ข้างตลาดยิ่งเจริญ ติดตามความก้าวหน้าการจัดทำทำนบชั่วคราวพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำคลองลำผักชี แก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตบางเขน สายไหม และถนนเทพรักษ์ จุดที่ 6 ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าอาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างบ่อสูบน้ำศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ตอนลงคลองบางตลาด เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าศูนย์ราชการ (ผลการดำเนินการ 85% กำหนดแล้วเสร็จ ก.ค.67) จุดที่ 7 โครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 กับถนนประชาชื่น ( ถนนหมายเลข 10 ) ตรวจสอบงานก่อสร้างและระบบระบายน้ำ รางระบายน้ำ O - Gutter (กำหนดแล้วเสร็จ ก.ค.67) และ จุดที่ 8 ถนนแจ้งวัฒนะ ซอยแจ้งวัฒนะ 14 บริเวณบึงสีกัน ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างแก้มลิงบีงสีกัน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซอยแจ้งวัฒนะ 14 (ผลการดำเนินการ 10% กำหนดแล้วเสร็จ ก.พ.68 ระบบชั่วคราวแล้วเสร็จ ส.ค.67)
สำหรับจุดเสี่ยงน้ำท่วมจากน้ำฝน 617 จุด สำนักการระบายน้ำมีแผนดำเนินการไปแล้ว 109 จุด และอยู่ระหว่างดำเนินการในปีนี้อีก 32 จุด ที่เหลือมีแผนของบประมาณดำเนินการต่อไป รวมถึงเร่งแก้ไขปัญหาเขื่อนริมเจ้าพระยาที่มีจุดฟันหลอหรือรั่วซืม 120 จุดด้วย
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี