เกี่ยวกับการบุกรุกนั้นได้ถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุขต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และยังมีบทกำหนดโทษที่รุนแรงซึ่งเรียกว่าเหตุฉกรรจ์ไว้ในมาตรา 365 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 362 มาตรา 363หรือมาตรา 364 ได้กระทำ
(1) โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
(2) โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ
(3) ในเวลากลางคืน
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งในบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวข้างต้นคงไม่มีปัญหาถ้าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายนั้นเป็นประเภทที่ดินมีโฉนด
แต่สำหรับประเภทที่ดินที่ไม่ได้มีโฉนดแต่เป็นสิทธิการครอบครองอาทิ ที่ดินจัดสรรนิคมสร้างตนเอง ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ทางราชการยังไม่ได้จัดให้เป็นที่ทำกินของราษฎร ที่ดินจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินที่ยังไม่ได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ เป็นต้น ผู้เสียหายหรือโจทก์จะต้องดำเนินการให้ครบองค์ประกอบในเรื่องของการครอบครองหรือการได้สิทธิ์ของที่ดินประเภทนั้นๆ เสียก่อน
ซึ่งตัวอย่างที่ดินประเภทข้างต้นนั้นองค์ประกอบสำคัญคือการมีชื่อและเข้าครอบครองทำประโยชน์ตามหลักเกณฑ์และองค์ประกอบทางกฎหมายของที่ดินประเภทนั้นๆ ลำพังเพียงแค่การมีชื่อในเอกสารจากการจัดสรรที่ดินแต่ยังมิได้เข้าทำประโยชน์นั้นยังไม่ถือว่าเป็นการครอบครองอันมีสิทธิ์ตามกฎหมาย
เมื่อกรณีเกิดปัญหาที่บุคคลอื่นเข้ามาบุกรุก ใช้ประโยชน์หรือดำเนินการใดๆในที่ดินดังกล่าว ผู้ที่มีชื่อตามเอกสารสิทธิดังกล่าวอาจจะยังไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิ์ดำเนินคดีข้อหาบุกรุกได้
โดยในกรณีดังกล่าวเคยมีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกามาเป็นตัวอย่างจำนวนมากเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 723/2509 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในที่พิพาท ของผู้เสียหายโดยอ้างว่าได้รับการจัดสรรจากนิคมสร้างตนเอง ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพมาตรา 7,8 กำหนดให้ ผู้รับการจัดสรรจะต้องเข้าครอบครอง ทำประโยชน์และปฏิบัติการอย่างอื่นอีก เมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายไม่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ตามหลักเกณฑ์จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการรบกวนสิทธิ์หรือการครอบครองของผู้เสียหาย
คำพิพากษาฎีกาที่ 326/2509 ผู้เสียหายได้รับการจัดสรรที่ดินจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินแต่ยังไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้เสียหายจึงยังไม่ได้สิทธิ์ครอบครองที่ดินพิพาท การที่จำเลยเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาท จึงยังไม่เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาโดยปกติสุขของผู้เสียหาย
ซึ่งกรณีดังกล่าวหมายถึงกรณีพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกันไม่ว่าจะเป็นการยื่นฟ้องเองหรือการแจ้งความร้องทุกข์เเละดำเนินคดีผ่านพนักงานอัยการในฐานะที่บุคคลหรือเอกชนเป็นผู้เสียหายเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงกรณีที่เป็นหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นผู้ดูแลครอบครองที่ดินพิพาทและอ้างสิทธิ์เพื่อใช้ในการฟ้องคดีบุกรุก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี