สุขภาพจิตคนไทยน่าห่วง! สถิติปลิดชีพตัวเองพุ่ง-อาชญากรวัยเยาว์เพิ่ม มีแค่ 2.8% กล้าเมินนายสั่งงานนอกเวลา
เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2567 ที่งานแถลงข่าวโครงการ Happyland แดน (เคย) สุขใจ ที่สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS นพ.จุภภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า สถานการณ์สุขภาพจิตในสังคมไทย โดยในปี 2558 ประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเวช 1.3 ล้านคน แต่ในปี 2564 พบว่าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.3 ล้านคน ขณะที่ในปี 2565 มีผู้สูงอายุราว 8 แสนคน จากผู้สูงอายุทั้งหมดราว 13 ล้านคน เสี่ยงภาวะสมองเสื่อม และจำนวนนี้ร้อยละ 90 มีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตร่วมด้วย เช่น ภาวะซึมเศร้า เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจ เพราะผู้สูงอายุบางรายอาศัยอยู่โดดเดี่ยว ลูกหลานออกไปทำงานข้างนอก
ในส่วนของวัยรุ่น พบ 1 ใน 4 ของเด็กอายุ 5-9 ปี และ 1 ใน 7 ของเยาวชนอายุ 15-19 ปี มีปัญหาจิตเวช ที่น่าสนใจคือพบอัตราการฆ่าตัวตายในประชากรวัยรุ่นเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย โดยสถิติในระดับโลก พบว่า การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของวัยรุ่น เป็นรองอุบัติเหตุบนท้องถนน ที่อยู่ในอันดับ 1 และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่อยู่ในอันดับ 2
ส่วนอัตราการฆ่าตัวตายในภาพรวมของไทย พบว่า เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 โดยในปีงบประมาณ 2561 อยู่ที่ 6.09 ต่อแสนประชากร จากนั้นปีงบประมาณ 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 6.67 ต่อแสนประชากร ปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 7.26 ต่อแสนประชากร ปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 7.5 ต่อแสนประชากร ปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 7.75 ต่อแสนประชากร และปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 7.94 ต่อแสนประชากร ใกล้เคียงกับในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540
“เราโทษโควิดไม่ได้ เพราะตัวเลขในปี 2562 อัตราการฆ่าตัวตายกำลังเชิดหัวขึ้น ยังไม่เกิดโควิดด้วยซ้ำไป โควิดเกิด 2563 กรมสุขภาพจิตก็ประเมินว่าน่าจะเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจ พอมาปี 2563 โควิดค่อยๆ ขยับขึ้น จนปี 2566 เราอยู่ที่ 7.94 ต่อแสนประชากร ก็ประมาณสัก 5,000 ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 5,000 รายต่อปี ใกล้เคียงกับต้มยำกุ้ง อัตราการฆ่าตัวตายเราประมาณ 8.9 ต่อแสน เป็นที่มาที่กรมสุขภาพจิตต้องมาทำโครงการป้องกันการฆ่าตัวตาย ตั้งแต่ปี 2541-2542 เป็นต้นมา” นพ.จุภภฎ กล่าว
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อไปว่า การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาที่น่าห่วงใย เพราะบางครั้งคนที่ฆ่าตัวตายบางคนไม่เคยเจ็บป่วยมาก่อน แต่ไม่สามารถทนกับความเครียดหรือแรงกดดันได้ และคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จนั้นมาจากการตัดสินใจโดยใช้วิธีที่รุนแรง ซึ่งสื่อก็มีส่วน อย่างน้อยก็ให้เห็นวิธีการว่ามีการฆ่าตัวตายเพราะอะไรบ้าง และนำไปสู่การเลียนแบบได้
ทั้งนี้ สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเชื่อมโยงต่อเนื่องกับปัญหาเศรษฐกิจ ส่งผลให้คนไทยเป็นหนี้ ตกงาน และคนที่มีรายได้น้อยสุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ขณะที่ปัญหาความเครียดในวัยทำงาน พบว่า จากสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ที่มีการโทรศัพท์เข้ามาประมาณ 8,000 ราย ในปี 2566 พบเกือบ 6,000 ราย ยอมรับว่ามีปัญหาสุขภาพจิต เมื่อดูการเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาหรือบำบัดรักษาอาการป่วยทางจิต พบว่า ในขณะที่ผู้ป่วยจิตเวชมีจำนวน 2.3 ล้านคน แต่ประเทศไทยมีจิตแพทย์ไม่ถึง 1,000 คน
โดยอัตราส่วนจิตแพทย์ในไทยอยู่ 1.25 ต่อแสนประชากร น้อยกว่าเกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่าควรอยู่ที่ 1.7 ต่อแสนประชากร แต่ก็มีข้อจำกัดว่าไม่สามารถผลิตเพิ่มได้โดยง่ายเพราะต้องควบคุมมาตรฐานด้านคุณภาพด้วย แต่อีกด้านหนึ่ง ในปี 2565 มีผู้ป่วยจิตเวชก่อเหตุรุนแรง 3,815 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 13 เป็นการก่อเหตุซ้ำ สะท้อนทัศนคติของผู้ป่วยและญาติในการมารับยาเป็นประจำยังไม่ดีพอ ปล่อยให้ขาดยาจนอาการกำเริบ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ในการก่อเหตุรุนแรงในสังคมทั้งหมด เกิดจากผู้ป่วยจิตเวชเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น
..
ในขณะที่ความเชื่อมโยงระหว่างการใช้ยาเสพติดกับปัญหาจิตเวช เหมือนเรื่องไก่กับไข่เพราะไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นก่อน กล่าวคือ ร้อยละ 39.9 ของผู้ใช้ยาเสพติด มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคทางจิตเวช แต่ในทางกลับกัน ร้อยละ 23.6 ของผู้ป่วยจิตเวชมีแนวโน้มจะใช้ยาเสพติด ทั้งเพื่อการรักษาตนเองหรือถูกชักชวน เช่น กินยารักษาอาการทางจิตแล้วเกิดอาการง่วง ก็ไปเสพยาบ้าบ้าง ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ้าง
“ปัญหาการใช้อินเตอร์เน็ตก็เป็นเรื่องสำคัญ คนไทยเราใช้อินเตอร์เน็ตประมาณ 7 ชั่วโมง 25 นาที แต่ในเจเนอเรชั่นวาย (Gen Y) ประมาณ 8 ชั่วโมง 55 นาที ปัญหากำลังจะบอกอะไร? การใช้อินเตอร์เน็ตมีปัญหากับสมอง มีปัญหา 3 ด้าน 1.ความจดจ่อต่องาน ทำให้สมาธิสั้น 2.เรื่องของอารมณ์ ทำให้ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ และ 3.ปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว-กับคนในสังคมไม่ดี ฉะนั้นมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตแน่นอน ถ้าเด็กโดยเฉพาะวัยเรียน-วัยรุ่นอยู่กับอินเตอร์เน็ตมากเกินไป” นพ.จุภภฎ ระบุ
นพ.จุภภฎ ยังกล่าวอีกว่า สถิติการก่ออาชญากรรมของเด็กและเยาวชนก็มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยกลุ่มอายุ 10-15 ปี ในปี 2565 มีผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและก่อคดี 19 ราย ไม่มีปัญหาสุขภาพจิตแต่ก่อคดี 1,669 ราย แต่ในปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 26 ราย และ 2,383 ราย ตามลำดับ ส่วนกลุ่มอายุ 15-18 ปี ในปี 2565 มีผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและก่อคดี 126 ราย ไม่มีปัญหาสุขภาพจิตแต่ก่อคดี 10,334 ราย จากนั้นในปี 2566 ในส่วนของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและก่อคดี เพิ่มเป็น 160 ราย ส่วนกลุ่มที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจิตแต่ก่อคดี ลดลงมาอยู่ที่ 9,954 ราย ซึ่งก็ถือเป็นสถิติที่น่าห่วงใย
อย่างไรก็ตาม เมื่อมาดูการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยรัฐ พบว่า ในปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 13.5 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของประเทศ หากเทียบกับประเทศในระดับเดียวกันถือว่ากลางๆ ไม่มากหรือน้อยเกินไป แต่เมื่อดูในส่วนงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ พบว่า มีเพียงร้อยละ ร้อยละ 2.3 เท่านั้นที่เป็นด้านสุขภาพจิต ทั้งที่ปัญหามีแนวโน้มจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่หากเกิดขึ้นแล้วส่งผลยืดเยื้อยาวนานและไม่ได้กระทบเฉพาะต่อตัวผู้ป่วยเท่านั้น โดยพบว่า ผู้ป่วยจิตเวช 1 คน ต้องใช้คนของครอบครัวประมาณ 4 คนในการดูแล
ด้าน ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเล็กๆ ประมาณ 200 คน ซึ่งเป็นประชากรวัยทำงาน ว่าด้วย “ภาวะฝืนทำงานแม้จะมีการเจ็บป่วยทางกาย” พบว่า คนไทยมีความตระหนักรู้พอสมควรว่าเมื่อมีปัญหาสุขภาพจิตแล้วต้องเริ่มดูแลตนเอง สะท้อนจากกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม คือประมาณร้อยละ 50 ระบุว่า ไม่เคยมีปัญหาสุขภาพจิตในระดับถึงขั้นต้องลางาน และอีกประมาณร้อยละ 15 ลางานทุกครั้งที่มีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่ง 2 กลุ่มนี้รวมกันถือเป็นกลุ่มใหญ่
ซึ่งในมุมของนักจิตวิทยา 2 กลุ่มนี้น่าสนใจ เพราะในเมื่อปัญหามีเยอะ หากทำให้คนเหล่านี้ดูแลจิตใจตนเองได้ดี สามารถเข้าถึงการดูแลจิตใจได้ จึงควรพัฒนานโยบายต่างๆ เพื่อลดโอกาสที่ปัญหาจะยกระดับรุนแรงขึ้นไปถึงขั้นซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่คนยอมฝืนทำงานแม้จะมีการเจ็บป่วยทางกาย พบว่า อันดับ 1 ไม่มีใครสามารถทำงานที่รับผิดชอบแทนได้ ร้อยละ 22.2 รองลงมา มีงานด่วนหรือต้องทำงานสำคัญในวันนั้น ร้อยละ 20.6
อันดับ 3 มีความจำเป็นเรื่องเงินหรือกลัวได้รับผลกระทบต่อการประเมิน ร้อยละ 17.5 และอันดับ 4 ร้อยละ 14.3 มีเท่ากัน 2 เหตุผล คือ 4.1 เพราะความจำเป็นหรือเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องไปทำงาน และ 4.2 รู้สึกว่ายังพอทนไหว หรือยังเป็นไม่มากพอถึงขั้นสมควรหยุดพัก ซึ่งจากข้อมูลชุดนี้สรุปได้ว่า แม้จะเห็นว่างานเป็นสิ่งสำคัญแต่ก็อยากให้สร้างสมดุลระหว่างการทำงานกับการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ เพราะมนุษย์คงไม่สามารถทำงานได้เหมือนกับหุ่นยนต์ หากดูแลสุขภาพให้ดีก็จะทำงานได้ดี
“แค่ 2.8% ของคนที่เราสำรวจ บอกว่าฉันมีสิทธิ์ปิดการสื่อสารหลังเวลาเลิกงาน คือตอนนี้ถ้าเรานั่งกัน 50 คน มีประมาณ 1 คนครึ่งที่รู้สึกว่าถ้าเกิดนายไลน์มาหลังเวลาเลิกงานฉันไม่ตอบได้ ถามว่าสิ่งนี้ส่งผลต่อคนอย่างไร? การที่เราต้อง Engage (ผูก) อยู่กับงานเป็นระยะเวลานานๆ ส่งผลต่อความเครียด ส่งผลต่อการที่เราไม่สามารถจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่คนแค่ 2.8% รู้สึกว่าฉันมีสิทธิ์ที่จะปิดการสื่อสาร” ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าว
ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าวต่อไปว่า จริงๆ มีข้อมูลประเทศทางโลกตะวันตก เช่น แคนาดา เป็นกฎหมายระบุชัดเจนว่าลูกจ้างมีสิทธิที่จะไม่ติดต่อกลับหลังเวลาเลิกงาน แต่ถามคนในสังคมไทยว่า สมมติเจ้านายหรือหัวหน้างานไลน์มาตอนสามทุ่ม บอกว่ามีเรื่องด่วนจะตอบหรือไม่? หรือบอกว่าขอสั่งงานไว้แล้วส่งวันหลังก็ได้ เราจะรู้สึกกดดันหรือไม่? แต่อีกด้านหนึ่ง การสำรวจยังพบบางองค์กรที่มีบริการด้านสุขภาพจิต เช่น มีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยามาให้คำปรึกษา มีกิจกรรมอบรม มีการสำรวจสภาพจิตใจของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ
ซึ่งตนอยากบอกกับผู้ประกอบการหรือผู้บริหารองค์กร ว่า การมีโปรแกรมสุขภาพจิตสำหรับพนักงานไม่ได้เป็นเพียงการดูแลพนักงานเท่านั้น แต่เป็นการส่งสารถึงพนักงานด้วยว่าองค์กรใส่ใจพนักงาน อย่างไรก็ตาม เข้าใจได้ว่าสวัสดิการด้านการตรวจรักษานั้นมาพร้อมกับภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้น แต่มีความเห็นจากกลุ่มตัวอย่าง เช่น ร้อยละ 13.1 ระบุว่า ต้องการวันลาพักด้านจิตใจโดยไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ เพราะในสังคมไทยยังมีการตีตราคนที่เข้ารับการรักษาสุขภาพจิตอยู่ การต้องขอใบรับรองแพทย์แล้วอาจรู้กันทั้งองค์กร ทำให้อาจลังเลขอรับความช่วยเหลือได้
หรือกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.3 ระบุว่า ต้องการพื้นที่ปลอดภัยให้สามารถสื่อสารหรือระบายปัญหาที่พบเจอได้ เป็นการส่งเสริมการพูดคุยที่รับฟังกันและกัน ซึ่ง 2 นโยบายนี้สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ แต่ตอบสนองเรื่องการดูแลจิตใจคนวัยทำงาน โดยสรุปแล้ว เรื่องสุขภาพจิตหากเริ่มทำในระดับที่ทรัพยากรที่มีสามารถทำได้ การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี