องค์การอนามัยโลก ประกาศให้“โรคฝีดาษลิง” เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกซึ่งอาจยกระดับการเตือนภัยสูงสุดเพื่อให้มีการเร่งวิจัย จัดระดมเงินทุน วางมาตรการด้านสาธารณสุขหลังจำนวนผู้ป่วยพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 มีผู้ป่วยกว่า 13,800 คน และเสียชีวิตอย่างน้อย 450 ราย
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิงหรือ เอ็มพ็อกซ์เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก ซึ่งถือเป็นการประกาศสถานะดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 ในเวลาเพียง 2 ปี หลังเกิดการระบาดของโรคจากคองโกจนแพร่กระจายออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียง
คณะกรรมการด้านภาวะฉุกเฉินของ WHO ได้ประชุมกันก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม เพื่อให้คำแนะนำแก่นายเท็ดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO ว่าการระบาดของโรคดังกล่าวถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่ทำให้มีความหวงกังวลระดับชาติ หรือ PHEIC หรือไม่
ทั้งนี้ สถานะ PHEIC คือระดับการเตือนภัยสูงสุดของ WHO เพื่อให้มีการเร่งวิจัย จัดระดมเงินทุน วางมาตรการด้านสาธารณสุข และประสานความร่วมมือระดับโลกเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดดังกล่าว
กีบรีเยซุสกล่าวว่า ขณะนี้ได้ตรวจพบการแพร่ระบาดและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ของเชื้อฝีดาษลิงกลุ่มใหม่ในคองโกตะวันออก และยังพบเชื้อดังกล่าวในประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่เคยมีรายงานการพบเชื้อฝีดาษลิงมาก่อน ซึ่งทำให้ความเสี่ยงที่มันจะแพร่กระจายออกไปในแอฟริกาและที่อื่นๆ เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก
กีบรีเยซุกกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่า การประสานความร่วมมือในการตอบสนองต่อเรื่องดังกล่าวถือเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดและช่วยชีวิตผู้คน
ผู้อำนวยการใหญ่ WHO กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการจัดสรรเงิน 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแผนจะจัดสรรเงินเพิ่มเติมอีกไม่กี่วันข้างหน้า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเงินเบื้องต้นราว 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย WHO มีแผนจะประกาศขอความช่วยเหลือจากประเทศผู้บริจาคตามมา
ผู้อำนวยการใหญ่ WHO กล่าวว่าความเสี่ยงที่โรคนี้จะแพร่ระบาดต่อไปในแอฟริกาและที่อื่นๆ นั้น “น่าเป็นห่วงมาก” พร้อมย้ำว่าการตอบสนองระหว่างประเทศที่ประสานงานกันมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการหยุดยั้งการระบาดและช่วยชีวิตผู้คน โรคฝีดาษลิงติดต่อผ่านการสัมผัสใกล้ชิด เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสทางผิวหนัง การพูดคุยหรือหายใจใกล้ชิดกับผู้ป่วยซึ่งมีอาการคล้ายไข้หวัด
ทั้งนี้ สมาชิกทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าการพุ่งสูงขึ้นของจำนวนผู้ป่วยในปัจจุบันถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดา ขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยฝีดาษลิงในคองโกที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
ล่าสุด มีการพบว่า โรคฝีดาษลิงหรือ เอ็มพ็อกซ์ระบาดต่อเนื่องและแพร่กระจายไปทั่วพื้นที่ตอนกลางและตะวันออกของแอฟริกา ครอบคลุม คองโก บุรุนดี แอฟริกากลาง เคนยา และ รวันดา
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา (แอฟริกาซีดีซี) ระบุว่าตั้งแต่ต้นปี 2567 มีผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงกว่า 13,800 คน และเสียชีวิตอย่างน้อย 450 ราย นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 68 ของผู้ป่วยทั้งหมดเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และมากถึงร้อยละ 85 ของผู้เสียชีวิตเป็นเด็กในกลุ่มดังกล่าว
สำหรับไวรัสเอ็มพ็อกซ์มีด้วยกัน 2 ชนิดหลัก ได้แก่ สายพันธุ์แอฟริกากลาง (Clade 1) และสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก (Clade 2) โดยเมื่อปี 2565 โรคฝีดาษลิงถูกประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขมาแล้ว และครั้งนั้นเกิดการระบาดหนักจากสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกซึ่งมีความรุนแรงไม่มาก อย่างไรก็ตาม การระบาดในปีนี้เป็นสายพันธุ์แอฟริกากลางที่มีความรุนแรงมากกว่ามาก และมีอัตราการเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับการระบาดครั้งก่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี