"ทวี"ยัน"ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ"ไม่ได้เอื้อ"อดีตนายกฯปู"กลับไทย ย้ำยธ.ยังไม่ได้รับรายงานเรื่อง"ยิ่งลักษณ์"ยื่นขออภัยโทษเฉพาะราย ระบุเจตนารมณ์ระเบียบฯเพื่อพัฒนาพฤตินิสัยนักโทษเด็ดขาดเตรียมพร้อมก่อนปล่อย ระบุผู้ได้อานิสงส์ต้องเหลือโทษไม่เกิน 4 ปี เผยยังอยู่ระหว่างเสนอรายงานเข้าคณะกรรมการราชทัณฑ์ กำหนดสถานคุมขังอื่นและหลักเกณฑ์ผู้คุมและการรายงานตัวของนักโทษ แต่คาดล็อตแรกจะทันใช้สิ้นปี'67
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต กทม. กระทรวงยุติธรรมจัดกิจกรรมพบสื่อมวลชน “Justice with Press 2024 ยุติธรรมนำใจ เชื่อมสายใยสื่อมวลชน” นำโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม คณะผู้บริหารทีมโฆษกกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกรมภายในการกำกับของกระทรวงยุติธรรม
โดย พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการจัดทำระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 หรือระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ ที่ให้มีผลบังคับใช้ในทันที รวมถึงการจัดทำ ระเบียบแนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง ซึ่งจะต้องมารองรับระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ ว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะปัจจุบันนี้ 1 เรือนจำ/ทัณฑสถาน สามารถบรรจุจำนวนผู้ต้องขังได้ประมาณ 150,000 - 160,000 ราย และกฎหมายหรือกฎกระทรวงถือเป็นกฎหมายทันสมัย โดยมีการกำหนดให้โรงพยาบาลเป็นที่คุมขังสำหรับผู้ต้องขังป่วย
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มีมาตรา 33 มาตรา 34 ที่ต้องการให้มีที่คุมขังอื่น แต่ต้องไม่ใช่สถานที่คุมขังที่อำนวยความสะดวก ยกตัวอย่างกรณี นายเชาวลิต ทองด้วง หรือ แป้ง นาโหนด อาจต้องไปอยู่ที่คุมขังอื่น แต่ต้องเป็นที่ที่จะทำให้เขาไม่หลบหนีอีกและไม่ก่อเหตุร้าย และต้องมีการพัฒนาพฤตินิสัยได้รับการพัฒนาให้ประสิทธิภาพและศักยภาพ เมื่อกลับสู่สังคมก็ต้องไม่ไปกระทำความผิดซ้ำอีก เช่น มีสถานสำหรับเรียนหนังสือ สถานที่ฝึกอาชีพ หรืออาจเป็นเรือนจำซูเปอร์แม็กซ์ก็ได้ ดังนั้น สถานที่คุมขังอื่น เดิมอาจจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน แต่ตอนนี้ตนทราบว่า นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ทำระเบียบ แนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง หรือหลักเกณฑ์ เรียบร้อยแล้ว แต่เพื่อให้เกิดความรอบคอบ จึงต้องนำเรื่องรายงานเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการราชทัณฑ์ก่อน โดยในชุดคณะกรรมการฯ จะมีผู้แทนจากหน่วยต่าง ๆมาช่วยดูรายละเอียด ทั้งจากอัยการสูงสุด ศาลยุติธรรม เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เป็นต้น เพื่อให้บรรจุวัตถุ ประสงค์ลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ ส่วนคนที่เข้าเกณฑ์อาจเป็นผู้ต้องขังเจ็บป่วย ผู้ต้องขังสูงอายุมากกว่า 70 ปี หรือผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ ซึ่งควรจะได้รับการดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า สำหรับคุณสมบัติของผู้ต้องขังที่มีเกณฑ์อาจเข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์คุมขังนอกเรือน จำนั้น เดิมทีกำหนดให้เป็นผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย หรือประมาณโทษ 4 ปี แต่ในระเบียบก็ไม่ได้มีการกำหนดอัตราโทษไว้ “ผู้ต้องขังเด็ดขาดได้รับสิทธิประโยชน์คุมขังนอกเรือนจำ ส่วนผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี เราได้ทำมาตรา 89/1 สามารถให้ศาลมีคำสั่งไปอยู่บ้านได้ หากเขาได้รับการประกันตัวชั่วคราว โดยศาลอาจมีเงื่อนไขให้ราชทัณฑ์ไปช่วยดูแลผู้ต้องขัง อย่างไรก็ตาม อยู่ที่เรือนจำแต่ละเเห่งไปพิจารณาว่าผู้ต้องขังเด็ดขาดรายใดมีพฤติกรรมดี ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี หรือไปก่อเหตุร้าย และไม่ไปยุ่งเหยิงสิ่งใด
ส่วนคดีข่มขืนหรือคดีที่มีการกระทำความผิดซ้ำตาม พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 หรือกฎหมาย JSOC ก็อาจจะได้รับสิทธิประโยชน์ตรงนี้ แต่หลักสำคัญของสถานที่คุมขังอื่นก็เพื่อพัฒนาพฤตินิสัย ดังนั้น การใช้กฎหมายของกระทรวงยุติธรรมต้องใช้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมถึงนักโทษเด็ดขาดในรายคดีรุนแรง ก็อาจได้สิทธิในระเบียบนี้เหมือนกัน แต่เราก็ต้องไปหารือพูดคุยกับหน่วยงานราชการอื่นถึงความพร้อมในการใช้สถานที่ใดเป็นสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ และจากนั้นจึงจะมีการไปตรวจสอบสถานที่นั้นๆว่าเข้ามาตรฐานหรือไม่ ส่วนคดีทุจริตคอรัปชั่น ไม่ใช่คดีการกระทำความผิดซ้ำตามกฎหมาย JSOC แต่ว่าส่วนใหญ่เราก็ให้ความสำคัญ ให้ความระวัง เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างความรู้สึกของประชาชน แม้มีกฎหมายบัญญัติแต่ก็ต้องดูความเหมาะสมประกอบ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงมาตรการเบื้องต้นสำหรับผู้ต้องขังที่ได้คุมขังสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ ว่า บางรายอาจต้องให้ศาลมีคำสั่งติดกำไล EM มีการรายงานตัวในระบบออนไลน์ มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าไปสอดส่องตรวจตรา และบางส่วนอาจต้องมีการทำหนังสือลงนาม (MOU) กับตำรวจหรือทหาร เป็นต้น แต่ ณ ตอนนี้ตนยังไม่สามารถระบุจำนวนผู้ต้องขังที่อยู่ในข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ตามระเบียบคุมขังนอกเรือนจำได้ เพราะเกณฑ์ต่างๆ เจตนารมณ์กฎหมายของราชทัณฑ์เขียนไว้ตอนท้ายว่าที่ผ่านมาไม่ใช้คณะกรรมการบริหารราชทัณฑ์ให้เป็นประโยชน์ จากนี้จึงต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ คณะกรรมการราชทัณฑ์ มีทั้งนักอาชญาวิทยา นักจิตวิทยา นักทัณฑวิทยา ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดู และเราก็ต้องระวังเรื่องความปลอดภัยของสังคมและตัวผู้ต้องขังเอง หากต้องไปคุมขังนอกเรือนจำ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า โดยเกณฑ์ต่างๆ รมว.ยุติธรรม ไม่ใช่ผู้กำหนด แต่เป็นผู้แทนจากหน่วยงานภายในชุดคณะกรรมการราชทัณฑ์ พิเคราะห์ว่าทำอย่างไรให้เรือนจำไม่ถูกมองว่าเป็นที่แออัดยัดเยียด จึงต้องให้เรือนจำแต่ละแห่งไปดูว่าสถานที่ใดจะใช้เป็นสถานที่คุมขังอื่นได้บ้าง และทุกที่ต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ จะทันกรอบสิ้นปี 2567 หรือไม่นั้น อยู่ที่แต่ละเรือนจำและต้องรอการแต่งตั้งครม.ให้แล้วเสร็จก่อน เพราะยังเป็นเรื่องใหม่และคนสงสัย กฎหมายก็ต้องปฏิบัติได้จริง
พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่า ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำไม่เกี่ยวข้องกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะมันเป็นสุญญากาศ เราจึงต้องทำ แม้กระทั่งก่อนหน้านี้ที่มีการประกาศเรื่องระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ ออกมา ก็มีการคิดโยงไปว่าเกี่ยวกับ นายทักษิณ ชินวัตร จึงทำให้ผู้ต้องขังเสียโอกาสไปเยอะ ทั้งนี้ แม้เปลี่ยนหัวหน้ารัฐบาลแล้ว แต่ในตอนนี้กระทรวงยุติธรรม ยังไม่ได้รับเรื่องประสานกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะมีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายแต่อย่างใด
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี