‘รมว.แรงงาน’ดึง‘พรรคการเมือง-นักวิชาการ-นักการเงินการธนาคาร-กองทุนเทมาเส็ก’ ระดมกึ๋นสางปัญหาการล่มสลายของ‘กองทุนประกันสังคม’ในอีก 30 ปีข้างหน้า ยันให้ความสนใจแก้ปัญหา เร่งคลายปมก่อนสายเกินแก้
1 กันยายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของกองทุนประกันสังคม ที่จะเกิดปัญหาในอนาคตข้างหน้า ว่า ข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) มีการคํานวณและตั้งสมมติฐานไว้ว่ากองทุนประกันสังคมในปี พ.ศ.2567 คาดว่าขนาดกองทุนประกันสังคม มีประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท และในอีก 10 ปีข้างหน้า กองทุนจะมีขนาดไม่น้อยกว่า 4 ล้านล้านบาท
“การที่เรามีกองทุนใหญ่ขนาดนี้ คิดว่ากองทุนประกันสังคมมีความมั่นคง แต่จากการคํานวณ ประเทศไทยเราเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงวัย แรงงานที่จะเข้าสู่ระบบการทํางานจะลดน้อยลง มีการคํานวณทางคณิตศาสตร์ว่าไม่เกิน 30 ปีข้างหน้า กองทุนประกันสังคม ที่เรามีกองทุนใหญ่ขนาด 4-5 ล้านล้านบาท จะเท่ากับเหลือเป็นศูนย์ นั่นคือถึงการที่จะล้มละลายของกองทุนของประกันสังคม เราจะทําอย่างไร ให้กองทุนคงอยู่ให้ได้นานที่สุด ยาวที่สุดตราบชั่วกาลปาวสาน หรือเป็นอินฟินิตี้ เพราะฉะนั้นผมได้ประกาศว่าหลังจากนี้ในปี 2568 ดอกผลที่กองทุนประกันสังคม มีวงเงินเท่าไหร่ คุณไปลงทุน ต้องมีค่าเฉลี่ยของดอกผลไม่น้อยกว่า 5% แต่อาจจะมีการยืดชีวิตออกไปได้บ้างสัก 3 ถึง 5 ปี แต่สุดท้ายมันก็ถึงการที่ว่า เงินกองทุนจะต้องหมดไป เพราะฉะนั้นเราต้องหาวิธีการอีกหลายๆ วิธี เพื่อมาเป็นการสนับสนุน”
นายพิพัฒน์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาว่า 1.การที่จะต้องขยายเพดานในการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนจากปัจจุบันอยู่ที่ 15,000 บาท อาจจะต้องขยายไปเป็น 17,500 บาท ซึ่งแน่นอน ฝ่ายลูกจ้างจ่าย 5% นายจ้างจ่าย 5% ภาครัฐจ่าย 2.75% เป็นไปได้หรือไม่ว่าภาครัฐจะเข้ามาสนับสนุนจาก 2.75 ให้เป็น 5 ทั้ง 3 ขาเท่ากัน 2.พิจารณาการขยายอายุของผู้ทํางาน จาก 55 ปีเป็น 60 ปี ในเบื้องต้น หลังจากนั้นเราอาจจะมีความจําเป็นต้องขยายไปทีละหนึ่งปี จนครบ 65 ปี 3.เราต้องหาวิธีนําแรงงานต่างๆ โดยเฉพาะแรงงานผู้สูงอายุกลับเข้าสู่ระบบของประกันสังคมให้ได้ ไม่ใช่ว่าอายุ 55 ปีออกไป หรือ 60 ปีเกษียณไปแล้ว แต่ยังมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีมันสมองที่ดี เราควรจะนำแรงงานเหล่านี้กลับมาทำงาน แต่อาจจะทำงานไม่เต็มเวลา จาก 8 ชั่วโมงลดเหลือ 4 ชั่วโมงหรือทํางานพาร์ทไทม์ เป็นบางช่วง
“ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เพราะฉะนั้นต้องมีการดึงแรงงานเข้ามาเติมให้กับระบบแรงงานภายในประเทศไทย โดยเฉพาะแรงงานระดับล่าง นั่นคือเป็นการเชิญชวนให้เพื่อนบ้านของเรา โดยเฉพาะประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ให้เข้ามาทํางานในประเทศไทยเพราะมีรายได้มากกว่า ตรงนี้เราต้องเอาเขาเข้ามาสู่ระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 นั่นก็คือเป็นการชดเชย คนไทยที่มีเข้าสู่ยุคผู้สูงวัย และปัจจุบันนี้คนที่เสียชีวิตมีมากกว่าคนที่เกิดใหม่ เพราะฉะนั้นต้องมีการเติมช่องว่างตรงนี้ให้ได้” นายพิพัฒน์ กล่าว
รมว.แรงงาน กล่าวว่า 4.กองทุนประกันสังคม ในปีที่ผ่านมา(พ.ศ.2566) เราได้เงินตอบแทน หรือดอกผลจากกองทุนประกันสังคมประมาณ 2.5 - 2.6% เท่านั้น เป้าหมายของตนในปี 2568 ต้องไม่น้อยกว่า 5% แต่เราต้องพยายามทําให้เป้าหมายตรงนั้นทะลุเข้าไปใน ปี 69 ปี 70 นั่นหมายความว่าเป้าหมายเราต้องมี 7 ถึง 8 เปอร์เซ็นต์ การที่จะนําเงินจากกองทุนประกันสังคมไปลงทุน แต่เกณฑ์ของประกันสังคมเขามีเกณฑ์ของเขา เท่าที่ทราบก็คือบริษัทที่จะไปลงทุน ความน่าเชื่อถือต้องไม่น้อยกว่า BBB+ นั่นเป็นหลักประกันอันหนึ่งที่ว่าบริษัทที่จะไปลงทุน ต้องมีความแข็งแรงมากๆ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการลงทุนตามกฎหมายคือกองทุนประกันสังคม ลงทุน 60% ในสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง อีก 40% สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงได้ แต่ในปีที่ผ่านๆ มา ด้วยความที่ทางผู้บริหารกองทุนประกันสังคมพยายามที่จะทํางานแบบฟิตเซฟตี้ หรือว่าอยู่ในสถานะที่ปลอดภัยคือ 75% อยู่ในสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง และสินทรัพย์ที่มีโอกาสเสี่ยงแค่ 25% แต่ถ้าเราทําในลักษณะนั้น แน่นอนจะยังคงแก้ปัญหาอะไรไม่ได้มาก เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนโครงสร้างในปี 2568 เราคงจะต้องกลับไปใช้ตาม พ.ร.บ. คือลงทุนในสินทรัพย์ไม่เสี่ยงคือ 60% สินทรัพย์เสี่ยงคือ 40% ตาม พรบ.กองทุนประกันสังคม
“แต่ในอนาคต คงจะต้องหารือกับบอร์ดประกันสังคม ว่าเป็นไปได้ไหม ถ้าในโลกปัจจุบันมีการวิเคราะห์ที่ดีเราสามารถเอาสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยงเหลือ 50% และเอาไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเสี่ยง 50% นั่นคือเป็นการระดมเพื่อนําดอกผล กลับเข้ามาสู่ประกันสังคม” นายพิพัฒน์ กล่าว
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนประกันสังคม ได้มีการเสวนา ระดมสมอง ในครั้งแรก โดยเชิญพรรคการเมืองต่างๆ หน่วยงานต่างๆ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มาระดมสมองที่จะช่วยกันคิดว่าเราจะเดินทาง และแก้ปัญหาอย่างไร จากการหารือในครั้งแรก เราได้แค่ผลเบื้องต้น แต่ในวันที่ 24 - 25 ตุลาคม 2567 เราจะมีการระดมสมองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นครั้งที่ใหญ่กว่าครั้งแรก จะเชิญผู้เชี่ยวชาญทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะผู้บริหารกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ (เทมาเส็ก) ผู้อํานวยการใหญ่ของไอแอลโอ รับปากที่จะเข้ามาบรรยาย และมาพูดให้ฟังว่าการที่จะทําให้กองทุนประกันสังคม มั่นคงถาวร นี่คือเป้าหมายของกระทรวงแรงงานในปัจจุบันนี้
“ผมให้ความสนใจกับกองทุนประกันสังคมมาก ในฐานะที่ผมเคยดูแลเรื่องเศรษฐกิจ ผมอยู่ในภาคธุรกิจมาก่อน เพราะฉะนั้นสิ่งที่กําลังจะเกิด เราต้องหาวิธีการป้องกัน หาวิธีการแก้ปัญหา นี่คือผู้ที่ผ่านประสบการณ์บริหารธุรกิจ เพราะฉะนั้นเราต้องมองไปข้างหน้าว่าขวากหนามคืออะไร เราจะแก้ปัญหาตรงนั้นได้อย่างไร ไม่ใช่รอเจอปัญหาแล้วเราค่อยไปแก้ ผมคิดว่าเมื่อปัญหามาถึงแล้วเราแก้ไม่ทัน แต่วันนี้กองทุนประกันสังคม กําลังเจริญเติบโต เรารู้ว่าอีกไม่กี่ 10 ปีข้างหน้าอนาคตเป็นอย่างไร วันนี้เราต้องแก้เพื่ออนาคตข้างหน้า แน่นอนผมเป็นคนนําธงในการแก้ปัญหาตรงนี้ เรามองเห็นปัญหาแล้วเราต้องรีบวิ่งเข้าไปหาปัญหาและหาวิธีปลดเงื่อน ปลดปมที่ผูกอยู่ ตรงนั้นให้คลายออกมาให้ได้ แต่รอจนกระทั่งเงื่อนกระชับ จนปลดไม่ได้แล้ว ไม่ทันแล้ว” นายพิพัฒน์ กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี