กรมโรงงานฯออกกฎเหล็ก
ควบคุมใช้‘ไซยาไนด์’ผิดวิธี
กรมโรงงานอุตสาหกรรม ประสานความร่วมมือกับ อย.-กรอ. ออกกฎเหล็กควบคุมไซยาไนด์ หลังมีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์นอกเหนือกิจการอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันการก่อเหตุสะเทือนขวัญ
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2567 กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ชี้แจงถึงการควบคุมสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ โดยระบุว่า กรอ. มีการกำกับดูแลกรณีมีการนำเข้าและการครอบครองสารดังกล่าว ดังนี้ 1.ผู้ประกอบการต้องขอขึ้นทะเบียนพร้อมระบุวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ และขออนุญาตก่อนนำเข้าโดยการพิจารณาอนุญาตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ปรากฏในใบสำคัญการขึ้นทะเบียน 2.เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ในการนำเข้าต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำเข้า ก่อนนำโพแทสเซียมไซยาไนด์ ออกจากด่านศุลกากร ตามแบบ วอ./อก.6 โดยปัจจุบันกำหนดให้แจ้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
3.กรณีมีโพแทสเซียมไซยาไนด์ในความครอบครอง ตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไป ในรอบ 6 เดือน ต้องแจ้งข้อเท็จจริง ตามแบบ วอ./อก.7 ซึ่งการประกอบการในระหว่างเดือน ม.ค. - มิ.ย. ต้องแจ้งภายในเดือน ก.ค.ของปีนั้น และการประกอบการในระหว่างเดือน ก.ค. – ธ.ค. ต้องแจ้งภายในเดือน ม.ค.ของปีถัดไป โดยสามารถแจ้งที่ กรอ. แจ้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือแจ้งผ่านไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ 4.กรณีครอบครองโพแทสเซียมไซยาไนด์เพื่อการใช้สอยส่วนบุคคล หรือใช้เพื่อการอุตสาหกรรม และกรณีครอบครองเพื่อการค้าปลีก ที่เก็บโพแทสเซียมไซยาไนด์และวัตถุอันตรายทุกชนิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายรวมกันไม่เกิน 1,000 กิโลกรัม ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตครอบครอง
จากเหตุการณ์ที่มีการนำโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ก่อให้เกิดผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งพบการจำหน่ายอย่างแพร่หลายในแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสารดังกล่าวได้โดยง่าย เพื่อนำไปใช้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ กรอ. ได้มีดำเนินการ ดังนี้ 1.กำหนดให้ใบอนุญาตที่ออกใหม่มีอายุไม่เกิน 1 ปี และกำหนดให้เพิ่มเงื่อนไขในใบอนุญาตนำเข้าสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ (ทั้งกรณีใบอนุญาตฉบับเดิมที่ยังมีอายุอยู่และใบอนุญาตที่ออกใหม่) สำหรับกลุ่มผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ที่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามความเข้มข้นและวัตถุประสงค์การนำไปใช้ ได้แก่ กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการโรงงาน กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับห้องปฏิบัติการ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และกลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการชุบล้างโลหะขนาดเล็ก
2.จัดทำระบบรายงานข้อมูลสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ เพื่อรองรับรายงานการเปลี่ยนแปลงปริมาณการครอบครองวัตถุอันตรายทันที และรายงานการเปลี่ยนแปลงปริมาณการครอบครองทุกปริมาณ ทุก 3 เดือน 3.จัดทำหนังสือขอความร่วมมือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กำหนดมิให้มีการโฆษณาและจำหน่ายสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ และสารโซเดียมไซยาไนด์ ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ 4.จัดทำร่างประกาศกรมโรงานอุตสาหกรรม เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการโฆษณาวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเห็นชอบ พ.ศ. .... โดยกำหนดห้ามมิให้ทำการโฆษณาวัตถุอันตราย โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือสื่อโฆษณาอื่นที่คล้ายคลึงกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 5.ส่งเจ้าหน้าที่ไปร้องทุกข์ เพื่อให้ดำเนินคดีตาม พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
ภายหลังดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ยังปรากฏข้อมูลการโฆษณาจำหน่ายสารประกอบไซยาไนด์ เช่น โกลด์โพแทสเซียมไซยาไนด์ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งวัตถุอันตรายจำพวกสารประกอบไซยาไนด์ทุกชนิดเป็นสารพิษที่มีความรุนแรงสูง หากได้รับในขนาดที่เพียงพอจะทำให้เสียชีวิตเฉียบพลัน ในลักษณะเดียวกับโพแทสเซียมไซยาไนด์ และโซเดียมไซยาไนด์ ดังนั้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัย ป้องกันประชาชนทั่วไปเข้าถึงวัตถุอันตรายดังกล่าว และมีการนำไปใช้ ผิดวัตถุประสงค์ กรอ. จึงได้มีการดำเนินการเพื่อควบคุมวัตถุอันตรายจำพวกสารประกอบไซยาไนด์ ดังนี้ 1.จัดทำหนังสือถึงผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายจำพวกสารประกอบไซยาไนด์ และมีการนำเข้าสารดังกล่าวในปี พ.ศ. 2565 – 2566 จำนวน 37 ราย เพื่อควบคุมการจำหน่ายและการใช้สารประกอบไซยาไนด์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งหรือระบุในใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย
2.จัดทำหนังสือขอความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กำหนดมิให้มีการโฆษณาและจำหน่ายวัตถุอันตรายจำพวกสารประกอบไซยาไนด์เพิ่มเติม จำนวน 13 รายการ เช่น โกลด์ โพแทสเซียมไซยาไนด์ ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ
3.จัดทำร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อปรับปรุงการจัดชนิดวัตถุอันตรายในกลุ่มสารประกอบไซยาไนด์ จำนวน 6 รายการ จากเดิมที่มีการควบคุมเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 ให้ยกระดับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายและขออนุญาต ตามมาตรา 36 และมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 ตามลำดับ รวมทั้งผู้นำเข้าหรือส่งออกต้องแจ้งข้อเท็จจริงก่อนนำหรือส่งวัตถุอันตรายออกจากด่านศุลกากร และผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองที่มีหรือเคยมีวัตถุอันตรายตามรายชื่อที่กำหนด ต้องแจ้งข้อเท็จจริงปีละ 2 ครั้ง ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการให้แจ้งข้อเท็จจริงของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี