เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2567 ณ วัดศรีดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ชาวบ้านจาก 4 หมู่บ้านใน ต.สะเอียบ จำนวนประมาณ 150 คน ได้รวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น และปราศรัยวิจารณ์ที่รัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้มีการผลักดันให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ภายหลังจากมีสถานการณ์น้ำท่วม อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี , นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีต ส.ส.สุโขทัย และนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี
โดยกลุ่มชาวบ้านได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ มีเนื้อหาระบุว่า ผลการศึกษาขององค์กร FAO ได้ชี้ให้เห็นว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นบรรเทาน้ำท่วมในลุ่มน้ำยมได้เพียง 8%เท่านั้น โดยเขื่อนแก่งเสือเต้น จะกั้นลำน้ำสาขาในลุ่มน้ำยมได้ 11 ลำน้ำสาขา ขณะที่อีก 66 ลำน้ำสาขาที่อยู่ใต้จุดสร้างเขื่อน ซึ่งเขื่อนก็จะไม่สามารถช่วยอะไรได้ ขณะที่เขื่อนแก่งเสือเต้นต้องทำลายผืนป่าสักทอง 40,000 - 60,000 ไร่ อันจะก่อให้เกิดน้ำแล้ง น้ำท่วมตามมาในอนาคต อีกทั้งกระทบกับชาวบ้านชุมชนสะเอียบทั้ง 4 หมู่บ้าน นับพันครัวเรือน
แถลงการณ์ระบุต่อไปว่า โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแผ่นดินไหว หากเขื่อนแตกจะสร้างความหายนะ ตายกันทั้งเมืองแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ ฯลฯ เปรียบเสมือนเอาระเบิดเวลามาวางไว้ให้ลูกหลาน ต้องอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย
“นักการเมืองหัวโบราณอย่าง ปลอดประสพ สมศักดิ์ ภูมิธรรม ยังคงปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นเหมือน 35 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งมีมากมายหลายแนวทาง เราจึงขอประณามนักการเมืองหัวโบราณเหล่านี้ และขอให้ยุติบทบาทในการปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นได้แล้ว หากคิดได้เพียงแค่นี้ก็ไม่ควรมาบริหารประเทศให้ล้าหลังอีกต่อไป
“การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในอนาคต ต้องเคารพธรรมชาติ ไม่ทำลายธรรมชาติอันจะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งที่หนักหน่วงกว่าเดิม หมดยุคสมัยของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แล้ว ให้คนรุ่นใหม่ ใช้ความคิดใหม่ๆ ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการแก้ไขปัญหาเถิด อย่าจมปลักอยู่กับความคิดโบราณ โลกไปถึงขั้นรื้อเขื่อนแล้ว แต่นักการเมืองโบราณยังคงหากินอยู่กับการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ อยู่ พอทีเถอะ” แถลงการณ์ระบุ
นายประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี แกนนำชาวบ้านสะเอียบ กล่าวว่าคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านดอนชัย บ้านแม่เต้น บ้านดอนแก้ว บ้านดอนชัยสักทอง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จะยืนหยัดในการต่อสู้คัดค้านเขื่อนจนถึงที่สุด โดยขอให้ยกเลิกเขื่อนแก่งเสือเต้น และผลักดันให้มีมติ ครม.รองรับ ให้หยุดเขื่อนยมบน-ยมล่าง ใช้แนวทาง “สะเอียบโมเดล” ในการบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนทั่วทั้งลุ่มน้ำยม และในวันที่ 7 กันยายนนี้ ชาวบ้านจะมารวมตัวกันอีกครั้ง โดยจะแห่งโลงศพและหุ่นนักการเมืองทั้งสาม ก่อนที่จะช่วยกันฌาปณกิจที่ศาลเจ้าพ่อหอแดง ในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิที่ชุมชนให้ความเคารพ
อนึ่ง ป่าสักทองที่ลุ่มน้ำยม อ.สอง เป็นป่าสักทองผืนใหญ่ผืนสุดท้ายของประเทศไทย ซึ่งมีการร่วมกันอนุรักษ์โดยชุมชนอย่างยาวนานกว่า 4 ทศวรรษ โดยที่ผ่านมานักการเมืองหลายคนพยายามผลักดันให้เกิดการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งชาวบ้านวิจารณ์ว่าเป็นความพยายามที่จะแสวงหาประโยชน์จากไม้สักทองอันมีมูลค่าสูงจากป่าผืนนี้
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี