กรมฝนหลวงฯ เตรียมความพร้อมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพะเยา รองรับปัญหาภัยแล้งภาคเหนือตอนล่าง พร้อมหารือการจัดตั้งศูนย์พัฒนาปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้
17 สิงหาคม 2567 เวลา 13.00 น. นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมด้วยนายวีรวัฒน์ อังศุพาณิชย์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ และนายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านบริหาร ลงพื้นที่ ณ กองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 17 จ.พะเยา เพื่อสำรวจสนามบินที่จะใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวง รองรับแผนการจัดสร้างศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.พะเยา ในอนาคต
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการรายงานผลการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงปีที่ผ่านมา กรมฝนหลวงฯ ได้มีการปฏิบัติการทำฝนเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่เกษตร ป่าไม้ การเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างกักเก็บน้ำและเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อสำรองไว้เป็นน้ำต้นทุนให้กับเกษตรกร ประชาชนผู้ใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง สร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ ยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ รวมถึงแก้ปัญหาหมอกควัน ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 PM 10 และภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ที่มักจะเกิดปัญหาไฟป่าในช่วงเดือน มีนาคม - เมษายน โดยจากการรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาเปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน ประเทศไทยมีอากาศร้อนอบอ้าว ความชื้นในอากาศมีน้อย และมีอากาศร้อนจัดเป็นบางวัน โดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยตอนบน เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นลมใต้ แต่ในบางช่วงอาจมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปะทะกับมวลอากาศร้อนที่ปกคลุมประเทศไทย ทำให้เกิดพายุฤดูร้อน และเมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนพฤษภาคม เป็นช่วงเปลี่ยนจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝนมักเกิดพายุฝนฟ้าคะนองหรือพายุฤดูร้อนได้บ่อยครั้ง และในบางครั้งอาจมีลูกเห็บตก ทำให้พื้นที่ทางการเกษตร ประชาชนได้รับความเสียหายอีกด้วย
นายสุพิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากพี่น้องเกษตรกรภาคเหนือจะได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติแล้วนั้น ยังมีพี่น้องในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่ได้รับความเสียหายจากความแห้งแล้งที่รุนแรงขึ้นในทุกๆ ปี โดยทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทำการช่วยเหลือโดยส่งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุรินทร์ทำฝนอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ภาคการเกษตร ประชาชนผู้ใช้น้ำ ซึ่งในการนี้นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรพร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ได้เล็งเห็นถึงปัญหาของพี่น้องเกษตรกรภาคเหนือ และเกษตรกรทุ่งกุลาร้องไห้ จึงได้มีการวางแผน ประชุมหารือที่จะจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพะเยา รวมถึงหารือการจัดตั้งศูนย์พัฒนาปฏิบัติการรอบพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกร ประชาชนและผู้ใช้น้ำ รวมทั้งพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากพิบัติทางธรรมชาติ และเพื่อขยายพื้นที่การปฏิบัติการฝนหลวงให้ครอบคลุมสอดคล้องกับความต้องการน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ และพื้นที่บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ที่ประสบภาวะภัยแล้งรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกปี
อย่างไรก็ตามการปฏิบัติการฝนหลวงในระยะนี้ กรมฝนหลวงยังคงเน้นย้ำให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละพื้นที่ ติดตาม ประเมินสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ทางการเกษตร ประชาชนผู้ใช้น้ำ ทั้งนี้สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละพื้นที่ และขอรับบริการฝนหลวงผ่านช่องทางเพจเฟซบุ๊กกรมฝนหลวงและการบินเกษตร, Instagram, Tiktok, X ; @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100-18
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี