ป.ป.ช.ลุยร้อยเอ็ด ติดตามปัญหารุก"ป่าคำใหญ่-คำขวาง" รองเลขา ป.ป.ช.หวังสร้างวัคซีนชาวบ้าน ช่วยกันปกป้องป่า ยก"ป่าชุมชนดงทำเล"เป็นโมเดล
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่โรงแรมร้อยเอ็ดโฮเทล สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.จัดโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ นำสื่อมวลชนเตรียมลงพื้นที่ติดตามปัญหาการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคำใหญ่-คำขวาง ที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด รวมถึงประเด็นการลักลอบตัดไม้พะยุงในเขตอนุรักษ์ป่าชุมชนดงทำเล-ดอนใหญ่ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ระหว่างวันที่ 14 - 16 สิงหาคม 2567
โดยวันนี้ได้มีการจัดเสวนาในประเด็น "สถิติคดีและเรื่องร้องเรียนของสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 4" และ "กรณีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคำใหญ่-คำขวาง และกรณีลักลอบตัดไม้พะยุงในเขตอนุรักษ์ป่าชุมชนดงทำเล ดอนใหญ่" ซึ่งเป็นการติดตามผลการดำเนินการ หลังมีการร้องเรียน และตรวจสอบการอ้างเอกสิทธิ์ สค.1 เพื่อขอออกโฉนดที่ดิน ทับพื้นที่ป่าคำใหญ่-คำขวาง ซึ่งมีปัญหาทั้งสิ้น 21 แปลง โดยทาง ป.ป.ช.ได้ดำเนินการตรวจสอบ ร่วมกับสำนักจัดการทรัพยา กรมป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) และสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงาน ป.ป.ช.และมีการแปลภาพถ่ายทางอากาศ พบว่า ทั้ง 21 แปลง ไม่ได้อยู่ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามที่มีการร้องเรียนแต่อย่างใด แต่พบว่ามีการอ้างเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ซึ่งจากการตรวจสอบ อยู่ระหว่างการตรวจสอบรังวัดของเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ยังไม่ถึงขั้นออกเป็นโฉนดที่ดินได้ และหลายพื้นที่ได้มีการถอนการขอออกโฉนดที่ดินไปแล้ว
นายสนธยา วีระไทย ผู้อำนวยการ กรมไต่สวน 2 สำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ดังกล่าวมี 3 ประเภท คือ 1.ประชาชนบุกรุกโดยที่ไม่ได้มีเอกสารสิทธิ์ 2.ผู้ที่อ้างเอกสารสิทธิ์ สค.1 เพื่อหวังออกเป็นโฉนดที่ดิน และ 3.ผู้ที่บุกรุกเพื่อขายต่อให้กับผู้อื่น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เดิมพื้นที่ปากคำใหญ่-คำขวาง ทั้งหมด เป็นพื้นที่ป่าสงวนและมีการเข้าสู่การปฏิรูปที่ดิน หรือ ส.ป.ก.ทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีสิทธิ์ทำกิน แต่สุดท้าย ส.ป.ก.ไม่ได้ดำเนินการ จึงต้องส่งคืนกลับให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จึงตั้งข้อสังเกตว่า เป็นช่องว่างให้ประชาชนเข้ามาอ้างสิทธิ์ครอบครองเพื่อออกเป็นโฉนด ทั้งนี้ ไม่พบว่าเป็นการบุกรุกเพื่อใช้พื้นที่ในเรื่องเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เช่น การทำรีสอร์ท หรือสถานที่ท่องเที่ยว แต่เป็นการหาพื้นที่เพื่อสร้างผลผลิตทางการเกษตรป้อนโรงงาน ประกอบกับคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานเจ้าของพื้นที่ ไม่ต้องการทำการเกษตร ก็จะนำที่ดินไปแอบขายให้นายทุนที่มาแสวงหาผลประโยชน์
นายประทีบ จูฑะศร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค 4 กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ ป.ป.ช.ต้องการป้องปราม ซึ่งเป็นมาตรการการเฝ้าระวังของสำนักงาน ป.ป.ช.โดยบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเป็นการเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ระมัดระวังการทำหน้าที่ ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำผิด
ซึ่ง ป.ป.ช.เน้นการเฝ้าระวัง เปรียบเสมือนเป็นหมอทำหน้าที่ฉีดวัคซีน แต่หากไม่สามารถป้องกันได้ ก็ต้องทำการรักษา แต่หากรักษาไม่ได้ ต้องทำการฌาปนกิจ ก็คือการชี้มูลแจ้งข้อกล่าวหาตามกระบวนการ ยืนยันว่า ป.ป.ช.ทำหน้าที่โดยไม่ละเว้น แม้แต่คดีของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายคน ก็เคยถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดมาแล้ว
สำหรับภาพรวมคดีทุจริตการทุจริตทรัพยากรธรรมชาติจะมีความซ้ำซ้อน โดยจะมี 2 กลุ่มคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องคือเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่จัดการดูแลรักษาพื้นที่แต่เข้าไปหาประโยชน์ และเอกชนที่เข้าไปหาประโยชน์ ดังนั้น ลักษณะการร้องเรียนจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐละเว้นใส่เกียร์ว่างหรือเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนที่เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์
ส่วนกลุ่มคนที่บุกรุกที่ดินรัฐ คือกลุ่มคนจนไม่มีที่ดินทำกิน กลัวอดไม่กลัวโดนจับเพราะหากไม่ทำกินก็ไม่มีกิน ซึ่งรัฐก็มีมาตรการในการผ่อนผันจัดที่ดินทำกินให้ ส่วนกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่รวยมากๆ มีอำนาจต่อรอง มีบารมีมีสถานะทางเศรษฐกิจการเงินที่ดี ในการขับเคลื่อนเข้าไปเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องการ โดยในช่วงปลายปี 2566 จากการลงพื้นที่ป่าคำใหญ่-คำขวาง ด้านเหนือสุด จ.หนองคาย พบว่าสภาพป่าไม่ใช่ป่ารกทึบ เป็นลักษณะป่าเกิดใหม่ผ่านการแผ้วถางเข้าทำประโยชน์ แสดงให้เห็นว่ามีคนเข้าไปแผ้วถางทำประโยชน์มาก่อน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาความสามารถทำประโยชน์ได้หรือไม่ เช่นเข้าไปทำกิน ปลูกยูคาลิปตัส โดยประชาชนในพื้นที่ให้ข้อมูลว่าที่ดินเกือบทุกแปลงมีเจ้าของ มีร่องรอยการทำประโยชน์ และบางจุดเจอหลัก สปก.ในภายหลังกรมป่าไม้ยกเลิกไปแล้ว ยอมรับว่ามีการบุกรุกมานานแล้ว โดยสิ่งที่น่าสนใจคือบางคนต้องการเข้าไปใช้ประโยชน์แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจ อยากได้เอกสารสิทธิ์ตามกฎหมายที่ดิน ก็พยายามเสาะแสวงหาเอกสารครอบครอง สค.1 เพื่อจะนำไปออกเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดินได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ดิน อ.อาจสามารถ มีกระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มข้น พบ สค.1 ไม่ตรงแปลง จึงไม่สามารถออกเอกสารได้ ปัจจุบันมีเพียง 1 - 2 แปลงที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และได้ยกเลิกการขอเอกสารไปแล้ว 9 แปลง ก่อนหน้าที่ ป.ป.ช.จะลงพื้นที่ตรวจสอบ
ทั้งนี้ คณะกรรมการจะมองแต่การปราบปราม ก็คงไม่สามารถปราบได้หมด เพราะการหาเอกสารหลักฐานเป็นเรื่องที่ยาก จึงมาสร้างเครือข่ายประชาชนเพื่อนำไปสู่การป้องกัน ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีคณะกรรมการผลักดันแก้ไขปัญหาการทุจริตในพื้นที่ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการทุจริตเป็นการบูรณาการร่วมกันในการตรวจสอบ
โดยในช่วงท้ายของการเสวนา มีตัวแทนภาคประชาชน ได้เสนอข้อมูลต่อที่ประชุมว่า ในปัจจุบันนี้ แรงจูงใจในการบุกรุกป่า ว่าเป็นคนที่มาจากนอกพื้นที่ และไม่ได้ต้องการจับจองเพราะเป็นที่อยู่อาศัย แต่มีแรงจูงใจจากทรัพย์มูลค่าในป่าคำขวาง เช่น ไม้พะยุง แต่เมื่อตัดไม้พะยุงเสร็จ ก็มาตัดไม้ชิงชัง และต้นยางนา จนมาถึงขณะนี้ พอไม้ใหญ่ใหญ่ในป่าหมด ก็ตัดไม้รวมทุกชนิด เพื่อนำมาขาย ซึ่งขณะนี้มีร้านรับซื้อไม้ 20 - 30 จุด ไม่รู้ว่าหน่วยงาน ป.ป.ช.ทราบหรือไม่
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี