กรมอุตุฯ เตือน 44 จังหวัดทั่วไทย ยังมีฝน มรสุมจ่อถล่ม เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก ด้าน สทนช.สั่งเฝ้าระวังสถานการณ์ใน 16 จังหวัด ช่วง 16-22 สิงหาคมนี้ อาจมีพายุ 1-2 ลูก เข้าประเทศไทย
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ทั้งนี้ เนื่องจากร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย
สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ชาวเรือหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น “อ็อมปึล” มีศูนย์กลางบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสระบุรี ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณ จ.เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณ จ.ระนอง พังงา ตรัง และสตูล ส่วน กทม.และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากในช่วงบ่ายถึงค่ำ
ส่วนพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 10 วันล่วงหน้า ระหว่างวันที่ 16–25 สิงหาคม 2567 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) วิเคราะห์ตามผลจากแบบจำลองฯ โดยช่วงวันที่ 16–22 สิงหาคม 2567 ทั่วไทยยังมีแนวโน้มของฝนเพิ่มขึ้น แต่ฝนยังเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง ตกหนักยังเกิดขึ้นทางด้านตอนบนของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและด้านรับมรสุม ในระยะนี้มรสุมที่พัดปกคลุมยังมีกำลังปานกลาง และมีแนวร่องมรสุมพาดผ่านทางภาคเหนือตอนบน ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำยังปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนาม ทำให้ตามแนวขอบของไทย (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน) มีฝน/ฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง ยังต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในบริเวณดังกล่าว ส่วนภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันตก ภาคกลาง (รวม กทม.และปริมณฑล) การกระจายของฝนส่วนใหญ่ยังเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง
ช่วงวันที่ 23-25 สิงหาคม 2567 ภาคใต้ฝนจะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะฝั่งอันดามัน มีฝนตกหนักบางแห่งต้องติดตามและเฝ้าระวัง คลื่นลมแรงขึ้น ส่วนประเทศไทยตอนบนฝนน้อยลง ระยะนี้ยังไม่พบสัญญาณการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนใกล้บริเวณประเทศไทย
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดอุทกภัยใน 16 จังหวัด โดย สทนช.ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดการณ์ว่าช่วงวันที่ 16–22 สิงหาคม 2567 จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับแนวโน้มของพายุที่จะเข้าสู่ประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า อาจมีพายุ 1–2 ลูก สำหรับพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ดังนี้ 1.พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มและบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน ภาคเหนือ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองคาย หนองบัวลำภูบึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร และนครพนม และภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด
2.เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จ.เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี และตราด และ 3.เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ ลำน้ำงาว ลำน้ำปาย แม่น้ำลาว แม่น้ำน่าน แม่น้ำยม แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก ลำน้ำก่ำ และแม่น้ำตราด
นอกจากนี้ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม 10 มาตรการฤดูฝน ปี 2567 อย่างเคร่งครัด เร่งสำรวจจุดเปราะบางแนวคันกั้นน้ำ ซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์และเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือให้มีความพร้อมใช้งาน พร้อมเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำ 64 แห่ง ที่ปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด เร่งพร่องน้ำเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำรองรับสถานการณ์ฝนในช่วงปลายเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ และเตรียมกักเก็บน้ำไว้เป็นน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงด้วย รวมทั้งแจ้งเตือนข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี