เงินดิจิทัลคืบหน้า
คลังพร้อมชงครม.
‘จุลพันธ์’ย้ำชัดเจน
เป็นไปตามขั้นตอน
“จุลพันธ์” รมช.คลัง เผยรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เข้าครม. เมื่อผูกกับเม็ดเงินแล้วเสร็จ ยันคืบหน้าหลายด้าน เป็นไปตามขั้นตอน
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ที่ท้องสนามหลวง นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า รายละเอียด โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบว่าจะอยู่ในช่วงที่ผูกกับเม็ดเงิน ดังนั้น จึงต้องรอ แต่อาจมีบางรายละเอียดที่ต้องเสนอให้ครม.ได้รับทราบบ้าง ถือว่าเป็นไปตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้ถือว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็มีความคืบหน้าตามลำดับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นประธาน กมธ.ฯ นัดประชุมวันที่ 15 สิงหาคม มีวาระพิจารณาสำคัญคือ ศึกษาสถานะและกระบวนการขั้นตอนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน และกำหนดเชิญ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ ว่าที่ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเข้าชี้แจง
นายพริษฐ์เผยว่า ขณะนี้มีการตอบรับมาแล้วว่านายกฯได้ส่งรองเลขาธิการนายกฯ มาร่วมพิจารณา ซึ่งประเด็นที่จะพิจารณาคือ ปัจจุบันประธานสภาฯ ใช้เกณฑ์อะไรวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินหรือไม่ เมื่อวินิจฉัยและตัดสินว่าเป็น นายกฯใช้เกณฑ์อะไรตัดสินใจว่าจะให้คำรับรองและส่งเข้าสภาฯหรือไม่ ซึ่งเป็นการตรวจสอบและกรอบเวลา ทั้งนี้ ในขั้นตอนที่เกี่ยวกับนายกฯ มีร่างกฎหมายการเงินหลายฉบับใช้เวลาพิจารณานาน เกินกว่า 6 เดือน โดยกมธ.ต้องการให้มีตัวแทนนายกฯ ชี้แจงและหาทางออกร่วมกัน
“ในขั้นตอนของนายกฯ ใช้เกณฑ์อะไรตัดสินใจรับรองหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญให้อำนาจนายกฯ พิจารณาเพื่อประเมินว่าเมื่อกฎหมายผ่านแล้วจะเป็นภาระทางงบประมาณแก่รัฐบาลหรือไม่ แต่ปัจจุบันนายกฯมีเกณฑ์อื่นหรือไม่ หรือใช้เกณฑ์อื่นพิจารณาหรือไม่ เช่น กรณีเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสาระของกฎหมายหากมีร่างกฎหมายซึ่งไม่ได้เพิ่มภาระงบประมาณมาก แม้ไม่เห็นด้วยเนื้อหาต้องรับรองพิจารณาในสภา” นายพริษฐ์ กล่าว และว่า สำหรับกรอบระยะเวลาได้ความชัดเจนในขั้นตอนพิจารณาตัดสินใจอย่างไร เพราะหากนายกฯใช้เวลาพิจารณานานทั้งในร่างกฎหมายที่เสนอโดยสส. หรือของประชาชนเสนอ อาจทำให้ทำงานต่อลำบาก อย่างไรก็ดี เมื่อนายกฯไม่มาเอง รวมถึงเลขาธิการนายกฯ ไม่มา แต่ส่งรองเลขาธิการนายกฯมาแทน ต้องรอดูว่าจะให้คำตอบได้หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตามขั้นตอนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นั้น หากถูกพิจารณาว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน สภาฯต้องส่งให้นายกฯ ลงนามรับรองก่อน โดยที่ผ่านมาพบว่าสภาฯส่งร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินให้นายกฯ พิจารณา รวม 56 ฉบับ พบว่าลงนาม “รอลงนามรับรอง” 40 ฉบับ และไม่ลงนามรับรอง 16 ฉบับ ซึ่งแบ่งเป็นของสส. 8 ฉบับ และของประชาชน 8 ฉบับ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี