เสียหายเฉียดหมื่นล้าน! “อนุกมธ.สางปัญหาปลาหมอคางดำ”เชิญหน่วยงานถกคุยข้อกฎหมาย เล็งให้ประชาชนฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ ซัด 7 มาตรการ แก้ไม่ตอบโจทย์ บี้ นายกฯ เร่งแก้ปัญหา อย่าให้ซ้ำรอยเงียบหายเข้ากลีบเมฆแบบ ‘หมูเถื่อน’ ขณะที่ อธิบดีกรมประมงยืนยัน“ปลานิล” และ “ปลาหมอคางดำ” ไม่สามารถผสมข้ามสายพันธุ์ได้
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 1 สิงหาคม 2567 ที่รัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เปิดเผยว่า วันนี้ กมธ.ได้เชิญสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มาพูดคุยเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม ที่เราจะสามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม นายวิษณุไม่ได้มาร่วมประชุม ส่วนที่ต้องเชิญมานั้น เนื่องจากประชาชนเตรียมที่จะฟ้องหน่วยงานภาครัฐ หากหน่วยงานยังนิ่งนอนใจ ไม่ดำเนินการใดๆ ก็ต้องแบกความรับผิดชอบ และภาษีของประชาชน กมธ.จึงต้องเดินหน้า เพื่อหาต้นตอสาเหตุของเรื่องนี้ให้ได้ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องกฎหมายทั้งหมด และจะส่งหนังสือไปยังหน่วยงานและหัวหน้าส่วนราชการ ทั้งกรมประมง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายณัฐชา กล่าวว่า ในส่วน 7 มาตรการของหน่วยงานภาครัฐ งบประมาณ 450 ล้านบาท ตนมองว่ายังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร เพราะเป็นสิ่งที่สังคมทำอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เขารอคอย คือต้นตอสาเหตุ และการประกาศเขตภัยพิบัติ เพื่อปั๊มหัวใจเกษตรกร ซึ่งเรายังไม่ได้ยินความชัดเจนจากฝ่ายบริหารเลย
“กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศอย่างมหาศาล ไม่สามารถปฏิเสธได้ ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ต้องยืนหยัดเคียงข้างเกษตรกร เกษตรกรเปรียบเสมือนลูกค้า ส่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย ต้องบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนทั้ง 17 จังหวัด รวมถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาล ต้องนั่งหัวโต๊ะ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ อย่าให้เขาครหาหาว่าแอ็คชั่นทุกเรื่อง แต่จุดจบเหมือนกัน เพราะหมูเถื่อนก็เงียบหาย ผมจะไม่ยอมให้ปลาเถื่อน จบแบบหมูเถื่อน” นายณัฐชา กล่าว
นายณัฐชา กล่าวอีกว่า ส่วนคณะกรรมการ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำเข้าปลาหมอคางดำ ที่รัฐบาลได้ตั้งขึ้นมานั้น ทุกวันนี้ตนยังตามหาคณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่เจอ แม้ว่าจะครบกําหนด 7 วันแล้ว ใช้งบประมาณถึง 450 ล้านบาท แต่ยังไม่มีความจริงใดๆ ปรากฏ ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าหน่วยงานรัฐมีความจริงจังกับประชาชนแค่ไหน สิ่งที่สัญญาไว้ยังไม่คืบหน้า ดังนั้นขอให้สังคมจับตา
เมื่อถามว่า มีการประเมินมูลค่าความเสียหายหรือยัง นายณัฐชา กล่าวว่า มีตัวอย่างชัดเจนแค่ตำบลเดียว ซึ่งคาดว่าเสียหายปีละ 100 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้ประเมินมูลค่าทั้งหมด แต่คร่าวๆ อาจถึง 10,000 ล้านบาท
เมื่อถามถึงกรณีที่บริษัทเอกชน มีการฟ้องร้องสื่อที่นำข้อมูลมาเปิดเผย นายณัฐชา กล่าวว่า เรายํ้าตลอดว่า พื้นที่ที่จะนำเสนอข้อมูลได้ดีที่สุด คือสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นหากต้องการโต้แย้ง นำความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณะ ก็ควรมาให้ข้อมูลกับ กมธ. ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ ยินดีนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับของบริษัทเอกชน และหากอยากให้ข้อมูล เราก็ยินดีที่จะส่งหนังสือเชิญรอบที่ 3
เมื่อถามว่า ยืนยันหรือไม่ว่า กมธ.จะไม่ใช่กระบวนการฟอกขาวให้บริษัทเอกชน นายณัฐชา กล่าวว่า เราต้องการบรรเทาความโกรธของสังคม โดยการทำความจริงให้ปรากฏ ว่าใครคือต้นตอสาเหตุ ส่วนจะต้องมีผู้ถูกดำเนินคดีหรือไม่นั้น ยืนยันว่า กมธ. ต้องการหาผู้รับผิดชอบ ซึ่งปลายทางคือการดำเนินคดี วันนี้ปลาหมอคางดำระบาดไป 17 จังหวัด จากที่ตอนเริ่มต้นมี 2 จังหวัด การนิ่งเฉยทำให้เรื่องนี้บานปลาย จนจะกลายเป็นปัญหาระดับภูมิภาค เราไม่อยากให้เกิดขึ้น
วันเดียวกัน นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากกรณี เกษตรกรวังกุ้งคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ เข้าไปทอดแหจับปลาในบ่อเลี้ยง ปรากฏว่าพบปลาที่มีลักษณะผสมกันระหว่าง ปลาหมอคางดำ กับ ปลานิล คือ ลักษณะเหมือนปลานิลแต่ที่คางมีสีดำ ซึ่งแตกต่างจากปลานิลทั่วไป ที่มีลักษณะตัวอ้วนกลม คางไม่มีสีดำ และตั้งข้อสังเกตสงสัยว่าจะมีการกลายพันธุ์เป็น “ปลานิลคางดำ” หรือไม่ ถ้าหากกลายพันธุ์จริง จะมีผลกระทบกับเกษตรกรอย่างไร จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่มานำตัวอย่างไปวิจัยจะได้หาแนวทางป้องกันแก้ไข เป็นการเร่งด่วนนั้น
จากการตรวจสอบทางข้อมูลยืนยันว่า ปลานิล หรือ Nile tilapia (Oreochromis niloticus) และปลาหมอคางดำ หรือ Blackchin tilapia (Sarotherodon melanotheron) เป็นปลาที่อยู่คนละสกุล (genus) ซึ่งลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ ปลานิลจะมีแก้มและตัวสีคล้ายกัน หางมนและมีลายเส้น ส่วนปลาหมอคางดำ ใต้คางจะมีจุดสีดำ หางเว้า และไม่มีลวดลาย อีกทั้งพฤติกรรมการฟักไข่และดูแลลูกปลาก็มีความแตกต่างกันด้วย โดยในปลานิล ปลาเพศเมียมีพฤติกรรมดูแลไข่และตัวอ่อน ส่วนในปลาหมอคางดำ ปลาเพศผู้มีพฤติกรรมดูแลไข่และตัวอ่อน ซึ่งความแตกต่างทางชีววิทยาดังกล่าวข้างต้น ทำให้ในธรรมชาติปลาทั้งสองชนิดจะไม่ผสมข้ามพันธุ์
ดังนั้น ความน่าจะเป็นในการเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ในธรรมชาติมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก และยังไม่พบข้อมูลหลักฐานทางวิชาการที่ระบุการผสมข้ามพันธุ์ในธรรมชาติระหว่างปลาทั้ง 2 ชนิดประกอบกับเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2567
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมประมงได้เคยทดลองเลี้ยงปลานิล ปลาหมอคางดำ ปลาหมอเทศ ร่วมกัน เพื่อศึกษาว่า หากอยู่ในแหล่งอาศัยเดียวกันจะสามารถผสมข้ามสายพันธุ์หรือไม่ ซึ่งผลการทดลองปรากฏว่า ไม่มีการผสมข้ามพันธุ์กัน อีกทั้ง ยังพบปลานิลแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวโดยกัดปลาหมอคางดำด้วย ดังนั้น ความกังวลในเรื่องของการกลายพันธุ์ที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์นั้นจึงเป็นไปไม่ได้ ในส่วนภาพเปรียบเทียบรูปร่างที่ปรากฏในข่าวนั้น สามารถแยกชนิดจากลักษณะภายนอกได้อย่างชัดเจน ส่วนการที่จะระบุว่าปลาที่ปรากฎในข่าวเป็นปลาลูกผสมหรือไม่ ต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดในห้องปฏิบัติการ ทั้งด้านอนุกรมวิธานและทางอณูพันธุศาสตร์ โดยนักวิชาการที่มีความรู้เฉพาะทาง
อย่างไรก็ตาม เพื่อความสบายใจของพี่น้องเกษตรกรและประชาชน ได้มอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสมุทรปราการ ลงพื้นที่ไปยังบ่อเลี้ยงที่พบปลาดังกล่าวและเก็บตัวอย่างปลาเพื่อนำมาตรวจสอบทางวิชาการที่ห้องปฏิบัติการอนุกรมวิธานต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี