วันที่ 26 สิงหาคม 2567 นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ระหว่างวันที่ 16 - 26 ส.ค. 67 มีสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุดรธานี ระยอง ภูเก็ต ยะลา และนครศรีธรรมราช รวม 68 อำเภอ 270 ตำบล 1,469 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 30,953 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 22 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 19 ราย โดยปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 26ส.ค.2567) ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 5 จังหวัด รวม 32 อำเภอ 125 ตำบล 737 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 11,858 ครัวเรือน ดังนี้
1.เชียงราย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 15 อำเภอ ได้แก่ อ.เวียงชัย อ.เชียงแสน อ.ป่าแดด อ.พญาเม็งราย อ.แม่สาย อ.แม่จัน อ.เทิง อ.เชียงของ อ.ขุนตาล อ.เวียงแก่น อ.เมืองฯ อ.พาน อ.เวียงเชียงรุ้ง อ.แม่สรวย และ อ.แม่ลาว รวม 47 ตำบล 306 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,294 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ระดับน้ำลดลง
2.พะเยา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ปง อ.เชียงม่วน อ.ดอกคำใต้ อ.ภูซาง อ.เมืองฯ และ อ.เชียงคำ รวม 40 ตำบล 313 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,500 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ระดับน้ำลดลง
3.น่าน เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เวียงสา และ อ.เมืองฯ รวม 5 ตำบล 6 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 535 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ระดับน้ำลดลง
4.แพร่ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ร้องกวาง อ.สอง อ.เมืองฯ อ.สูงเม่น และ อ.หนองม่วงไข่ รวม 23 ตำบล 102 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 383 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ระดับน้ำลดลง
5.สุโขทัย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.ศรีสำโรง อ.กงไกรลาศ และ อ.สวรรคโลก รวม 10 ตำบล 10 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 146 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
อธิบดีปภ. กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงทุกพื้นที่ สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำ รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย และรถผลิตน้ำดื่ม เพื่อแก้ไขปัญหา เร่งระบายน้ำ บรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัย และผลิตน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
“สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป” นายไชยวัฒน์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี