31 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 น. นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะลานีญา ทำให้ในช่วงเดือนกรกฎาคม มีฝนตกมากขึ้นจากอิทธิพลของร่องอากาศต่ำที่เลื่อนกลับลงมาพาดผ่านประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้นเป็นระยะ ๆ และอาจจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนที่เข้ามาใกล้หรือเข้าสู่ประเทศไทยได้ตลอดแนวด้านตะวันออกของประเทศ ส่งผลให้ครึ่งปีหลังของประเทศไทยมีแนวโน้มฝนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ในบางพื้นที่ยังคงมีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร ด้านอุปโภค-บริโภคของเกษตรกร ประชาชนผู้ใช้น้ำ และส่งผลให้เขื่อน/อ่างเก็บน้ำในบางพื้นที่มีปริมาณน้ำใช้การต่ำกว่า 30% หรือมีปริมาณน้ำกักเก็บขั้นวิกฤตในช่วงเดือนกรกฎาคม (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 จากกรมชลประทาน) เช่น เขื่อนแม่มอก มีปริมาณน้ำในอ่างกักเก็บ 28% เขื่อนน้ำพุง 23% เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 19% เขื่อนกระเสียว 25 % และเขื่อนคลองสียัด 23%
นายสุพิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงมีการวางแผนให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ขึ้นบินปฏิบัติการทำฝน และเติมน้ำในเขื่อนที่ขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง และกำชับเน้นย้ำให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนเพียงพออยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร และทรัพย์สินของประชาชน โดยมีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 3 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครสวรรค์ ดูแลพื้นที่ภาคกลางในเขตลุ่มรับน้ำเขื่อนเจ้าพระยา หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุรินทร์ ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจ.เชียงใหม่ ใช้อุปกรณ์การพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ (ground based generator) ติดตั้งในบริเวณเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 6 วัน 23 เที่ยวบิน มีรายงานฝนตกทั้งสิ้น 14 จังหวัด ได้แก่ จ.สุรินทร์ นครสวรรค์ ลพบุรี เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี กำแพงเพชร และจ.มหาสารคาม และมีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน และอ่างเก็บน้ำ 28 แห่ง เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำทับเสลา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังคงเน้นย้ำให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละพื้นที่ ติดตาม ประเมินผลสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ประชาชนผู้ใช้น้ำ ทั้งนี้สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละพื้นที่ และขอรับบริการฝนหลวง ผ่านช่องทางเพจเฟซบุ๊ก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, Instagram, Tiktok, X ; @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100-18
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี