มทร.ล้านนา ตั้งเป้าพัฒนา-ผลิตบัณฑิตรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ ตอบโจทย์ระเบียงเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ ชู 4 พอร์ตการลงทุน เน้นปรับหลักสูตรทันสมัย เปิดหลักสูตรใหม่เท่าทันตลาดแรงงาน เศรษฐกิจ ยกระดับพนักงาน บุคลากรในสถานประกอบการผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต และผลิตนักศึกษา-บุคลากรมหาวิทยาลัย เป็นสตาร์ทอัพ เปิดบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
รศ.ดร.อุเทน คำน่าน รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา เปิดเผยว่า การผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์กับความต้องการของพื้นที่ภาคเหนือและประเทศนั้น มทร.ล้านนา ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ในการดำเนินโครงการ “การจัดตั้งแพลตฟอร์มอุทยานนวัตกรรม เทคโนโลยี และการสร้างกำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ” และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน ซึ่งได้มีการกำหนดแผนการพัฒนาและผลิตนักศึกษาไว้เสมือนกับการลงทุน หรือพอร์ตการลงทุน เพราะมหาวิทยาลัยเปรียบเหมือนกับองค์กรหนึ่งที่ไม่ได้แสวงหากำไรแต่ต้องอาศัยปัจจัยทั้งภายในหรือค่าเล่าเรียน และปัจจัยภายนอก อย่างงบประมาณแผ่นดิน การสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน
รศ.ดร.อุเทน กล่าวต่อว่า มทร.ล้านนา ได้กำหนดการผลิตนักศึกษา 4 พอร์ตการลงทุน ได้แก่ พอร์ตการลงทุนที่ 1 จะเป็นการพัฒนาตลาดเดิมบริการเดิมให้ดีขึ้นกว่าเดิมหรือการพัฒนา ปรับปรุงหลักสูตรที่มีอยู่ให้ทันสมัย ตอบรับความต้องการของผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นนักเรียนจบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รวมถึงหลักสูตรที่มีสภาวิชาชีพกำหนด และตลาดแรงงานทั้งในพื้นที่ภาคเหนือและของประเทศพอร์ตการลงทุนที่ 2 ผลิตนักศึกษารองรับตลาดใหม่ๆ อย่างหลักสูตรที่สามารถนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการ อาทิ วิศวกร เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ เพื่อให้บุคลากรที่เรียนจบไปแล้ว สามารถเพิ่มเติม พัฒนาทักษะตนเอง ภายใต้ความร่วมมือกับบริษัทเอกชนต่างๆ เช่น ความร่วมมือทางวิชาการกับบริษัทสยามมิชลิน จำกัด หรือ นิคมอุตสาหกรรมลำพูน เป็นต้น พอร์ตการลงทุนที่ 3ยกระดับ SME หรือนักธุรกิจผู้ประกอบการที่มีบริษัทของตนเองอยู่แล้ว และต้องการทรานฟอร์มธุรกิจให้เติบโตก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดมากขึ้น เช่น ธุรกิจชาที่ทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ เมื่อมาถึงรุ่นลูกต้องมีการนำเทคโนโลยี องค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ หรือผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างธุรกิจใหม่ และพอร์ตการลงทุนที่ 4 พัฒนานักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้เป็นสตาร์ทอัพ (Startup) หรือ เปิดบริษัท มหาวิทยาลัยพร้อมที่จะช่วยผลักดัน ลงทุนด้วยฐานนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
“มหาวิทยาลัยมีการสำรวจถึงแนวโน้มความต้องการกำลังคนในอนาคต ซึ่งไม่ได้เพียงตอบโจทย์ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือเท่านั้น แต่ 4 พอร์ตการลงทุนนี้จะผลิตบัณฑิตรองรับความต้องการของประเทศร่วมด้วย เพราะต่อให้ มทร.ล้านนา ตั้งอยู่ใน 6 จังหวัด แต่การพัฒนาผลิตบัณฑิต และเพิ่มเติมทักษะ ส่งเสริมการเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ต้องเป็นการยกระดับพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจนในพื้นที่ร่วมด้วย และแก้ปัญหาในชุมชน สร้างนวัตกรรมทั้งการแปรรูปอุตสาหกรรมอาหาร การจัดการป่า และงานคราฟ ศิลปวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น ฉะนั้น ทุกคณะทุกวิทยาลัยของมทร.ล้านนา นักศึกษาและบุคลากรทั้ง 20,000 กว่าคน ของมหาวิทยาลัยจะขับเคลื่อนไปตามเป้าหมายเดียวกัน” รศ.ดร.อุเทน กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี