มท.จัดประกวดยิ่งใหญ่
‘ผ้าลายสิริวชิราภรณ์’
ปลัด มท. และนายกสมาคมแม่บ้าน มท.เปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ภาคเหนือ ปลื้มมีผลงานผ้าส่งประกวดกว่า 1,000ผืน และย้ำชาว พช. มุ่งมั่นน้อมนำพระดำริ “เจ้าฟ้าสิริวัณณรีฯ” พัฒนาศักยภาพประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม . ที่ห้องยี่เป็งแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ภาคเหนือ ตามโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทยและงานหัตถกรรม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตนยินดีที่เห็นพวกเราชาวมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน ที่มุ่งมั่น ทุ่มเท และตั้งใจในการสนองพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งพระดำรินั้น คือ “การช่วยทำให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” น้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระปฐมบรมราชโองการ 4 พฤษภาคม 2562 “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระราชดำรัส 30 มิถุนายน 2563 “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” อันสะท้อนให้เห็นความปรารถนาของพระองค์ท่านในการนำสิ่งที่ดีงามที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานไว้ ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาขับเคลื่อนในการช่วยทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยมีความสุขอย่างยั่งยืน และส่งผลให้ประเทศชาติมีความมั่นคงด้วย โดยสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยความเพียรพยายามขับเคลื่อนให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเล็งเห็นจุดแข็งของคนไทยในทุกภูมิภาคว่า “มือเย็น” เพราะมือคนไทยจับต้องอะไรก็ดีไปหมด จับผัก จับเนื้อสัตว์ ก็เป็นอาหารเลิศรส จับเส้นไหม เส้นด้าย ก็กลายเป็นผืนผ้าที่สวยงาม จับไม้ไผ่ จับหวาย ก็กลายเป็นชิ้นงานที่มีความสวยงาม จับเครื่องดนตรีก็กลายเป็นเสียงเพลงที่ไพเราะ จับเหล็ก จับพลาสติก ก็กลายเป็นชิ้นงานที่มีคุณภาพ จนกระทั่งแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกเลือกตั้งฐานการผลิตที่เมืองไทย เพราะแม้ค่าแรงที่แพงกว่าของคนไทยแต่ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพ สมบูรณ์มากกว่าด้วยมือของคนไทย โดยเฉพาะในเรื่อง “งานผ้า” ที่พระองค์ได้ทรงทุ่มเทพระวรกายและพระสติปัญญาในการสร้างสรรค์ นับแต่พระดำริ ผ้าไทยใส่ให้สนุก ลวดลายผ้าพระราชทานทั้ง 8 ลาย และ Sustainable Fashion อันสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติ (UN) หลายข้อ โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งกลไกหุ้นส่วนความร่วมมือสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน จนกระทั่ง UN ยกย่องว่า ผ้าไทยเป็น Top 5 ของโลกที่มีเครื่องแต่งกายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
ด้าน ดร.วันดี กล่าวว่า ไม่มีพระมหากษัตริย์ของประเทศใดที่จะพระราชทานความสุขที่ยั่งยืนให้กับประชาชนด้วยการทุ่มเทพระวรกายทรงงานอย่างหนัก และพวกเราคนไทยโชคดีที่มีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงตั้งแต่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของ COVID - 19 พระองค์ทรงลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการรื้อฟื้นและต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทย ด้วยการพระราชทานผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ จนทำให้ “เสียงกี่ที่เงียบหาย” ได้กลับมากระทบถักทอผ้า สร้างความครึกครื้นแก่วงการผ้าไทยอีกครั้ง ดังผ้าลายพระราชทาน 8 ลาย จากกรรมวิธีผ่านกี่ทอผ้า ที่มียอดจำหน่ายกว่า 8 หมื่นล้านบาท ส่งผลเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนชนบททั่วประเทศ มากไปกว่านั้นพระองค์ยังทรงให้ความสำคัญด้านการส่งเสริมการตลาดเต็มรูปแบบและความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม ดังพระราชดำริ Sustainable Fashion ที่เราจะต้องร่วมกันน้อมสำนึกในพระกรุณาคุณ “ช่วยกันสื่อสารถ่ายทอดอย่างต่อเนื่องดังสายน้ำที่ไม่หยุดไหลไปทุกหนแห่ง”
นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” มาจัดประกวด จำนวน 14 ประเภท โดยมีผู้ส่งผลงานผ้าและงานหัตถกรรม รวม 8,651 ชิ้น แบ่งเป็น ประเภทผ้า 8,117 ผืน งานหัตถกรรม 500 ชิ้น ซึ่งในส่วนของภาคเหนือ มีผู้ส่งผลงานประเภทผ้า 1,353 ผืน และงานหัตถกรรม 216 ชิ้น
นายวีระพงษ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การประกวดลายผ้าในครั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่มีช่างทอ ช่างปัก และผู้ผลิตผ้าส่งผลงานเข้าประกวด รวม 255 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นประเภทผ้า 173 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 82 ชิ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี