‘กทม.’เผยภาพรวมยังรับมือน้ำเหนือได้ เฝ้าระวังน้ำจาก‘สุโขทัย’คาดมาถึงใน 7 วัน เฝ้าระวังด่านหน้า‘สถานีบางไทร’ เสริมแนวเขื่อนริมเจ้าพระยาพร้อมรับน้ำได้ถึง 3,500 ลบ.ม. ห่วงฝนหนัก ก.ย.-พ.ย.เตรียมพร้อมทุกระบบ
27 สิงหาคม 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร , นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือและน้ำฝนของกรุงเทพมหานคร พร้อมลงเรือตรวจสอบความพร้อมแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากท่าเรือส่วนการท่องเที่ยว ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เขตพระนคร ถึงวัดสร้อยทอง เขตบางซื่อ โดยมี ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการระบายน้ำ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมคณะ
นายชัชชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ฝนที่ตกภาคเหนือเป็นฝนที่ตกมากกว่าปกติ 200 มม.ใน 2 วัน คือสัญลักษณ์ว่าโลกเปลี่ยนไป ปริมาณน้ำที่ไหลลงมาอาจจะไม่มาก และมีกำลังที่รองรับได้มากพอ สถานการณ์แตกต่างจากปี 54 สิ้นเชิง ไม่รุนแรงเท่า แต่เราก็ไม่ประมาท มวลน้ำจากสุโขทัยที่จะลงมาไม่น่ากังวล ยังมีความจุอีกมาก ที่ต้องระวังคือฝนถ้าตกหนักที่กรุงเทพฯ หากตกถึง 200 มม. ก็เอาเรื่องอยู่ แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเราก็ได้ทำโครงสร้างหลายโครงการที่ทำให้ระบบจัดการดีขึ้น หลายๆจุดน้ำลงเร็วขึ้น โดยเฉพาะถนนสายหลัก ที่กังวลตอนนี้คือปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักเป็นจุดๆ ก็ต้องเตรียมระบบปั๊มสูบน้ำเคลื่อนที่เร็วให้มากขึ้น
ด้านนายวิศณุ กล่าวถึงความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ ว่า จากสถานการณ์พื้นที่ทางภาคเหนือมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และอาจส่งผลกระทบให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กรุงเทพมหานครได้ติดตามสถานการณ์และประสานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อยู่เป็นประจำ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครได้
“น้ำเหนือปีนี้ต่างจากปี 54 ความสามารถการรับน้ำของเขื่อนหลักยังสูงอยู่ ให้พี่น้อง กทม.สบายใจได้ว่าน้ำเหนือก้อนนี้ไม่มีผล กทม.เรามอนิเตอร์และประสานกับกรมชลประทานตลอด แนวเขื่อนริมเจ้าพระยาเรามีการเสริมคันให้สูงขึ้นจากปี 54 รวมถึงจุดฟันหลอ และจุดรั่วซึมได้วางแนวกระสอบทรายแล้ว สามารถรับน้ำเหนือที่จะลงมาได้ ขอไม่ต้องวิตกกังวล กทม.ไม่ประมาทได้ตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมทั้งหมด เฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม และติดตามสถานการณ์น้ำเหนืออย่างใกล้ชิด” นายวิศณุ กล่าว
สำหรับสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสัก เปรียบเทียบ ณ วันและเวลาเดียวกัน (25 ส.ค. 66 กับ 25 ส.ค. 67) พบว่า ปีนี้ดีกว่าและยังสามารถรองรับน้ำได้เพิ่ม ทั้งนี้ ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิดจากมวลน้ำที่มาจากแม่น้ำยม ซึ่งจะไม่ไหลเข้าเขื่อนหลักและระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมวลน้ำไหลลงมาถึงจังหวัดสุโขทัย และคาดว่าจะมาถึงกรุงเทพมหานคร ใช้เวลาประมาณ 7 วัน (2 ก.ย. 67) โดยอัตราการระบายน้ำที่ต้องเฝ้าระวังก่อนถึงกรุงเทพมหานครคือที่สถานีบางไทร ซึ่งอัตราการระบายน้ำที่สถานีบางไทร ณ วันที่ 25 ส.ค.67 เฉลี่ยอยู่ที่ 800 ลบ.ม./วินาที โดยอัตราการระบายน้ำที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ที่ 2,500 ลบ.ม./วินาทีขึ้นไป
ในส่วนของคันกั้นน้ำริมเจ้าพระยา ได้ตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ ความยาวประมาณ 80 กม. ซึ่งหลังจากปี 54 เป็นต้นมา ได้เสริมแนวคันกั้นน้ำถาวรริมเจ้าพระยาสูงขึ้นตลอดแนวที่ระดับ 2.80-3.50 ม.รทก. และเรียงกระสอบทรายเป็นเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำตามจุดต่างๆ ศักยภาพรับปริมาณน้ำได้ถึง 3,500 บ.ม./วินาที รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 96 สถานี และบ่อสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งในช่วงน้ำทะเลขึ้น พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังประจำจุด เครื่องสูบน้ำสำรอง เรือผลักดันน้ำ วัสดุอุปกรณ์ กระสอบทราย ตลอดจนเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (BEST) และอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมปฏิบัติการและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันทีเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ มีชุมชนนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 16 ชุมชน 731 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ได้สั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่ ประกอบด้วย เขตดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และเขตคลองสาน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนชุมชนและให้เตรียมขนย้ายสิ่งของให้อยู่ในที่สูง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูง นอกจากนี้ได้สั่งการสำนักงานเขตที่มีพื้นที่อยู่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาสำรวจพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉินต่างๆ อย่างทันท่วงที
นายวิศณุ ยังกล่าวถึง สถานการณ์ฝนที่จะตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า มีความกังวลฝนหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนัก ช่วง ก.ย.-พ.ย.67 ใกล้เคียงปี 65 ที่ ก.ย.ปริมาณฝน 800 มม. จุดอ่อนอยู่พื้นที่ฝั่งตะวันออกที่ยังมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำอยู่ ก็ได้เตรียมความพร้อมในทุกส่วน ทั้งการลดระดับน้ำรองรับฝน อาทิ พร่องน้ำในคลอง สร้างธนาคารน้ำ(water bank) แก้มลิง ล้างทำความสะอาดและบำรุงรักษา อุโมงค์ระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำ แล้วเสร็จ 100% ทุกจุด รวมถึงเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่
สำหรับภาพรวมฝนปีนี้ฝนตกรวมใกล้เคียงปีที่แล้ว ปริมาณฝน ปี 2567 ในเดือนสิงหาคมมีปริมาณฝนอยู่ที่ 208.5 มิลลิเมตร มีค่าน้อยกว่าปี 2566 ซึ่งมีค่าอยู่ที่ 224 มิลลิเมตร และ ปริมาณฝนสะสมในปี 2567 อยู่ที่ 842.5 มิลลิเมตร มีค่าใกล้เคียงกับปี 2566 อยู่ที่ 811.50 มิลลิเมตร ทั้งนี้ จากสถานการณ์ฝนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ากรุงเทพมหานครมีความพร้อม ทั้งในด้านของอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงความพร้อมของประตูระบายน้ำและคันกั้นน้ำริมแม่น้ำในการรับมือกับสถานการณ์น้ำฝน น้ำเหนือและน้ำทะเลหนุนที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ
ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร สามารถติดตามสถานการณ์น้ำและฝน ได้ที่ facebook และ Xกรุงเทพมหานคร, ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร เว็บไซต์ www.prbangkok.com http://dds.bangkok.go.th/ แจ้งเหตุเดือดร้อนและขอรับความช่วยเหลือจาก กทม. ได้ที่ Traffy Fondue, facebook ศูนย์ประสานงานน้ำท่วม กทม. สายด่วน โทร. 1555 ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำ โทร.02-248-5115
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี