ภาคีคนรักสัตว์ บุกรัฐสภา ทวงถามความช่วยเหลือ“พลายประตูผา-พลายศรีณรงค์” ที่ศรีลังกายืม‘ช้างไทย’ไปศึกษา-วิจัย พร้อมขอสภาตั้งคณะทำงาน หวังแก้กฎหมายพิทักษ์สวัสดิภาพสัตว์ -ป้องกันทารุณกรรม
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม2567 ที่รัฐสภา ภาคีคนรักสัตว์ นำโดย นายโรเจอร์ โลหนันทน์ สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย น.ส.แสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ยื่นหนังสือถึง นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เพื่อขอสภาพิจารณาตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาสวัสดิภาพภาพสัตว์ในประเทศไทย และยื่นหนังสือต่อ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ เพื่อการติดตามทวงถาม ชีวิตความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของช้างไทยในต่างแดน
โดยภาคีคนรักสัตว์ ระบุถึงเหตุผลและความจำเป็นในหนังสือที่ยื่นคือในกรณีส่งช้างไทยไปต่างแดนนั้น พบการกระทำที่เป็นการทารุณกรรมช้างในรูปแบบต่างๆ ดังนั้นจึงขอให้กมธ.การที่ดินช่วยติดตาม โดยมีรายละเอียดข้อเรียกร้อง คือ ในรอบ 30 ปี มีจำนวนช้างไทยส่งไปต่างประเทศกี่เชือกและประเทศใดบ้าง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามดูแลความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของช้างหลังจากที่ส่งไปหรือไม่อย่างไร
“การส่งมอบช้างไทย โดยทางหน่วยงานรัฐอ้างว่า เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ มีข้อกำหนดหรือเงื่อนไข ข้อบังคับในการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของ ทูตช้างเหล่านั้นหรือไม่ โดยในรอบหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลไทย ได้ส่งช้างไปในโครงการแลกเปลี่ยนสัตว์ การยืมช้างไปเพื่อการศึกษาวิจัยนั้น ในปัจจุบันช้างเหล่านั้นได้ถูกนำกลับมาบ้างหรือไม่ ล่าสุด หน่วยงานได้ให้ความช่วยเหลือ พลายประตูผา และพลายศรีณรงค์ ที่ประเทศศรีลังกาหรือไม่” ภาคีคนรักสัตว์ระบุ
ภาคีคนรักสัตว์ระบุถึงความต้องการให้สภาตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาสวัสดิภาพสัตว์นั้น เพื่อให้มีคณะทำงานเพื่อดูแลปัญหาสวัสดิภาพสัตว์ในประเทศไทยโดยตรงโดยมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการหรืออนุกรรมาธิการที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ ทำหน้าที่พิจารณาปัญหาสัตว์ในประเทศไทย ทั้งสัตว์เลี้ยง สัตว์จรจัด สัตว์เศรษฐกิจในฟาร์มปศุสัตว์ สัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ป่า และสัตว์นำเข้าส่งออก สัตว์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหาร เช่นการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์
“ควรจัดตั้งหน่วยงานที่ทำงานโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ เช่น หน่วยตำรวจปราบปรามและช่วยเหลือสัตว์ จัดตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อช่วยเหลือและกู้ภัยสัตว์ รวมถึงให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ปีพ.ศ. 2563 ในการดูแลรับผิดชอบสัตว์ในพื้นที่ นอกจากนั้น คือ มีนโยบายเพื่อความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสัตว์ในประเทศระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน ทั้งนี้เพื่อให้งานการช่วยเหลือสัตว์เกิดความคล่องตัว ลดช่องว่างและปัญหาความขัดแย้งของการทำงาน และทำให้งานการแก้ไขปัญหาสัตว์ในประเทศไทยเกิดความสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น” ภาคีคนรักสัตว์ ระบุ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี