“มาตรา 29 (วรรคสอง) : ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้”, “มาตรา 32 (วรรคหนึ่ง) บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว (วรรคสอง)การกระทําอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนําข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จําเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ”
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ว่าด้วยสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว แต่ถึงจะเขียนไว้ในกฎหมายสูงสุดแบบนี้ ในทางปฏิบัติก็ยังพบปัญหา โดยเฉพาะ “การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องหาในคดีอาชญากรรม” ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบแต่เฉพาะตัวผู้ต้องหาเท่านั้น แต่ยังขยายวงไปถึงครอบครัวหรือคนใกล้ชิดของผู้ต้องหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีนั้นด้วย อีกทั้งยังทำให้ถูก “ตีตรา” สังคมมองว่าเป็นผู้กระทำผิดไปแล้วทั้งที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน
ย้อนไปเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2567 ในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้หยิบยกกรณีสื่อมวลชน นำเสนอข่าวคดีอาชญากรรมในลักษณะที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเปิดเผยอัตลักษณ์หรือข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ภาพถ่ายใบหน้าหรือรูปพรรณสันฐาน ชื่อ นามสกุล ที่อยู่อาศัย ประวัติการรักษาพยาบาล ประวัติทางการเงิน ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลเกี่ยวกับญาติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ
ซึ่งแม้ว่าสื่อมวลชนบางรายพยายามปกปิดอัตลักษณ์ของผู้ต้องหาโดยการเบลอภาพไว้ก็ตาม แต่มีการบรรยายข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถระบุตัวตนได้ และพบว่าสื่อมวลชนได้บันทึกภาพผู้ต้องหาขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว ทำให้ผู้ชมโดยทั่วไปสามารถทราบได้ว่าผู้ต้องหาเป็นใคร มีการนำเสนอข่าวในลักษณะชี้นำ ตีตรา และด้อยค่าผู้ตกเป็นข่าวโดยใช้ภาพผู้ต้องหาเป็นภาพประกอบ
บางรายการมีรูปแบบรายการข่าวเชิงสืบสวนโดยเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสัมภาษณ์ ผู้ดำเนินรายการใช้ถ้อยคำนำเสนอข่าวเชิงตัดสินและตีตราว่าเป็นผู้กระทำผิด ทั้งที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา มีการตั้งฉายาบุคคลที่ตกเป็นข่าวโดยใช้ชื่อบุคคลต่อด้วยอาวุธหรือเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับคดี เมื่อมีการนำเสนอข่าวติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้สาธารณชนเชื่อว่าผู้ต้องหากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ตลอดจนมีการคุกคามสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของครอบครัวผู้ต้องหา
เช่น ดักรอบริเวณเคหสถานของบิดามารดา เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ แสวงหาข้อมูลและเก็บบันทึกภาพโดยไม่ได้รับความยินยอม รวมทั้งติดต่อสัมภาษณ์บุคคลที่รู้จักเพื่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของผู้ต้องหาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และนำข้อมูลไปเสนอต่อสาธารณชนอันเป็นการแทรกแซงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว ซึ่งอาจส่งผลให้บุคคลดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณวสันต์ในประเด็นความพยายามสร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย สื่อมวลชนและประชาชน ในประเด็นนี้
- กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนมาก-น้อยแค่ไหน? เรื่องการที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย (เช่น ตำรวจ) หรือสื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่กระทบสิทธิทั้งผู้ต้องหาหรือผู้เสียหาย : ในช่วง 2-3 ปีมานี้เยอะขึ้น ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ และทั้งในส่วนการทำหน้าที่ของสื่อ การร้องเรียนก็จะมีทั้งในแง่ของการละเมิดความเป็นส่วนตัว เกียรติยศชื่อเสียงและครอบครัว ทำให้เขาเสียหาย และในแง่สิทธิกระบวนการยุติธรรม ในแง่ที่เขายังเป็นเพียงผู้ต้องหา แต่ถูกนำเสนอข่าวในลักษณะที่เหมือนกับเขาเป็นผู้กระทำผิดแล้ว มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาอยู่พอสมควร
- เหมือนจะเห็นว่า กสม. ชุดปัจจุบัน เป็นชุดแรกที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ใช่หรือไม่? : จริงๆ กสม.ชุดก่อนหน้านี้ ก็มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาเยอะ เกี่ยวกับเรื่องการละเมิดสิทธิของผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ก็มีร้องเรียนมา จากข้อมูลที่รวบรวมไว้ ก็มีตั้งแต่ปี 2553 ปี 2554ปี 2556 ปี 2557 อะไรพวกนี้ ก็มีมาเป็นระยะๆ เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้สื่อสารออกมาเยอะมาก ว่า กสม. ได้ทำอะไรไปบ้าง ในขณะที่ กสม. ชุดที่ 4 (ชุดปัจจุบัน) ที่ทำงานมาได้ประมาณ 3 ปีเศษ เห็นว่า ควรสื่อสารกับสาธารณะให้มากขึ้น เพื่อให้รับรู้การทำงานของ กสม.
“ในการสื่อสารก็จะเป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการสิทธิมนุษยชน แล้วก็ประเด็นสิทธิมนุษยชนต่างๆ ด้วย คนจะได้เข้าใจว่าประเด็นเรื่องสิทธิมันเป็นเรื่องใกล้ตัวกับทุกคน เป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นประเด็นที่บางทีเราอาจจะนึกไม่ถึง อาจจะไม่ได้นึกว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ทั้งๆ ที่จริงๆ เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน แล้วก็เป็นเรื่องที่อาจมีผลกระทบกับเราเองได้ หรือเราอาจจะมองข้ามอยู่”
ประเด็นสิทธินั้นใกล้ตัวคน ขณะเดียวกันก็มีประเด็นสิทธิหลายหลาก และเชื่อมโยงกันบางทีก็แยกกันไม่ออก แต่ขณะเดียวกัน เรื่องของสิทธิอาจมีแย้งหรือหนุนเสริมกัน ทีนี้ประเด็นสิทธิที่อาจจะแย้งหรือขัดกัน เราก็จะต้องมาประเมินดูว่าประเด็นไหนควรได้รับความสำคัญหรือให้น้ำหนักมากกว่า อย่างเสรีภาพในการชุมนุม เป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เป็นเรื่องสำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่คนจะสามารถชุมนุมหรือแสดงความคิดเห็นได้
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมนั้นอาจไปกระทบกับสิทธิจองผู้อื่น เราก็ต้องมาดูว่าระหว่างสิทธิในการแสดงความคิดเห็นกับสิทธิของผู้อื่น เช่น ในเรื่องของการสัญจรไป-มา หรือความเดือดร้อนรำคาญ แล้วก็ต้องมาชั่งน้ำหนักว่าอันไหนเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า หรือว่าจะไปบรรเทาผลกระทบที่อาจจะไปกระทบกับสิทธิของผู้อื่น ก็จะได้ไปลดทอนผลกระทบตรงนั้นเลง
กรณีนี้ก็เหมือนกัน สิทธิในเรื่องที่เราพยายามสื่อสารออกไปในช่วงหลัง มักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคดีที่ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยถูกจับกุม แล้วทีนี้ทางเจ้าหน้าที่หรือทางสื่อ ก็ไปเปิดเผยอัตลักษณ์ทำให้รู้ว่าเป็นใคร แล้วบางครั้งการนำเสนอข่าวอาจไปไกลกว่านั้น คือไปตีตราหรือชี้นำว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิด อันนี้มันจะไปขัดกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ซึ่งรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้การรับรอง
“อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ทุกคนควรจะได้รับความยุติธรรมในการต่อสู้คดี ก็ต้องถือว่าระหว่างที่ถูกกล่าวหาก็ยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา เขาจะเป็นผู้กระทำผิดต่อเมื่อศาลได้ตัดสินแล้วว่าเขาเป็นผู้กระทำผิด ทีนี้ถ้าตำรวจเอาเขามาแถลงข่าว แล้วบอกว่าเขาเป็นผู้กระทำผิด บางทีมันก็จะไปขัดกับหลักนี้ (สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์) ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็มีแนวปฏิบัติว่าห้ามดำเนินการ ห้ามทำเกี่ยวกับเรื่องในลักษณะนี้ จริงๆ ก็มีระเบียบมีแนวปฏิบัติมานานพอสมควร แต่บางทีการดำเนินการก็อาจจะย่อหย่อน หรือไม่ดำเนินการตามแนวทางนั้น”
สิ่งที่เราทัก เราก็ทักเพื่อให้มีการแก้ไขปรับปรุง รวมทั้งสื่อเอง ระยะหลังสื่อก็ระมัดระวังมากขึ้น มีการเบลอหน้า มีการปกปิดอัตลักษณ์บางส่วน แต่บางครั้งก็ยังมีหลุดออกไปอยู่บ้าง ส่วนที่เราเห็นเป็นการละเมิดก็คือกรณีที่นำเสนอไปแล้ว คืออัตลักษณ์นั้นยังเป็นที่รับรู้ทั่วกัน อาจจะเบลอหน้าแต่ไปพูดชื่อหรือโชว์รูปพรรณสัณฐานอื่น หรือไปสัมภาษณ์พ่อแม่ของเขา หรือไปโยงกับเหตุการณ์ของเหยื่อได้ ก็อาจไปกระทบกับทั้งผู้ต้องหาและอาจไปกระทบกับเหยื่อด้วย โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ อันนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็กำชับให้ระมัดระวัง
- การเผยแพร่หมายจับผู้ต้องหาในคดีต่างๆต่อสาธารณะ สามารถทำได้หรือไม่? เพราะด้านหนึ่งเจ้าหน้าที่ก็อยากให้ประชาชนช่วยแจ้งเบาะแส แต่อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่อครอบครัวของผู้ต้องหาเช่นกันทั้งที่ไม่ได้ไปร่วมก่อเหตุด้วย : ขออนุญาตใช้ว่าเป็นความเห็นส่วนตัว กรณีถ้าเป็นหมายจับ ถ้ามีการเผยแพร่หมายจับในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะตามจับผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัย อันนี้เป็นเรื่องที่ดำเนินการได้
แต่โดยปกติ การเผยแพร่หมายจับทางสื่อหรือต่อสาธารณะ ก็อาจเป็นเรื่องที่ไปกระทบกับสิทธิเกินสมควร เพราะอาจทำให้สาธารณะเข้าใจว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งที่อาจจะยังไม่ได้จับกุม ยังไม่ได้พิสูจน์ในชั้นศาล ดังนั้นการเผยแพร่หมายจับในหมู่เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ดูแลความปลอดภันสาธารณะ ในการติดตามตัวผู้ต้องหา แล้วศาลอนุมัติหมายจับแล้ว ดังนั้นการที่ศาลอนุมัติหมายจับเจ้าหน้าที่จะมีหมายจับส่งเวียนไป (Circulate) ในหมู่เจ้าหน้าที่ อันนี้อาจเป็นเรื่องที่โอเค
“การที่เอาหมายจับไปขึ้นประกาศต่อสาธารณะ หรือไปเผยแพร่ต่อสื่อ แบบนี้ก็อาจถือว่าเกิน บางคนอาจจะมองว่าประชาชนจะได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแส แต่ก็ต้องเผื่อเอาไว้ด้วยว่า แล้วถ้าเขาไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด การที่เราออกไปแบบนั้นเขาเสียหายนะ กว่าที่เขาจะไปสู้คดี แล้วถ้าเขาบริสุทธิ์ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดความเสียหายนั้นมันก็อาจจะเกินกว่าที่จะเยียวยา
เราลองนึกว่าเราอยู่ในที่นั่งนั้นแล้วเราถูกกล่าวหา แล้วก็มีการไปเผยแพร่ ไปประจาน หรือไปขึ้นป้าย หรือไปเผยแพร่ทางสื่อว่าคนนี้เป็นอาชญากร เป็นผู้กระทำผิดอันนี้อาจจะเสียหาย แล้วก็ไม่ใช่เสียหายต่อเขาอย่างเดียว มันก็ไปกระทบกับครอบครัว หรือว่าลูกเมีย หรือคนอื่นๆ ด้วย อันนี้ก็เลยคิดว่าโดยหลักการ ถ้าเป็นหมายจับมันก็เป็นลักษณะผู้ต้องหา ควรจะสื่อสารกันในส่วนของเจ้าหน้าที่”
แต่บางอันมันก็จะมี อย่างกรณีที่ร้ายแรงและเป็นอันตรายมากๆ ต่อสาธารณะ บางทีมันก็จะมีเหมือนประกาศจับอันนั้นสมมุติศาลตัดสินแล้วหลบหนีไป อันนี้ก็ชัดเจนว่าศาลได้ตัดสินไปแล้วว่ามีความผิดแล้วก็หลบหนี หรือคดีมันร้ายแรงมากๆ อันนี้น้ำหนักของความปลอดภัยสาธารณะก็จะเข้ามามากขึ้น แต่กระนั้นเวลาสื่อสารออกไป บางทีเขาก็จะมีการปิดข้อมูลส่วนบุคคลบางอย่าง ก็อาจจะบอกในแง่รูปพรรณสัณฐาน ให้เห็นหน้าตา บอกส่วนสูง ผิวสี เป็นคนมีภูมิลำเนาอย่างไร แต่ข้อมูลบางอย่างเขาก็อาจไมได้บอก เพื่อที่จะยังคุ้มครองข้อมูลบางอย่างอยู่
- สรุปแล้วสื่อมวลชนสามารถทำอะไรได้บ้าง? : ผมคิดว่าวันนี้สื่อพัฒนาไปเยอะแล้วก็ระมัดระวังมากขึ้น สมัยก่อนเราอาจเห็นข่าวอาชญากรรมแล้วเห็นเรื่องการเปิดเผยหน้าตาของผู้ถูกกล่าวหาโจ่งแจ้ง แล้วก็แทบจะทุกสื่อ รวมทั้งบางทีก็อาจมีการใส่สีตีไข่ หรือใส่ความเห็นเข้าไปด้วย ระยะหลังผมคิดว่าระมัดระวังมากขึ้น มีการเบลอภาพ หรือมุมในการถ่ายภาพในการนำเสนอออกมาก็ระมัดระวังมากขึ้นทั้งภาพอุจาด ทั้งการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา การไม่เปิดเผยอัตลักษณ์ของผู้ต้องหา
อย่างไรก็ตาม อาจมีบางสื่อที่ยังหลุดหรือระมัดระวังไม่เพียงพอ รวมทั้งของเจ้าหน้าที่ตำรวจเองด้วย คือเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ถูกห้ามเรื่องของการเอาผู้ต้องหามาแถลงข่าว หรือเอาผู้ต้องหาไปทำแผนประทุษกรรมแล้วก็เอาสื่อมาถ่ายทำ มาถ่ายทอดออกไป เพราะมันจะเหมือนเป็นการไปปรักปรำตัวเองว่าเป็นผู้กระทำผิดแล้ว แต่บางทีมันก็ยังมีเกิดขึ้นอยู่อันนี้เราก็จะทักท้วงไป เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รัฐธรรมนูญ และประมวลจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพของสื่อด้วย
- ปัจจุบันเป็นยุคของสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เกิดบุคคลที่มีอิทธิพลในสื่อนี้ (Influencer) ตั้งเพจ ตั้งช่องของตนเองขึ้นมา หลายครั้งเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องหาแบบไม่เซ็นเซอร์ (ในขณะที่สื่อมวลชนแบบดั้งเดิมยังพยายามเซ็นเซอร์) ซึ่งพบว่าประชาชนผู้เสพสื่อก็ชอบเสียด้วย ตรงนี้อยากอธิบายให้เข้าใจเรื่องสิทธิของผู้ต้องหาอย่างไรบ้าง? : เรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน คือถ้าเราไม่เจอด้วยตัวเองเราก็อาจไม่รู้สึก ถ้าไม่ตกที่นั่งที่ถูกกล่าวหาแล้วยังรอกระบวนการยุติธรรมในการพิสูจน์อยู่ เราอาจจะไม่รู้สึก
ทีนี้ผมคิดว่าวันนี้สื่ออาชีพหรือสื่อหลักๆ ระมัดระวังเรื่องนี้มากขึ้นโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ แต่สื่อโทรทัศน์บางรายการซึ่งอาจมีลักษณะการนำเสนอที่เป็นการใส่ความคิดเห็นเข้าไปบ้าง หรือมีความเป็นดราม่าในข่าวบ่อยครั้งก็เหมือนกับเป็นลักษณะไปชี้นำ เปิดเผยอัตลักษณ์ หรือพิพากษา ซึ่งจริงๆ ไม่ถูก เราก็คิดว่าสื่อหลักก็ต้องทักกันแล้วก็ช่วยกันดูแล แต่สื่อหลักมีการกำกับกันเองอยู่
“แต่ทีนี้สื่อโซเชียลโดยทั่วไปเป็นเรื่องที่ประชาชนสื่อสารกัน บางทีมันก็มีลักษณะเหมือนกับว่าเป็นความรู้สึกว่าอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ก็ต้องติงหรือต้องสะกิดกันว่าอย่าไปด่วนพิพากษา หรือว่าต้องให้ความเป็นธรรมด้วย ต้องฟังหูไว้หู แล้วก็ส่วนหนึ่งผมคิดว่าเราต้องเสริมบทบาทของสื่อหลักให้เป็นหลัก อย่างทุกวันนี้มันมีข่าวลวง-ข่าวปลอม (Fake News) เยอะมาก เราก็จะต้องเสริมให้สื่อหลักเป็นที่พึ่งได้ ข่าวนี้จริงหรือเปล่า? ควรจะต้องกลับไปเช็คที่สื่อหลัก ว่าสื่อหลักเขานำเสนอว่าอย่างไร
เหมือนกันในแง่จริยธรรมในสื่อออนไลน์ เราก็ควรจะต้องมีสื่อหลักเป็นหลักให้ในเรื่องว่าสื่อหลักเขานำเสนอแบบนี้ เขามีจริยธรรมกำกับอยู่ สื่อโซเชียลมีเดียก็ควรจะต้องได้มองสื่อหลักเป็นแบบอย่าง แต่ไม่ใช่สื่อหลักก็กระโจนลงมาเล่นกับสื่อออนไลน์ ก็ออนไลน์ยังเล่นได้เลยทำไมเราไม่ไปเล่นแบบนั้นบ้าง? เพราะปรากฏว่าคนชอบแล้วก็คนดูเยอะ คือถ้าไปเล่นแบบนั้นก็พากันลงต่ำ ผมใช้คำนี้แล้วกัน โอเค! โซเชียลมีเดียเล่นแบบนี้ได้ คนชอบ เราก็ไปเล่นบ้าง ซึ่งผมว่าอันนี้ไม่ถูก”
สื่อหลักควรจะเป็นหลักให้กับสังคม แล้วก็ยกระดับการสื่อสารของบ้านเราให้มันสร้างสรรค์ ไม่ไปพิพากษาไม่ไปใช้ระบบศาลเตี้ย ไม่ไปสร้าง Hate Speech (ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง) หรือไป Bully (ดูหมิ่นเหยียดหยาม) คือควรจะต้องสื่อสารกันด้วยความสร้างสรรค์ แล้วก็ให้พื้นที่ในการสื่อสารเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย และเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถได้ใช้ประโยชน์ได้ในแง่ของการรับรู้ข่าวสาร ได้องค์ความรู้และได้สิ่งดีๆ แทนที่จะเต็มไปด้วยข่าวลวง-ข่าวปลอม หรือเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ฝักฝ่ายและความเกลียดชัง ซึ่งแบบนั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องไม่ดี!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี