ป.ป.ช.เผยคนตื่นตัวยอดร้องเรียนทุจริตเพิ่มขึ้น ไม่รอวัวหายล้อมคอก เซฟเงินรัฐได้กว่า 3 แสนล้านบาท ขณะประชาชนแจ้งเบาะแสปี 2566 เพิ่ม 3 เท่าตัว "นิวัติไชย"หวังเห็นความร่วมมือกันทุกฝ่าย พร้อมปรับ mind set ไม่ยอมรับปล่อยคนทุจริตลอยหน้าลอยตา แถมมีคนยกมือไหว้ แง้มปีหน้าใช้สูตรประเมิน ITA ใหม่ แยกกลุ่มองค์กรยุติธรรม-บริการ
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดกิจงานประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และพิธีมอบรางวัล ITA AWARDS 2024 (ITA DAY 2024 : Transparency with Quality)
โดย นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวตอนหนึ่งว่า ป.ป.ช.ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามายัง ป.ป.ช.ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งคนที่มาร้องเรียนแต่พอเรียกมาให้ข้อมูลก็ไม่มา หรือไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมอะไรให้ เพราะผู้ร้องมองว่าเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่ต้องไปสอบสวนหาข้อเท็จจริง ซึ่งการตรวจสอบอาจจะยาก แต่ ป.ป.ช.ต้องข้อเท็จจริงทุกเรื่องที่ร้องเข้ามาว่ามีมูล มีพยานหลักฐานหรือไม่ หากมีมูลก็จะรับไว้พิจารณาต่อไป
"ที่ผ่านมาเราจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลว่าหน่วยงานไหนถูกร้องเรียนมากที่สุด ร้องเรียนเรื่องอะไร ซึ่งจะพบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ตำรวจ จะถูกร้องเรียนเยอะ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีการทุจริตเยอะ เพราะการถูกร้องเรียนเยอะเป็นเพราะเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจ มีกฎหมาย ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากเลยมีรื่องร้องเรียนสูง แต่ไม่ได้หมายความว่าผิดเยอะไปด้วย" นายนิวัติไชย กล่าว
เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวว่า การตรวจสอบป้องกันของ ป.ป.ช.นั้น ไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขได้ว่าสามารถระงับความเสียหายของการทุจริตไปได้เท่าไหร่ เพราะแต่ละโครงการจะมีการตั้งงบฯ และมีการทุจริตที่อาจจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะไปคิดตรงนั้นหลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด
"แต่สำหรับ ป.ป.ช.เราดูแค่งบประมาณตั้งต้นสำหรับโครงการนั้นๆ อย่างเรื่องที่ร้องเรียนเข้าซึ่ง ป.ป.ช.มีการดำเนินการตรวจสอบโครงการต่างๆ ไปแล้วมูลค่าโครง การรวมราว 3 แสนล้านบาท แต่ไม่อาจบอกได้ว่าการทุจริตลดลงหรือไม่ อย่างที่มีร้องเข้ามากว่า 9,000 เรื่องนี้ เราต้องไปดูด้วยว่า เรื่องร้องเรียนเหตุการณ์ของปีไหน รัฐบาลไหน แต่แนวโน้มการร้องเรียนในปีปัจุบันเพิ่มมากขึ้น สะท้อนว่าคนกล้าร้องเรียนมากขึ้น ไม่ได้รอให้เกิดความเสียหาย นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังมีการตั้งศูนย์ CDC เพื่อตรวจสอบตรวจสอบป้องกันก่อนจะเกิดการทุจริตคอรัปชั่นด้วย ซึ่งตรวจสอบไปกว่า 1,000 เรื่อง รวมมูลค่าโครงการกว่า 1 แสนล้านบาท ที่เรายับยั้งได้ก่อนทุจริต บางโครงการฝืนทำต่อแต่น้อย และมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินการของเขา แต่ถ้าใครไม่ปรับและฝืนดำเนินการ ก็จะเข้าสู่กระบวนการสอบสวน ไต่สวน ที่สำคัญปีนี้รัฐบาลสนับสนุนเจ้าหน้าที่การข่าว และเจ้าหน้าที่ป้องกันเป็นร้อยคน"
นายนิวัติไชย กล่าวต่อว่า สำหรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐปีนี้จะเห็นว่าแต่ละหน่วยงานมีคะแนนสูงขึ้นประมาณ 91% จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 87% อย่างไรก็ตาม แม้เปอร์เซ็นต์เพิ่มสูงขึ้น แต่ยุทธศาสตร์กำหนดไว้ที่ 100% ดังนั้น ยังต้องทำงานกันมากขึ้น ล่าสุด ป.ป.ช.อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อหารูปแบบการประเมินค่า ITA ใหม่ โดยแยกหน่วยงานยุติธรรม เช่น ศาล ทหาร ตำรวจ กับอีกกลุ่มคือหน่วยงานด้านบริการ เพราะการประเมินโดยใช้ ITA ตัวเดียวประเมินรวมทุกหน่วยงานอาจจะสร้างการได้เปรียบเสียเปรียบกันได้ โดยคาดว่า ตัวประเมินใหม่นี้จะสามารถใช้ได้ในปีหน้า
"เรื่องการทุจริตนี้ ต้องมีการปรับมายด์เซ็ต คนเราบางครั้งยอมรับทุจริตเพื่อให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์บ้าง หากยังมีความคิดนี้อยู่ ประเทศชาติก็ไปไหนไม่ได้ การทุจริต คอรัปชั่นจะกลายเป็นการยอมรับ ทั้งๆที่เราต้องไม่ยอมรับ ไม่เพิกเฉย ต้องมาชี้ช่องเบาะแส ออกมาต่อต้าน รณรงค์ หากคนทุจริตยังลอยหน้าลอยตาในสังคม มีคนยกมือไหว้อยู่แบบนี้ไม่ได้ ต้องปรับมายด์เซ็ต ต้องปลูกฝังเยาวชน ซึ่งเรามีหลักสูตรต้านทุจริต ที่ครม.เห็นชอบให้ใช้ในสถานศึกษา รวมทั้งภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งสำนักงานสถิติได้ทำตัวชี้วัดออกมาพบว่าเยาวชนมีความรู้เพิ่ม 90% มีพฤติกรรมดีขึ้น แยกแยะประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนตัวได้" นายนิวัติไชย กล่าว
เลขา ป.ป.ช.ยังกล่าวอีกว่า การทำงานของ ป.ป.ช.ที่ผ่านมา มีความกดดัน เพราะประชาชนคาดหวังสูง อยากเห็นเรื่องราวคลี่คลายเร็ว อยากเห็นการชี้ไปทางนั้น ไปทางนี้ แต่ในการทำงานไม่ใช่อย่างนั้น เพราะทุกอย่างอยู่ที่พยานหลักฐาน ที่สำคัญเรื่องทุจริตเป็นเรื่องของประเทศ ไม่ใช่ ป.ป.ช.อย่างเดียว จึงต้องได้รับความร่วมมือจากเครือข่าย หน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาชน แต่ที่ผ่านมา พอตัวชี้วัดการทุจริตของประเทศตกลง คนก็จะโทษ ป.ป.ช.ว่าทำงานไม่ดี แต่ทั้งที่จริงแล้ว ป.ป.ช.ไม่ใช่คนทำทุจริต แต่ปัญหาเกิดจากหน่วยงานภายนอก หรือเอกชนที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐทำความผิด แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเราปฏิเสธไม่ได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายบอกว่าเป็นหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช.ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต นี่คือความคาดหวังของสังคม แต่ ป.ป.ช.ก็คาดหวังความร่วมมือจากทุกฝ่ายเช่นกันเพื่อให้ประเทศปลอดทุจริตไปพร้อมๆ กัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้าย พิธีกรบนเวทีได้กล่าวสรุป ว่า มีการแจ้งเบาะแสเข้ามายัง ป.ป.ช.ในปี 2566 จำนวน 245 เพิ่มจากปี 2565 ถึง 3 เท่าตัว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี