อึ้ง!"น่าน"เปิดสถิติ พบ"ฆ่าตัวตาย"สูงอันดับ 2 ประเทศ โดยพบว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ ส่วนใหญ่ติดสุรา และอยู่ในกลุ่มวัยทำงาน ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ที่ห้องสุมนเทวราช ชั้น 6 ศาลากลางจังหวัดน่าน นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการสุขภาพจิตจังหวัดน่าน ณ ห้องประชุมเจ้าสุมนเทวราช ศาลากลางจังหวัดน่าน ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการ แก้ปัญหา ผู้ป่วยสุขภาพจิต ในจังหวัดน่าน อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ล่าสุด จากการปฏิบัติการแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ อำเภอท่าวังผา จากการตรวจพบว่ามีผู้เสพติดกว่า 200 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยเข้าข่ายสุขภาพจิตกว่า 90 ราย ส่วนใหญ่เสพเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า โดยจะดำเนินการให้ครบทั้งจังหวัด ขณะเดียวกัน มีผู้เสพกัญชาเป็นเด็กและเยาวชนอายุน้อย ซึ่งกัญชา เมื่อเลิกเสพแล้วอาการทางจิตจะไม่หายไป ต้องเข้ารับการรักษา
สำหรับสถานการณ์การฆ่าตัวตายของคนในจังหวัดน่านในปี 2567 พบว่ามีการฆ่าตัวตายสำเร็จ 63 ราย ซึ่ง อัตราการฆ่าตัวตายของประชากรในจังหวัดน่าน สูงเป็นอันดับ 2 รองจากจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอัตราฆ่าตัวตายสูงที่สุดของประเทศ ขณะที่จำนวนผู้ฆ่าตัวตายสูงสุดคือจังหวัดนครราชสีมา ตัวเลขที่น่าสนใจ คือ ในภาคเหนือมีผู้ฆ่าตัวตายสูงสุดหลายจังหวัด อันดับ 3 คือจังหวัดแม่ฮ่องสอน อันดับ 4 คือจังหวัดเชียงราย อันดับ 5 คือ จังหวัดตาก อันดับ 6 คือจังหวัดลำปาง อันดับ 8 จังหวัดพะเยา อันดับ 14 จังหวัดลำพูน และอันดับ 18 จังหวัดแพร่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาคเหนือตอนบนมีอัตราฆ่าตัวตายสูง ทั้งนี้มาจากวัฒนธรรมความเป็นอยู่ การเลี้ยงดู การตัดสินใจแก้ปัญหา ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้สิน วิกฤตชีวิต ปัญหาครอบครัว และ การเสพยาเสพติด ผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมาจากผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะที่จังหวัดน่านมีประชากรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงที่สุดในประเทศ
วิธีสังเกตผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายจะมีสัญญาณเตือน คือ เงียบ ไม่พูดจา จัดการทรัพย์สิน มรดก ซึ่งต้องติดตามคนที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ ไม่ให้อยู่ตามลำพัง จะต้องมีคนดูแล คนไข้กลุ่มนี้จะอยู่ในความซึมเศร้า พิการ สูงอายุ เพื่อนที่อายุเท่ากันเสียชีวิตแล้ว นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยที่ติด ติดสุรา เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ไต โรคหัวใจ มะเร็ง ผู้ที่ถูกด้อยค่า ผู้ที่ไม่มีลูกหลานมาเยี่ยมช่วงเทศกาลสำคัญ เป็นต้น โดยผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุดอยู่ในวัยทำงาน รองลงมาคือวัยชรา
จากการเก็บข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน พบผู้ป่วย อาการทางจิตที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุด 41 ราย เฝ้าระวังสูง 92 ราย จากผู้ป่วยทั้งหมด รวม 279 ราย พบที่อำเภอปัวสูงสุด 10 คน ซึ่งเป็นพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติดสูง
สำหรับการให้การช่วยเหลือโดยเฉพาะในโรงเรียนนั้นจะมีโปรแกรม School Health Hero เป็นโปรแกรมช่วยเหลือ ป้องกันและแก้ปัญหา สร้างวัคซีนในชุมชน ทำให้มีความเข้มแข็งทางใจ
ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดน่านมีผู้พิการกว่า 24,000 ราย ผู้พิการจิตใจและพฤติกรรม 1306 คน เป็นชาย 703 คน เป็นหญิง 603 คน
แผนดำเนินการในปี 2568 จะเข้าไปดำเนินการในทุกกลุ่มวัย ควบคู่ไปกับการทำให้จังหวัดน่านเป็นจังหวัดสีขาวปลอดยาเสพติด ส่งเสริมคนปกติ สร้างความเข้มแข็ง ป้องกัน ในรายที่มีอาการ ไม่ให้ฆ่าตัวตาย บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งเป้าลดอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จร้อยละ 10 อีกทั้งค้นหาผู้เสพติดสุรารายเก่าเข้ารับการบำบัด และเร่งรณรงค์ให้ประชาชนยึดมั่นในศีลธรรมอันดีงาม โดยเฉพาะศีล 5 ในการดำรงชีวิต
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี