“กรมประมง”เปิดรายชื่อ 16 จังหวัดรับซื้อ “ปลาหมอคางดำ” ผงะ! ข้อมูลจับจากบ่อเพาะเลี้ยง297,702 กก. พร้อมวาง 5 มาตรการแก้ปัญหา คุมแพร่พันธุ์ได้ใน 3 ปียันมีรายเดียวที่ขออนุญาตนำเข้าและไม่ได้เก็บ 50 ซากจากเอกชน
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เตรียมตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำใน 16 จังหวัดที่พบการระบาดตามคำสั่งของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตร และสหกรณ์ ซึ่งต้องการให้เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ
โดยที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำระดับกระทรวงที่มีนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์เป็นประธานเห็นชอบมาตรการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน ด้วยการให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ชาวประมงพื้นบ้าน และประชาชนทั่วไปจับปลาหมอคางดำมาจำหน่ายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ
โดยกำหนดราคารับซื้อกิโลกรัมละ 15บาท ตามที่ ร.อ.ธรรมนัส แจ้งต่อที่ประชุมเมื่อวานนีัว่าได้หารือกับนายกรัฐมนตรีที่จะใช้งบกลางมารับซื้อ แต่ระหว่างที่รองบกลาง ได้หารือกับคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยที่จะใช้งบประมาณจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางมารับซื้อเพื่อนำไปทำปุ๋ยเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้แก่ประชาชนในการมีส่วนร่วมควบคุม และกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด ส่วนมาตรการอื่นๆ ในกำจัดปลาหมอคางดำจะทำควบคู่กันไป ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำว่าจะไม่รับซื้อปลาหมอคางดำที่มีการลักลอบเพาะเลี้ยง เนื่องจากเป็นสัตว์น้ำรุกรานต่างถิ่นที่มีกฎหมายห้ามครอบครองโดยกรมประมงมอบหมายให้กรมประมง ประสานกับจังหวัดเพื่อตั้งจุดรับซื้อภายในสัปดาห์หน้า
ขณะนี้ พบการระบาดใน 16 จังหวัดซึ่งเป็นการระบาด 14 จังหวัด และพื้นที่กันชน 2 จังหวัดได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา สงขลา ตราด และชลบุรี แต่ละจังหวัดมีคณะทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำระดับจังหวัด เร่งรัดดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการระดับกระทรวง โดยคณะกรรมการระดับจังหวัดจะเพื่อทบทวนในรายละเอียดของแผนการป้องกันและกำจัดปลาหมอคางดำ รวมถึงงบประมาณเพื่อให้เหมาะสมตามสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่
ส่วนรายละเอียดของมาตรการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ มีดังนี้
มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในทุกแหล่งน้ำ พร้อมแก้ไขกฎหมายซึ่งเป็นอุปสรรคในการใช้เครื่องมือประมงที่เหมาะสมเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำ โดยมีการสำรวจข้อมูลการใช้เครื่องมือประมงที่เหมาะสมในการใช้ในการกำจัดปลาหมอคางดำและได้ออกประกาศกรมประมง เรื่องการอนุญาตผ่อนผันใช้อวนรุน ตลอดจนเปิดช่องทางให้จังหวัดที่มีความต้องการขออนุญาตผ่อนผันการใช้เครื่องมือประมงเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำ เสนอเรื่องผ่านมติที่ประชุมคณะทำงานระดับจังหวัดมายังกองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ เพื่อประกาศ ผ่อนผัน ตามเงื่อนไขและความเหมาะสม
ขณะนี้สามารถกำจัดปลาหมอคางดำได้ทั้งสิ้น 623,370 กิโลกรัม จำแนกเป็นปริมาณปลาหมอคางดำที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ 325,668 กิโลกรัมและที่จับจากบ่อเพาะเลี้ยง 297,702 กิโลกรัม
มาตรการที่ 2 การปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง โดยกรมประมงได้ปล่อยลูกพันธุ์ปลาผู้ล่าทั้งปลากะพงขาว ปลาอีกง ปลาช่อน ปลากดคัง และอื่นๆ ไปแล้วกว่า 226,000 ตัวลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี กรุงเทพมหานคร ราชบุรี และสงขลา ทั้งยังมีโครงการจะปล่อยอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ กรมประมงยืนยันว่า ปลาหมอคางดำขนาดโตเต็มวัย ไม่สามารถกินลูกพันธุ์ปลาผู้ล่าขนาด 4 นิ้วที่ปล่อยลงไปได้ ลูกพันธุ์ปลาผู้ล่าเหล่านี้ สามารถกินลูกปลาหมอคางดำขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตรเพื่อควบคุมประชากรที่มีปริมาณมากได้ โดยกรมประมงจะเลือกพันธุ์ปลาผู้ล่าและพื้นที่การปล่อย รวมถึงจำนวนการปล่อยให้เหมาะสมกับระบบนิเวศของพื้นที่ที่สุด
มาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ กรมประมงได้ประสานสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทยใน จ.สมุทรสาคร จำหน่ายให้แก่โรงงานปลาป่น 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด ราคากิโลกรัมละ 10 บาท ได้รับการจัดสรรโควตา 500,000 กิโลกรัม (500 ตัน) จำหน่ายไปแล้ว 491,687 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 4,916,870 บาทและบริษัทอุตสาหกรรมปลาป่นท่าจีน จำกัด รับซื้อราคากิโลกรัมละ 7 บาท แบบไม่จำกัดจำนวน โดยรับซื้อปลาหมอคางดำจากพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงคือ กรุงเทพมหานครและราชบุรีด้วย รวมปริมาณการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำส่งโรงงานเพื่อผลิตปลาป่น 510,000 กิโลกรัม มูลค่า 5,022,000 บาท
ทั้งนี้ กรมประมงยังร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน (สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10) จัดโครงการรณรงค์การทำน้ำหมัก ชีวภาพคุณภาพสูง (สูตรไนโตรเจนสูง) รับซื้อปลาหมอคางดำราคากิโลกรัมละ 7 - 8 บาท นอกจากนี้ เครือข่ายภาคประชาชนมีการนำปลาหมอคางดำที่จับจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ โดยมีแหล่งรับซื้อปลาหมอคางดำ ได้แก่ แพรับซื้อปลาขนาดเล็กเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ (ปลาสด) เพื่อใช้เป็นปลาเหยื่อเลี้ยงสัตว์น้ำและปลาเหยื่อลอบปูที่สำคัญ กรมประมงจะเร่งหาพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนเพิ่มช่องทางการรับซื้อและศึกษาวิจัยประโยชน์ในด้านอื่นๆ ของปลาหมอคางดำเพิ่มเติม
มาตรการที่ 4 การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน กรมประมงจัดทำระบบแจ้งตำแหน่งการพบปลาหมอคางดำในรูปแบบออนไลน์สำหรับประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบบริเวณที่มีการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำโดยประชาชนสามารถแจ้ง เบาะแสพิกัดที่พบการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำได้ที่ https://shorturl.asia/3MbkG เพื่อเป็นข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจติดตามและ ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ต่อไป
มาตรการที่ 5 การสร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ กรมประมงจัดให้มีการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากหน่วยงานระดับจังหวัดได้มีคณะทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำแล้ว สำนักงานประมงจังหวัดทั้ง 16 จังหวัดจัดกิจกรรมการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ตื่นตัว โดยมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาหมอ คางดำ ได้แก่ ปลาส้ม ปลาแดดเดียว และน้ำปลา
นายบัญชา กล่าวอีกว่า มาตรการสำคัญอีกมาตรการคือ โครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ เป็นการควบคุมการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำโดยการทำให้ประชากรปลาหมอคางดำเป็นหมัน โดยการศึกษาสร้างประชากรปลาหมอคางดำพิเศษที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) จากนั้นจะปล่อยปลาหมอคางดำพิเศษเหล่านี้ลงสู่แหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) การผสมพันธุ์นี้จะทำให้เกิดลูกปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n)
ลูกปลาที่มีโครโมโซม 3 ชุดนี้ จะกลายเป็นปลาหมอคางดำที่เป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้ โดยมีแผนปล่อยพันธุ์ปลาหมอคางดำ 4n ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทยอยปล่อยอย่างน้อย 250,000 ตัวภายในระยะเวลา 15 เดือน (ก.ค. 2567 - ก.ย. 2568) คาดว่า สามารถเริ่มปล่อยพันธุ์ปลาได้อย่างช้าสุดในเดือนธันวาคม 2567 อย่างน้อย 50,000 ตัว เมื่อดำเนินการควบคู่กับวิธีการควบคุมอื่น ๆ เช่น การใช้ปลาผู้ล่า และการจับปลา ไปใช้ประโยชน์ ก็จะส่งผลให้การเพิ่มจำนวนปลาหมอคางดำรุ่นใหม่ลดลงจนสามารถควบคุมการระบาดได้ภายใน 3 ปี
สำหรับกระแสสังคมที่มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องต้นตอของการแพร่ระบาดอย่างหนักของปลาหมอคางดำ
โดยมีบริษัทแห่งหนึ่งขออนุญาตนำเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อวิจัยปรับปรุงพันธุ์ ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัสได้สั่งการด่วนให้กรมประมงแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ หากกรมประมงพบหลักฐานใดๆ เพิ่มเติม จะเร่งดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการเพื่อหาข้อเท็จจริงเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี