คนเฒ่าไร้สัญชาติไทลื้อวอน “อนุทิน” เร่งช่วย เผยเสียชีวิตแล้วนับสิบเหตุกระบวนการชักช้า “ครูแดง” แนะตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมาดูแล
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้นำสื่อมวลชนจากส่วนกลางกว่า 10 คนลงพื้นที่ชุมชนชาวไทลื้อบ้านร่มโพธิ์ทอง จังหวัดเชียงราย เพื่อขับเคลื่อนประเด็นผู้เฒ่าไร้สัญชาติภายหลังจากที่ผู้เฒ่ากลุ่มใหญ่ได้ร้องเรียนถึงความล้าช้าในกระบวนการแปลงสัญชาติเนื่องจากแต่ละคนตกอยู่ในสภาพเปราะบางเพราะต่างสูงวัย โดยมีสมาคมไทลื้อเชียงราย นายปฤษฎางค์ สามัคคีนิชย์ นายอำเภอแม่สรวย ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดเวทีให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนซึ่งมีชาวบ้านเชื้อสายไทลื้อประมาณ 300 คนเข้ารวม
นางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง” กรรมการผู้ก่อตั้ง พชภ. และอดีตสมาชิกวุฒิสภาเชียงราย กล่าวว่าปัญหาที่ จ.เชียงราย คือ ผู้เฒ่าที่ยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติ ได้ส่งคำร้องที่คณะกรรมการฯ ระดับจังหวัดไปกรมการปกครองแล้ว จำนวนรวมกว่า 1,332 คำร้อง แต่ได้รับการแปลงสัญชาติเพียง 239 ราย ยังไม่ได้พิจารณาอีก 1,093 คำร้อง ก่อนหน้านี้การแปลงสัญชาติต้องมีเกณฑ์ต่างๆ แต่หลังจากการขับเคลื่อนแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ จนปี 2563 ได้มีหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย ให้ปรับปรุงแนวทางการประกอบการพิจารณาให้สัญชาติไทยแก่ชนกลุ่มน้อยโดยการแปลงสัญชาติตามมาตรา 10 แห่งพรบ.สัญชาติ พศ.2508 ปรับลดเกณฑ์ลงสำหรับผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป
“คุณสมบัติความเป็นพลเมืองดี เราได้ผลักดันจนยกเลิกเป็นให้ใช้พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ 3 คน ความรู้ภาษาไทย อ่านเขียนร้องเพลงชาติยกเลิกแล้ว ตอนนี้เหลือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ถิ่นที่อยู่ 5 ปี ก่อนแปลงสัญชาติ และ ทร.14 เคสที่มาพบวันนี้เป็นผู้เฒ่าเชื้อสายไทยลื้อ ที่ส่วนใหญ่อพยพมาจากสิบสองปันนาจีนตอนใต้ เชียงตุง ท่าขี้เหล็ก อยู่มามากกว่า 50 ปี การตรวจสอบระดับจังหวัดไปแล้ว 40 คน พบว่าผู้เฒ่าเสียชีวิตไปแล้วกว่า 10 คน กระบวนการล่าช้าทำให้เขาเสียสิทธิและผู้เฒ่าถือว่าเป็นบุคคลที่เปราะบางที่สุด ซึ่งเขาเป็นพ่อแม่ปู่ย่าตายายของลูกหลานคนไทย ที่ร่วมสร้างบ้านแปลงเมือง อยู่มานานมีถิ่นฐานอยู่ที่นี่”นางเตือนใจกล่าว
นางเตือนใจกล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาความล่าช้า กรมการปกครองมีข้อเสนอให้ยกระดับความสำคัญของงานสัญชาติ และจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อดูแลเรื่องสถานะบุคคลหรือสัญชาติ ส่วนที่วุฒิสภาเสนอที่ตรงกับภาคประชาสังคมให้มีหน่วยงานเฉพาะเพื่อดูแลเรื่องสัญชาติ และยกระดับความสำคัญ เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพในแง่โครงสร้าง บุคลากร ความรู้ความเข้าใจและทรัพยากรสนับสนุน
นายแอ่น ลิวไชย นายกสมาคมชาวไทลื้อ จ.เชียงราย กล่าวว่า ชาวบ้านไทลื้อ อ.แม่สาย อ.แม่สรวย อ.แม่จัน อ.เวียงป่าเป้า ฯลฯ พี่น้องไทยลื้อได้ลงแรงทำมาหากิน ไม่เคยทำเรื่องผิดกฎหมายหรือเสื่อมเสีย
“เราขอความเมตตาจากรัฐบาลไทย เรามาอยู่ไทยมายาวนาน ลูกเต้าเราเป็นคนไทย เป็นทหาร เป็นตำรวจ เป็นครู ฯลฯ แต่พ่อแม่ยังติดขัด ยังไม่ได้รับบัตรประชาชนไทย หากได้สัญชาติไทยได้เข้าระบบบัตรประชาชนก็จะยินดีมาก ผมได้คุยกับนายอำเภอที่เชียงของ และที่แม่สรวยนี้ เราไม่ได้ทำให้ท่านลำบากใจไม่ได้เอาคนมาสวมมาใส่ ทำตามกฎหมาย เราช่วยกันมีอะไรก็ช่วยกัน วันนี้ขอร้องขอความเมตตาเจ้านาย ขอท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย” นายแอ่น กล่าว
ด้านนายปฤษฎางค์ สามัคคีนิชย์ นายอำเภอแม่สรวย กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ทำเรื่องขอสัญชาติผ่านอำเภอ 48 คน เสียชีวิต 5 ราย รวมแล้วมีผู้ทำเรื่อง 43 คน ได้รับสัญชาติ 11 คน และเหลืออีก 32 คนอยู่ระหว่างพิจารณา ขณะนี้ทางอำเภอกำลังจัดเตรียมเอกสาร 17 ราย ยื่นไปจังหวัดแล้ว 14 ราย โดยงานทะเบียนอำเภอมีเจ้าหน้าที่เพียง 2 คน แต่ดูแลประชาชนกว่า 70,000 คน อย่างไรก็ตามจะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด
นายพรม พรชัย ชาวบ้านร่มโพธิ์ทอง อ.แม่สรวย กล่าวว่า คนที่ไร้สัญชาติไทยไม่มีบัตรประชาชนอย่างพวกตตนถ้าไม่มีเงินสดซื้อของไม่ได้เพราะไม่มีบัตรประชาชน แต่คนมีบัตรประชาชนไม่มีเงินก็เอาบัตรเซ็นได้
“ผมได้ยื่นขอแปลงสัญชาติตั้งแต่ปี 2560 จนปี 2563 เข้าไปสอบที่จังหวัดแล้ว ร้องเพลงชาติแล้ว แต่ผ่านมาเวลานี้ก็ยังไม่ได้รับการแปลงสัญชาติ ตอนนี้คนที่เคยไปขอแปลงสัญชาติตายไปแล้ว 10 คน ผมขอฝากเรื่องนี้ด้วย” นายพรม กล่าว
ขณะที่นายแสง ศรีวิชัย ชาวบ้านจาก อ.แม่จัน กล่าวว่า ได้ยื่นขอแปลงสัญชาติตั้งแต่ปี 2559 ร้องเพลงชาติที่ศาลากลางแล้วก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ขณะที่ลูกหลานได้เป็นคนไทยหมดทุกคน โดยคนเฒ่าที่ขอแปลงสัญชาติตายไปแล้วนับสิบคน เขาบอกว่าได้แน่นอน คือนอนตาย หรืออย่างไร
นายทูล วงศา ชาวบ้านจาก อ.แม่สาย กล่าวว่า ตนเองเข้ามาไทยตั้งแต่ปี 2510 แรกๆ ไม่รู้จักและไม่สนใจเรื่องบัตรประชาชน แต่ทำให้เกณฑ์ทหารไม่ได้ ตนได้เป็นทหารรับจ้างสู้กับคอมมิวนิสต์ ปี 2523-2525 เห็นทหารกองพล 93 เอาคนไปสู้รบจนได้สัญชาติ ก็อยากทำเช่นนั้นบ้าง ที่แม่สายมีไทลื้อ 27 หมู่บ้าน รวมกัน 1,000 กว่าครอบครัว สำรวจเมื่อปี 2545
“ปี 2559 อำเภอมีหนังสือแจ้งว่าผู้เฒ่าไร้สัญชาติ อายุ 65 ปีขึ้นไป และต่อมาแก้เป็น 60 ปี เราก็ไปยื่น ตอนนี้ได้ประมาณ 100 คนแรก ยังเหลืออีก 500 คน อยากให้ช่วยดูแลให้ระยะเวลาสั้นลง เพราะกระบวนการ 730 วันยาวนานมากและหลายคนก็รอไม่ไหว ขออำลา ที่แม่สายรอไม่ไหวเสียชีวิตไปมากกว่าสิบคน” นายทูล กล่าว
ในขณะที่นายตาน ชาวบ้านจาก อ.เมือง (ห้วยปลากั้ง) อายุ 73 ปี กล่าวว่า เข้ามาตั้งแต่ปี 2520 ยังถือบัตรเลข 6 อยากรู้ว่าหากจะไปเป็นสัญชาติไทยต้องทำอย่างไร จะขอได้หรือไม่
“เคยไปที่ศาลากลางปี 2557 ขอที่อำเภอเขาก็บอกว่ายังไม่อนุมัติ ปัจจุบันก็แก่กันแล้ว อยู่มานาน ลูกหลานได้เป็นคนไทย หลานเป็นทหารสองคน ไทลื้อ บัตรเลข 6 มีเยอะ ถามอำเภอก็บอกรอก่อน ขอเบอร์ไว้แต่ก็ไม่โทรมาบอกข่าวดี ขึ้นเครื่องบินหรือออกต่างจังหวัดต้องขอหนังสือเดินทาง หัวขาวแล้วยังต้องขอใบเดินทาง เจ้าหน้าที่เรียกตรวจออกต่างจังหวัด ถูกจับถูกปรับเป็นพันเป็นหมื่น” นายตาน กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี