นักวิชาการชี้‘วิกฤต คือ โอกาส’ เมื่อ‘ปลาหมอคางดำ’มีมากในแหล่งน้ำ มาร่วมด้วยช่วยกันจับนำมาทำ‘เมนูเด็ด’สำหรับบริโภคในครัวเรือน ช่วยลดปัญหา-รักษาสมดุลแหล่งน้ำ
19 กรกฎาคม 2567 ผศ.ดร.ภูธฤทธิ์ วิทยาพัฒนานุรักษ์ รักษาศิริ อาจารย์ประจำคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างหนักของ “ปลาหมอคางดำ” ในแหล่งน้ำของไทยขณะนี้ โดยปลาดังกล่าวเป็นปลาต่างถิ่น สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวด กินทุกอย่างทั้งพืชและสัตว์ เมื่ออยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ จะทำลายระบบนิเวศ รวมถึงเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ ซึ่งทุกภาคส่วนร่วมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนช่วยกันกำจัดเพื่อควบคุมและลดปริมาณปลา โดยนำปลามาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าสูงสุด ซึ่งแนวทางที่มีการแนะนำกันแพร่หลายอยู่ในขณะนี้คือ การนำมาทำเมนูอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น น้ำปลา ข้าวเกรียบ หรือ ปลาป่น ทำปุ๋ยชีวภาพ แต่วิธีที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดสำหรับทุกคน คือ การนำไปทำเป็นอาหารสำหรับบริโภคในครอบครัว
“ปลาหมอคางดำ” แม้เป็นปลาต่างถิ่น แต่สามารถรับประทานได้เหมือนปลาทั่วไป เป็นปลาตระกูลเดียวกันกับปลานิล มีคุณค่าทางโภชนาการ โปรตีนและไขมันเทียบเท่ากับปลานิล โดยคุณค่าทางโภชนาการไม่น้อยหน้าปลาชนิดอื่น ใช้เป็นวัตถุดิบปรุงอาหาร รังสรรค์ได้หลากหลายเมนู โดย มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้คิดริเริ่มและจัดทำแผนช่วยลดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำตั้งแต่เริ่มพบการระบาดในแหล่งน้ำ ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนในพื้นที่ โดยร่วมกับสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี เผยแพร่องค์ความรู้ส่งเสริมการแปรรูปปลาหมอคางดำเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงทำงานวิจัยร่วมกันกับชุมชนเพื่อกำจัดปลาดังกล่าว โดยนำเอามาทำเป็นอาหาร ทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น มีราคาเพิ่มขึ้น และมีประโยชน์กับประชาชน ซึ่งเป็นอีกวิธีช่วยควบคุมและลดปริมาณปลาหมอคางดำ
ทางมหาวิทยาลัยฯ มีพันธกิจทำงานเพื่อชุมชนและให้องค์ความรู้กับคนในชุมชน สำหรับผลิตภัณฑ์และเมนูที่คัดเลือกมาทำการวิจัยและพัฒนาโดยใช้ปลาหมอคางดำเป็นวัตถุดิบ เพื่อส่งเสริมการบริโภค และนำเสนอชุมชน มีทั้งหมด 20 ผลิตภัณฑ์ อาทิ ลูกชิ้น กรรเชียง ปลาร้าเป็นตัว ปลาร้าผง น้ำซุป น้ำสต๊อก น้ำบูดู น้ำหมักปรุงรส ปลาแดดเดียว ปลาสามรส ปลาสวรรค์ ฯลฯ
สำหรับเมนูที่ชุมชนชื่นชอบและเข้าถึงได้ง่าย คือ “น้ำพริกแห้งปลาหมอคางดำ” และ “ไส้อั่วปลาหมอคางดำ” นอกจากจะเป็นเมนูที่สามารถทำรับประทานได้ในครัวเรือนแล้ว ยังเป็นเมนูส่งเสริมการแปรรูปของคนในชุมชน เพื่อสร้างรายได้เสริมและใช้ประโยชน์จากปลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย น้ำพริกแห้งปลาหมอคางดำ มีส่งออกสหรัฐอเมริกาด้วย เพราะเก็บได้นาน ต่างชาติชอบกินใช้กินกับขนมปังได้ โดยมหาวิทยาลัยฯ ได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตรน้ำพริกแห้งปลาหมอคางดำแล้ว แต่ไม่จดลิขสิทธิ์สำหรับชุมชน
ปลาหมอคางดำ เป็นปลาก้างแข็ง หากนำก้างไปย่อยเป็นแคลเซียม ฟอสฟอรัส จะมีสูงกว่าปลาทั่วไป ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ หากในแง่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ในอนาคต สามารถนำไปผลิตเป็นแคลเซียมผง หรือแคลเซียมสำเร็จรูปได้
ผศ.ดร.ภูธฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่เริ่มการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ได้ลงพื้นที่พาชาวบ้านกินปลาหมอคางดำ ในจังหวัดเพชรบุรี 4-5 พื้นที่ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 5 พื้นที่ โดยชุมชนลงจับปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ อาทิ แม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งเราสามารถทำลายมันได้ด้วยการกิน จึงอยากเชิญชวนกินปลาหมอคางดำ เพื่อควบคุมและอยู่ร่วมกันกับมันให้ได้ ///-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี