“3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” อันประกอบด้วย “ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส” เป็นพื้นที่ที่เมื่อมีการสำรวจปัญหา “ความยากจน” แล้วมักจะอยู่ในอันดับต้นๆ เสมอ เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผย 10 อันดับจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนรุนแรงที่สุดในปี 2565 พบว่า นราธิวาส อยู่ในอันดับ 2 ปัตตานี อันดับ 4 และยะลา อันดับ 7 ขณะที่ฐานข้อมูล ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ในปี 2566 พบว่า ยะลาอยู่ในอันดับ 6 ของจังหวัดที่มีจำนวนคนจนมากที่สุดในประเทศไทย เป็นต้น
แม้จะมีทรัพยากรและโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบที่เรื้อรังมาถึง 2 ทศวรรษ ภาพจำของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในสายตาคนภายนอก คือความรุนแรงและความสูญเสีย กลายเป็นข้อจำกัดของการตัดสินใจลงทุนหรือการเดินทางไปท่องเที่ยวเพราะหวั่นเกรงความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งปัญหาความยากจนที่น่าห่วงที่สุดคือ “ความจนข้ามรุ่น” พ่อแม่จนแล้วยังส่งต่อความจนไปยังลูกด้วย เพราะไม่มีกำลังเพียงพอจะให้ลูกได้เข้าถึงการศึกษาระดับสูงจนสามารถขยับเลื่อนฐานะหลุดพ้นจากความจนไปได้
“มันมีเรื่องหนึ่งที่คุยกันทั่วโลกคือวงจรความยากจน (Poverty Cycle) มันง่ายมากเลยซึ่งเราก็ทราบเด็กคนหนึ่งถ้าเกิดมาในสภาพครอบครัวที่ลำบากยากแค้น เขาต้องทุรนทุรายที่จะเอาชีวิตรอดไปในแต่ละวัน เด็กกลุ่มนี้โอกาสที่เขาจะเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ก็ไม่ง่าย แล้วการที่เขาจะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพด้วยก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ คือแค่เข้าถึงการศึกษาก็ว่ายากแล้ว การศึกษาที่มีคุณภาพแทบจะปิดโอกาสของเขาเลย”
รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม อนุกรรมการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในวงเสวนา “การพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อยุติความยากจนข้ามรุ่น ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ภายในงาน “Thailand Zero Dropout การศึกษาสร้างชีวิตใหม่ คืนพลเมืองคุณภาพสู่สังคม” ซึ่งจัดโดย กสศ. เมื่อเร็วๆ นี้ที่ อุทยานการเรียนรู้ยะลา (TK Park Yala) อ.เมือง จ.ยะลา ถึงความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาความยากจนกับการขาดโอกาสทางการศึกษาของเด็กและเยาวชน
เมื่อเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่นำไปสู่การขาดโอกาสเข้าถึงอาชีพการงานที่รายได้ดีและมีความมั่นคง และเมื่อคนเหล่านี้สร้างครอบครัว ก็มักจะเลือกคู่ครองในชนชั้นฐานะเดียวกัน สุดท้ายเมื่ออยู่ด้วยกันแล้วมีลูก
ชะตากรรมของเด็กที่เกิดมาก็มีแนวโน้มไม่ต่างจากพ่อแม่ ดังนั้น ภารกิจของ กสศ. อยู่บนคำถามที่ว่า “จะยุติวงจรความยากจนได้อย่างไร?” ซึ่งไม่มีทางออกใดที่เห็นผลอย่างยั่งยืนมากเท่ากับการให้การศึกษา
โดยมี 2 มิติ คือ 1.การหาทางให้เข้าถึงการศึกษาได้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมานโยบายของประเทศไทยมุ่งเน้นแต่การศึกษาในระบบ ไล่ตั้งแต่โรงเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาไปจนถึงมหาวิทยาลัยที่เป็นระดับอุดมศึกษา กระทั่งระยะหลังๆ เริ่มมีการพูดถึงการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นมากขึ้นออกนอกชั้นเรียนไปอยู่ในชีวิตจริงมากขึ้น กับ 2.การศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งแม้ กสศ. จะไม่ได้มีอำนาจอะไรมากมายแต่หน้าที่ของ กสศ. คือเป็นตัวกระตุ้นหรือคานงัด ให้หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าภาครัฐ เอกชน สื่อและสังคมทั้งประเทศเห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วม
รศ.ดร.ซุกรี กล่าวต่อไปว่า “ตามทฤษฎีแล้ว จังหวัดชายแดนภาคใต้ควรมีฐานะดีกว่าชายแดนภาคอื่นๆ ของประเทศไทย เพราะอยู่ใกล้ประเทศร่ำรวยอย่างมาเลเซีย”ในขณะที่ชายแดนภาคอื่นๆ ติดกับประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจช้ากว่าไทย แต่การที่ความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้น ย่อมหมายถึงการใช้โอกาสและศักยภาพที่มียังไม่เพียงพอ โดยพบว่า ระยะหลัง จำนวนชนชั้นกลางในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้น
ขณะที่เด็กรุ่นใหม่สามารถใช้ได้อย่างน้อย 2 ภาษา คือมลายูและไทย หรือหลายคนก็ใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นภาษาที่ 3 จากเดิมที่คนรุ่นก่อนใช้ภาษามลายูเป็นหลักก่อนจะมาเรียนภาษาไทยในภายหลังและใช้ได้ไม่ค่อยคล่อง ซึ่งหากศักยภาพนี้ถูกเอามาใช้อย่างจริงจัง เชื่อว่าสามารถที่จะเปลี่ยนจากการที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่กลุ่มท้ายตารางของประเทศ ให้ขยับขึ้นไปอยู่ตรงกลางหรือแม้แต่หัวตารางได้
รศ.ดร.ศิริพันธุ์ ศิริพันธุ์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นราธิวาส ยกตัวอย่าง“จุดเด่น” ของเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ “ภาษาอาหรับ” ที่สามารถใช้ได้ดี จึงออกแบบหลักสูตร “ประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล” เพราะเป็นงานที่มีความต้องการสูงในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ เป็นหลักสูตร 1 ปี แบ่งเป็นภาคทฤษฎี 5 เดือน และภาคปฏิบัติอีก 7 เดือน
“เราออกแบบหลักสูตรโดยรู้ว่าเด็กเหล่านี้ผ่านความยากจนมา เราก็เพิ่มเติมให้เขามีจิตอาสาที่จะดูแลผู้ป่วย-ผู้สูงอายุตามบ้าน เขาต้องมีจิตบริการ มีจิตเปี่ยมด้วยเมตตา ให้เขาได้เข้าใจชีวิตของความเจ็บป่วย เพราะเด็กเหล่านี้ต้องมีทัศนคติที่ดีกับวิชาชีพผู้ช่วยพยาบาล นอกจากนี้
เรายังร่วมกับสถานประกอบการในการที่ให้เด็กเหล่านี้มีทักษะทางด้านภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษ ตอนนี้เราเพิ่มภาษาจีน และปีนี้เราเพิ่มภาษาญี่ปุ่น เนื่องจากมีความต้องการจะให้เด็กของเราไปทำงานที่นั่นเยอะมาก” รศ.ดร.ศิริพันธุ์ ระบุ
รศ.ดร.ศิริพันธุ์ เล่าต่อไปว่าเยาวชนที่มาเรียนหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล มีความตั้งใจที่เมื่อหากทำงานแล้วจะนำรายได้กลับไปช่วยเหลือครอบครัวเพื่อให้ก้าวข้ามความยากจน และเป็นหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงเพราะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระงานของพยาบาลวิชาชีพได้มากอนึ่ง “เสียงสะท้อนของพ่อแม่ผู้ปกครองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบการถามหาหลักสูตรระยะสั้น ค่าใช้จ่ายไม่แพงและจบมามีงานทำ” เท่ากับว่า คณะพยาบาลศาสตร์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ สามารถออกแบบหลักสูตรที่ตอบโจทย์ทั้งผู้เรียน พ่อแม่ผู้ปกครองและสถานประกอบการ
หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ ผู้เรียนจะถูกส่งไปฝึกปฏิบัติในโรงพยาบาล 12 แห่งทำให้ได้เห็นการทำงานในสภาพจริง มีการฝึกสอนให้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ กลายเป็นคุณสมบัติพิเศษอีกอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ ปัจจุบัน กสศ. ได้ให้ทุนสนับสนุนเยาวชนที่มีฐานะยากจนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ได้มาเรียนหลักสูตรดังกล่าวแล้ว 141 ทุน
สมภพ เพชรภักดี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เปิดเผยว่า วิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี เป็นสถาบันระดับอาชีวศึกษา เปิดสอนวิชาการเกษตร การประมง และการแปรรูปในอุตสาหกรรมเกษตร รับนักศึกษาทุน กสศ. มาแล้วประมาณ 500 คน แบ่งเป็นเรียนจบไปแล้ว 300 คน กำลังเรียนอยู่ 200 คน ซึ่งเยาวชนที่เรียนจบออกไปก็ถือว่าก้าวผ่านความยากจนไปแล้วขั้นหนึ่ง โดยร้อยละ 70 จบแล้วออกไปประกอบอาชีพ ส่วนอีกร้อยละ 30 สามารถหาโอกาสเรียนต่อในระดับสูงขึ้นได้
การทำงานของวิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี มีพื้นที่รับผิดชอบคือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีก 4 อำเภอของ จ.สงขลา โดยเยาวชนที่มาเรียนจะมาจากฐานข้อมูลของ กสศ. ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งมาจากการไปพบเห็นเองในพื้นที่ รวมถึงได้ข้อมูลจากญาติพี่น้องของอดีตนักศึกษาที่เคยได้รับทุนมาก่อน ทั้งนี้ “สถานการณ์ความไม่สงบคือความท้าทายสำคัญของการลงพื้นที่คัดกรองหาผู้ต้องได้รับความช่วยเหลือ” โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในจุดที่ถูกเรียกว่าเป็น “พื้นที่สีแดง” ซึ่งการเข้าถึงทำได้ยาก
“เรารับเด็กเข้ามาแล้ว เราต้องมาดูในเรื่องของการดำรงชีพ เรื่องความเป็นอยู่เด็ก เพราะว่าวิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี มีหอพักรับนักเรียนได้ประมาณ 200 คน ทีนี้ 200 คน เด็กเข้ามาเราต้องยอมรับว่าใน 1 เดือนก่อนที่ กสศ. จะส่งเงินมาให้เด็ก วิทยาลัยก็ต้องมีกระบวนการในการดูแลแล้วก็แก้ปัญหา นี่คือส่วนหนึ่งเรื่องความเป็นอยู่ เราจะสอนเด็กตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนว่า Project based learning (PBL-การเรียนรู้ผ่านการทำผลงาน) หรือไม่ก็เป็น RBL (Research based learning-การเรียนรู้ผ่านการวิจัย) ก็จะเข้าไปในตัว สอนเด็กให้เรียนรู้จากการทำอาชีพ ทำโครงงาน ทำกิจกรรมทำฟาร์ม” สมภพ กล่าว
ผอ.วิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี กล่าวต่อไปว่า ในช่วง 1 เดือนแรกของการเรียน นักศึกษาใหม่จะได้รับการฝึกอบรมให้พึ่งพาตนเองได้ เช่น การประกอบอาหาร โดยได้รับการสนับสนุนจากครู จากนั้นในเดือนที่ 2 เมื่อ กสศ. เริ่มส่งเงินมา คนที่มาเรียนก็จะเริ่มมีเงินไว้เลี้ยงชีพ ขณะที่ในส่วนงานวิชาการก็จะสอดคล้องกับการประกอบอาชีพเป็นหลัก เพราะเป็นวัตถุประสงค์ของวิทยาลัย ที่เมื่อเรียนจบแล้วประกอบอาชีพก็จะมีรายได้ ยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ดีขึ้น คือเห็นผลได้เร็ว ส่วนการเรียนต่อในระดับสูงขึ้นจะเป็นประเด็นรอง
สูรียา อาแว ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) บาโงยือแร กล่าวว่า ตนเป็นครูในวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนวันจันทร์-ศุกร์ จะทำงานในองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา โดยศูนย์ฯ บาโงยือแร มีนักเรียน 302 คน มากเป็นอันดับ 2 ใน จ.ยะลา พบปัญหา “เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา” ค่อนข้างมาก ซึ่งจากการสอบถามว่าเหตุใดจึงไม่เรียนต่อ ก็ได้รับคำตอบว่า “ไม่ชอบการศึกษาในระบบ” อยากอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ทำอะไรก็มีพ่อแม่ให้เงินใช้ ทำให้ต้อง “ปรับทัศนคติ” เด็กกลุ่มนี้ให้เห็นความสำคัญของการศึกษา
“การศึกษาในที่นี้เราไม่จำเป็นต้องส่งเขาไปอยู่ในระบบ ในวิทยาลัย ในระบบโรงเรียนมัธยม แค่เขาออกแบบว่าเขาจะเรียนทางด้านไหน เขาสนใจที่จะศึกษาทางด้านไหน เราก็พยายามเรียกเด็กกลุ่มเหล่านี้มาพูดคุย ซึ่งเด็กในกลุ่มนี้แรกเริ่มเราเรียกมารวมกลุ่มได้ประมาณ 35 คน ที่จะหลุดจากระบบ แล้วก็อายุน้อยสุดคือ 12 ปี ยังไม่ได้จบ ป.6 เรารู้ดีเพราะว่าเป็นเด็กในพื้นที่ของเรา ในฐานะคนในพื้นที่ เรารับทราบปัญหา สภาพข้อมูลของเด็กตั้งแต่ตื่นนอน ก่อนนอนตื่นนอนเขาทำอะไร ตอนเย็น กลางคืนมีกิจกรรมอะไร” สูรียา ระบุ
สูรียา เล่าต่อไปว่า หลังจากสอบถามเด็กที่ออกนอกระบบการศึกษาทราบว่าหากเป็นเด็กผู้ชายจะสนใจเรื่องทักษะวิชาชีพช่าง โดยเฉพาะช่างไฟฟ้า เพราะเห็นว่าเป็นงานที่มีรายได้สูง ส่วนเด็กผู้หญิงจะสนใจทักษะการตัดเย็บเสื้อผ้า เพราะจะได้ช่วยตัดเย็บเสื้อผ้าให้สมาชิกในครอบครัวได้ เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้ส่วนหนึ่ง จึงมีการประสานวิทยากรให้มาสอนในช่วงเวลาที่ผู้เรียนต้องการ
เช่น ในกลุ่มผู้สนใจอาชีพช่างไฟฟ้า มีการสอนช่วงเวลา 19.00-21.00 น. ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มเด็กที่ไม่ต้องการไปเรียนตามเวลาปกติในสถานศึกษาในระบบ ส่วนกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า จะมีการตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นเพื่อนัดแนะเวลาเรียน-เวลาสอนกับวิทยากร ตามความสะดวกหรือความพร้อมของผู้เรียน และนอกจากจัดอบรมทักษะอาชีพแล้ว ยังมีการจัดค่ายพัฒนาบุคลิกภาพ ซึ่งต้องเข้าใจว่าเมื่อเด็กกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบการศึกษา ก็ไม่ค่อยจะดูแลเสื้อผ้าหน้าผมของตนเอง ไปจนถึงปลุกความกล้าแสดงออก จากเด็กที่เก็บตัวเล่นแต่เกมก็ออกมาสู่สังคมมากขึ้น
สำหรับสิ่งที่จะทำต่อไป สูรียา เปิดเผยว่า กำลังหารือกับทาง สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)ในพื้นที่ อ.บันนังสตา ว่าจะสามารถออกวุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตรให้กับเด็กกลุ่มเหล่านี้ได้หรือไม่ เพื่อการันตีว่าเด็กกลุ่มนี้มีความรู้ความสามารถจริงเพื่อเป็นช่องทางต่อยอดหรือเข้าสู่ระบบแรงงาน ซึ่งประกาศนียบัตรมีความสำคัญ
ปิดท้ายด้วย ปฐวี ใจโต เลขาธิการหอการค้าจังหวัดปัตตานี ยกตัวอย่างกิจกรรมเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2567 ที่หอการค้าจังหวัดปัตตานี
มีการจัดติวเข้ามหาวิทยาลัย โดยจัดที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี มีผู้ลงทะเบียนถึง 1,300 คน ในจำนวนนี้เข้ามาถึง
900 คน จนล้นออกมาจากห้องอบรมส่วนคนที่ไม่ได้เข้าห้องอบรมก็ขอดาวน์โหลดเอกสารที่ใช้ในการอบรม สะท้อนถึงความมีใจอยากเรียนของเยาวชนในพื้นที่ จึงเป็นโจทย์ว่าทำอย่างไรเยาวชนเหล่านี้จะได้เรียน
ทั้งนี้ หอการค้าจังหวัดปัตตานี มีการทำ MOU ร่วมกับ มอ.ปัตตานี เพื่อร่วมกันออกแบบหลักสูตรทั้งระยะสั้นและหลักสูตรปริญญาตรีปกติ เนื่องจากนักศึกษาที่จบออกมาไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ เช่น เคยเจอคนจบรัฐศาสตร์บ้าง มนุษยศาสตร์บ้าง มาสมัครงานเป็นช่างไฟฟ้า ซึ่งทางหอการค้าไทยมีโครงการแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox)รวมถึงโครงการที่ทำกับ กสศ. โดยมอบเป็นนโยบายไปยังหอการค้าทั่วประเทศ
“อย่างปัตตานี เราคุยกับท่านผู้ว่าฯ แล้ว ท่านผู้ว่าฯ บอกเราจะแซนด์บ็อกซ์แบบไหน? แซนด์บ็อกซ์มี 2 ข้าง ข้างหนึ่งก็คือ Fund (เงิน) ภาคเอกชนเงินไมได้เยอะ คือเป็นเงินที่ต้องหามาเอง แต่ภาคเอกชนมี Opportunity (โอกาส) ผมขอให้เอกชนเข้าไปร่วมออกแบบ และเข้าไปบอกภาครัฐว่าเราอยากได้อะไร เอกชนเอามาจากไหน? 3 จังหวัดชายแดนใต้ เราบอกว่าอยากเป็นครัวฮาลาลโลก เรามีโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถส่งออกฮาลาลได้กี่โรงงาน? เรามีโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ที่สามารถผลิตแรงงานที่จะเข้ามาได้เพียงพอไหม?” ปฐวี กล่าว
เลขาธิการหอการค้าจังหวัดปัตตานี กล่าวต่อไปว่า เมื่อแรงงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่เพียงพอก็ต้องนำเข้าแรงงานจากที่อื่น ซึ่งทำให้เม็ดเงินใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไหลออกนอกพื้นที่ ขณะเดียวกัน “เมื่อมองภาพรวมของทั้งประเทศ ที่คนวัยทำงานต้องเลี้ยงทั้งผู้สูงอายุและเด็ก การก้าวข้ามความยากจนเป็นไปได้ยากหากไม่ได้ทำงานในอาชีพที่ใช้นวัตกรรมชั้นสูง” หมายถึงทำน้อยแต่ได้ผลมาก อีกทั้งหลักสูตรต้องปรับตัวได้ไว เพื่อให้รองรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
รวมถึง “ภาคเกษตรที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมเกษตร ทำงานกันต่อวันไม่กี่ชั่วโมงแล้วก็พักผ่อน” เช่น กรีดยาง ตัดทุเรียน เสร็จแล้วก็กลับบ้านไปนอน ในขณะที่อีกหลายอาชีพทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน หรือหากช่วงที่ไม่ใช่ฤดูเก็บเกี่ยว ทุกคนก็จะว่างงานหรือไม่มีรายได้กันหมด แล้วจะทำอย่างไรให้ก้าวข้ามความยากจน? ทั้งนี้ รัฐต้องช่วยเรื่องนโยบาย ต้องตอบโจทย์พื้นที่และผู้เรียน รวมถึงตลาดแรงงานเพื่อให้ผู้เรียนมีรายได้ก้าวข้ามความยากจน!!!
หมายเหตุ : ขอบคุณภาพประกอบจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี