‘วราวุธ’เร่งจัดระเบียบ-ปรับปรุงกฎหมายควบคุม‘ขอทาน’ให้ทันสมัย จ่อชงเข้าครม. เตรียมรณรงค์‘หยุดให้=หยุดขอทาน’ จัดทำเป็น 5 ภาษา
6 สิงหาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยถึงสถานการณ์และการป้องกันแก้ไขปัญหาการขอทาน ทั้งนี้ จากการรวบรวมสถิติสถานการณ์การขอทานทั่วประเทศ จากระบบฐานข้อมูลจัดระเบียบคนขอทาน ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2557 - 31 ก.ค. 2567 พบว่า มีผู้ทำการขอทานทั้งสิ้น 7,635 ราย เป็นคนไทย 5,001 ราย (ร้อยละ 65) เป็นต่างด้าว 2,634 ราย (ร้อยละ 35) และในเฉพาะปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พบว่ามีผู้ทำการขอทาน ทั้งสิ้น 506 ราย แบ่งเป็นคนไทย 331 ราย และต่างด้าว 175 ราย พื้นที่ที่พบผู้ทำการขอทานส่วนใหญ่มีลักษณะกระจุกตัวในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และแหล่งท่องเที่ยว
นายวราวุธ กล่าวว่า สาเหตุของการทำการขอทานนั้น ประกอบด้วย 1.ข้อจำกัดด้านร่างกาย จิตใจ เกิดจากความพิการทางร่างกายหรือความบกพร่องทางสติปัญญา 2. ปัจจัยด้านการศึกษา ขาดโอกาสในการศึกษาที่จะไปประกอบอาชีพที่มั่นคง 3.อิทธิพลความเชื่อ การให้เงินขอทานเป็นการทำบุญ และ 4.ค่านิยมของชุมชนและแรงจูงใจว่าทำรายได้ดีโดยไม่ต้องลงทุน
ทั้งนี้กระทรวง พม. ได้ดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมขอทาน โดย กระทรวง พม. มีหน้าที่ในการคัดกรอง คุ้มครอง และส่งต่อ ดังนั้น การดำเนินการจึงเป็นการดำเนินการภายใต้ความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และองค์กร NGOs โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการป้องกัน และการควบคุม โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ได้แก่ เทศกิจ ตำรวจ ตำรวจ ตม. ตำรวจ ปคม. เทศบาลนคร เมืองพัทยา 31 แห่ง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ องค์การเฟรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล มูลนิธิเอ – ทเวนตี้วัน (A-21) มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก และสถาบันการศึกษา ซึ่งในการลงพื้นที่จัดระเบียบขอทาน กระทรวง พม. จะประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลงพื้นที่จัดระเบียบขอทาน หากพบขอทานผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ มีแผนอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่จาก พม. เทศกิจ อปท. และการพัฒนาหลักสูตรการอบรมให้กับตำรวจและฝ่ายปกครอง ถอดบทเรียนการดำเนินงานจังหวัดที่ไม่พบผู้ทำการขอทาน ต่อเนื่อง 3 ปี จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก เพชรบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี สตูล ลำปาง นครพนม น่าน และพังงา ซึ่งการจัดประชุมและทำแผนบูรณาการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดที่มีผู้ทำการขอทานเพิ่มขึ้น จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ ระยอง ภูเก็ต ลพบุรี กำแพงเพชร และนครปฐม
นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับแผนการจัดระเบียบผู้ทำการขอทานนั้น การดำเนินการเชิญตัวผู้ทำการขอทาน ถือเป็น “การควบคุมตัว” ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ต้องมีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวขณะเชิญตัวจนถึงการส่งตัวให้กับพนักงานสอบสวน จึงต้องมีตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงด้วยทุกครั้ง ดังนั้น ในการจัดระเบียบขอทานจึงต้องมีการจัดทำแผนการลงพื้นที่ โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เดือนส.ค. 67 มีแผนจัดระเบียบในพื้นที่สำคัญ จำนวน 12 ครั้ง สำหรับในต่างจังหวัดมีแผนบูรณาการลงพื้นที่เดือนละอย่างน้อย 2 ครั้ง และในงานเทศกาลสำคัญ ตลอดจนเมื่อมีการรับแจ้งจากสายด่วน 1300 จะดำเนินการประสานตำรวจเพื่อลงพื้นที่ร่วมกัน
“นอกจากนี้ กระทรวง พม. ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร จะมีการรณรงค์สร้างความเข้าใจและสื่อสารมวลชน ในวันที่ 16 ส.ค.ณ หอศิลป์ กรุงเทพมหานคร จะมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์กับสังคม ภายใต้ธีม “ให้โอกาสเปลี่ยนชีวิต หยุดคิดก่อนให้ทาน” โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม ภายในงานมีวิดิทัศน์ประชาสัมพันธ์ สร้างการตะหนักรู้ด้านกฎหมาย เดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์ พร้อมแจก พัดโดยมีข้อความ “หยุดให้ = หยุดขอทาน” 5 ภาษา และจัดระเบียบขอทานทั่วประเทศ” นายวราวุธ กล่าว
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ กระทรวง พม. มีแนวทางในการทบทวนและปรับปรุงพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 และเสนอ (ร่าง) กฎหมายให้คณะกรรมการควบคุมการขอทานพิจารณา คาดว่ายกร่างได้ภายใน 6 เดือน ก่อนเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี