อุตุฯเตือน30จว.
ฝนถล่มน้ำท่วม
น้ำแม่สายทะลัก
กระทบเชียงราย
กรมอุตุฯ เตือน 30 จังหวัดฝนตกหนัก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก ส่วนแม่น้ำสาย ทะลักท่วมพื้นที่ จ.เชียงราย รอบ 3 ด้าน ผวจ.แม่ฮ่องสอน เร่งสำรวจพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือ
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ทั้งนี้ เนื่องจากร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบน และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง อนึ่ง พายุโซนร้อนกำลังแรง “อ็อมปึล” ปกคลุมทิศใต้ของประเทศญี่ปุ่น ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ส่วน กทม.และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากในช่วงระหว่างบ่ายถึงค่ำ
ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.นครนายก จันทบุรี และตราด ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณ จ.เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณ จ.ระนอง พังงา ตรัง และสตูล ตั้งแต่ จ.ระนอง ขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ตั้งแต่ จ.พังงา ลงไป ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 1 เมตร
ที่ จ.เชียงราย วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงกลางดึกที่ผ่านมา น้ำจากลำน้ำสายที่กั้นเขตแดนไทย-เมียนมา ได้ทะลักเข้าท่วมชุมชนชายแดนพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นรอบที่ 3 ในช่วงฤดูฝนปีนี้ ทำให้ตลาดชุมชนสายลมจอย ที่อยู่ริมฝั่งน้ำ ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยน้ำจากใต้สะพาน เข้าท่วมปากทางเข้าและทะลักไปบนถนนภายในตลาด ตลอดทั้งแนว พ่อค้าแม่ค้า ต้องรีบพากันขนสินค้าขึ้นที่สูงอย่างจ้าละหวั่น โดยส่วนใหญ่ขนย้ายได้ทัน ทำให้ทรัพย์สินไม่ได้รับความเสียหาย
อย่างไรก็ตาม ภายหลังเกิดเหตุ ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.แม่สาย เทศบาล ต.แม่สาย อ.แม่สาย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำกระสอบทรายไปกั้นตามจุดสำคัญ ทำให้น้ำท่วมอยู่ในวงจำกัดเฉพาะที่อยู่ริมฝังเท่านั้น ส่วนด่านพรมแดน และถนนพหลโยธิน รวมทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีน้ำท่วมแต่อย่างใด
ด้านนายชูชีพ พงษ์ไชย ผวจ.แม่ฮ่องสอน ได้ลงพื้นที่ติดตามการซ่อมสะพานข้ามลำน้ำปอน ซึ่งถูกน้ำจากลำน้ำกัดเซาะคอสะพาน จนได้รับความเสียหาย และสะพานถล่มลงมาทำให้ไม่สามารถใช้การได้ เบื้องต้นนายณรงค์พัชญ์ นาคทรัพย์ นายอำเภอขุนยวม รายงานว่า อบต.แม่ยวมน้อย ได้ส่งรถบรรทุกและรถขุดตัก เข้าซ่อมแซมคอสะพาน เพื่อให้ชาวบ้านแม่ซอ ใช้สัญจรได้ สำหรับสะพานแห่งนี้ เชื่อมระหว่างหมู่บ้านมะหินหลวง หมู่ 8 ต.เมืองปอน อ.ขุนยวม ไปยังหมู่บ้านแม่ลาก๊ะ หมู่ 6 ต.เมืองปอน อ.ขุนยวม
นายชูชีพ กล่าวว่า ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ปางมะผ้า อ.แม่ลาน้อย และ อ.ขุนยวม โดยที่ อ.ขุนยวม ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร ซึ่งหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพราน 36 ได้จัดกำลังพล ร่วมกับฝ่ายปกครอง เข้าสำรวจและให้การช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่บ้านแม่โกปี่ ต.แม่ยวมน้อย อ.ขุนยวม โดยใช้เส้นทาง อ.ขุนยวม-บ้านปางอุ๋ง ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่-บ้านหัวแม่ลาก๊ะ ต.แม่ยวมน้อย อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน แทนเส้นทางเดิมที่เกิดดินถล่ม และดินสไลด์ปิดทับเส้นทาง โดยฝ่ายปกครองนำเครื่องจักรขนาดใหญ่ เข้าเปิดเส้นทางจนถึงบ้านหัวแม่ลาก๊ะ แต่ยังไม่แล้วเสร็จจึงยังไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่บ้านแม่โกปี่ ได้
ส่วนที่ จ.ชัยนาท ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ว่าปริมาณน้ำเหนือเริ่มลดลง จุดวัดน้ำ C2 หน้าค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ วัดได้ 1,041 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ขณะที่ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ลดระดับลง 20 เซนติเมตรในรอบ 24 ชั่วโมง วัดได้ 15.38 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) โดยเขื่อนเจ้าพระยา ได้คงอัตราการระบายน้ำลงท้ายเขื่อน ที่ 1,000 ลบ.ม./วินาที ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างในลำน้ำเหนือเขื่อน ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อน ยังทรงตัวต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 วัดได้ 10.97 ม.รทก.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี