รอง อสส."จุมพล"จับมือรอง อสส.อินโดฯเข้าพบอัยการสูงสุดบรูไน จับมือตั้งองค์กรอัยการอาเซียน เผยเข้าพบ อสส.ครบทุกประเทศแล้ว ทุกประเทศเห็นพ้องฉันทามติ เตรียมทำแผนหารือเลขาธิการอาเซียนต่อ
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่กรุงบันดาเสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ รองอัยการสูงสุด (รอง อสส.) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนอัยการอาเซียน พร้อมด้วย Dr. R. Narendra Jatna รองอัยการสูงสุดแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมคารวะแลเข้าพบหารือกับ H.E. Datin Seri Paduka Hih Nor Hashimah อัยการสูงสุดแห่งราชอาณาจักรบรูไน ดารุสซาลาม โดยคณะผู้แทนอัยการอาเซียนได้แสดงความยินดีกับ H.E. Datin Seri Paduka Hjh Nor Hashimah ที่เข้ารับตำแหน่งอัยการสูงสุดแห่งราชอาณาจักรบรูไน ดารุสซาลาม ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้
และคณะอัยการอาเซียนได้ชี้แจงความเป็นมาของความริเริ่มบางแสน ค.ศ.2023 (Bang Saen Initiative 2023) ซึ่งเป็นข้อเสนอของสำนักงานอัยการสูงสุดไทยในการก่อตั้งองค์กรอัยการอาเซียน ภายใต้กฎบัตรอาเซียน เพื่อให้เป็นองค์กรความร่วมมือของอัยการในภูมิภาคอาเซียนในการประสานความร่วมมือปราบปรามและดำเนินคดีอาชญากรรมข้ามชาติในภูมิภาค การช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา การแสวงหาพยานหลักฐานข้ามแดน การติดตามริบทรัพย์สินในต่างประเทศ และการส่งผู้ร้ายข้ามแดน นอกจากนั้นยังสามารถทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนพนักงานอัยการไปศึกษาหรือปฏิบัติงานในสำนักงานอัยการของอีกประเทศ และการฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาศักยภาพของพนักงานอัยการร่วมกัน ภายหลังการหารือ H.E. Datin Seri Paduka Hjh Nor Hashimah ได้เห็นพ้องกับรูปแบบการก่อตั้งองค์กรอัยการอาเซียนตามที่คณะผู้แทนได้ชี้แจง การประชุมหารือเพื่อก่อตั้งองค์กรอัยการอาเซียนครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 - 18 สิงหาคม 2566 โดยความริเริ่มของสำนักงานอัยการสูงสุดไทย ที่บ้านแหลมแท่น บางแสน จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมก่อตั้งองค์การอาเซียนเมื่อปี พ.ศ.2510
ที่ประชุมหารืออัยการอาเซียนครั้งแรกประกอบด้วยผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดของประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ มีความเห็นร่วมกันให้ริเริ่มศึกษารูปแบบความเป็นไปได้ในการก่อตั้งองค์กรอัยการอาเซียนภายใต้กฎบัตรอาเซียน และได้ตกลงจัดทำความริเริ่มบางแสน ค.ศ.223 (Bang Saen Initiative 2023) ตามข้อเสนอของสำนักงานอัยการสูงสุดไทย เพื่อเป็นข้อผูกพันในการเริ่มศึกษารูปแบบการก่อตั้ง
ต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุดอินโดนีเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมหารือครั้งที่ 2 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 25 - 26 เมษายน 2567 ที่ประชุมส่วนมากเห็นพ้องกับรูปแบบการก่อตั้งภายใต้กฎบัตรอาเซียน แต่ยังมีบางประเทศที่ขอระยะเวลาศึกษาเพิ่มเติม ทำให้คณะอัยการอาเซียนที่เห็นพ้องกัน
โดยการนำของสำนักงานอัยการสูงสุดไทยต้องเดินทางไปพบผู้บริหารของสำนักงานอัยการสูงสุดประเทศต่างๆ เช่น สปป.ลาว สิงคโปร์ และบรูไน ดารุสซาลาม เพื่ออธิบายความเป็นมาและประโยชน์ขององค์กรอัยการอาเซียนที่จะก่อตั้งขึ้น จนในที่สุดผู้บริหารของสำนักงานอัยการสูงสุดทุกประเทศเห็นพ้องกัน จนได้ฉันทามติ (Consensus) ในรูปแบบการก่อตั้งองค์กรอัยการอาเซียน ซึ่งจะได้ร่วมกันจัดทำแผนการรายละเอียดและนำหารือกับสำนักงานเลขาธิการอาเซียนต่อไป
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี