ปภ.เตือน 64 จังหวัด
รับมือท่วมฉับพลัน
กระทบช่วง 4-9 ก.ย.
‘อยุธยา’จม 5 อำเภอ
ปภ.เตือน 64 จังหวัด ภาคเหนือ-อีสาน-กลาง-ใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 4-9 กันยายนนี้ ด้านกรมอุตุฯชี้ทั่วไทย ยังมีฝนหนัก ขณะที่พัทยา จมน้ำ หลังจากฝนถล่ม ส่วนกรุงเก่า ระทม 5 อำเภอ เดือดร้อนแล้วกว่า 6 พันหลังคาเรือน สถานการณ์ส่อรุนแรง หลังจากเขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำเพิ่ม
เมื่อวันที่ 3กันยายน นายไชยวัฒน์จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 2 (157/2567) แจ้งว่าประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2–3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร โดยมีพื้นที่แจ้งเตือนสถานการณ์ระหว่างวันที่ 3–9 กันยายน 2567แยกเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด ภาคกลาง 18 จังหวัด ภาคใต้ 11 จังหวัดพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ภาคใต้ 5 จังหวัด
ทั้งนี้ กอปภ.ก.ได้เน้นย้ำ 64 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักบางพื้นที่ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศว่า ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้ง กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบน และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง อนึ่งช่วงวันที่ 4-8 กันยายน 2567 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าว
ขณะที่พายุโซนร้อน “ยางิ” (YAGI) ที่ปกคลุมประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มจะเคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนช่วงวันที่ 3-4 กันยายน 2567 และจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนกำลังแรง และพายุไต้ฝุ่นตามลำดับ คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศจีนตอนใต้ช่วงวันที่ 7-8 กันยายน 2567 โดยไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณ จ.เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมินครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณ จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม และราชบุรีส่วน กทม.และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณ จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานีขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตรตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราชลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ตั้งแต่ จ.ระนองขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ตั้งแต่ จ.พังงาลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร
วันเดียวกัน ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังมีฝนตกหนักตลอดคืน ได้ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านไปได้ เช่น ถนนพัทยา สาย 3 ซึ่งเป็นพื้นที่แอ่งกระทะและเป็นจุดที่มีน้ำท่วมขังทุกครั้งที่ฝนตกพบว่ามีรถยนต์ของประชาชนจมน้ำหลายคัน อีกทั้งถนนทางหลวง พบรถยนต์และจักรยานยนต์ จมน้ำเสียหาย โดยตำรวจ สภ.เมืองพัทยา ได้วางกำลังและคอยเปิดสัญญาณไฟเตือนเพื่อไม่ให้ผู้ขับขี่ลุยน้ำเข้ามายังจุดดังกล่าว เป็นการป้องกันความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับเมืองพัทยา ในหลายจุดได้เกิดน้ำท่วมขังและระบายไม่ทัน และยังพบว่ามีรถยนต์จำนวนมากที่ต้องจอด หรือจมน้ำได้รับความเสียหายอย่างไรก็ตาม ภายหลังฝนหยุดตก คาดว่าจะต้องใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ในการเร่งระบายน้ำ เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้รถใช้ถนนได้อย่างสะดวก
ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วม ว่าขณะนี้ในพื้นที่เริ่มได้รับผลกระทบจากน้ำเหนือ โดยมีน้ำท่วมแล้ว 5 อำเภอ 52 ตำบล 223 หมู่บ้าน 6,031 ครัวเรือน ได้แก่ อ.บางบาล อ.ผักไห่ อ.บางไทร อ.พระนครศรีอยุธยา และ อ.เสนา ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่บ้านเรือนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบอยู่นอกแนวคันกันน้ำ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองสาขาต่างๆ ที่รับน้ำจากแม่น้ำพระยา น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ระดับน้ำสูงขึ้น 10-20 เซนติเมตร หลังจากเขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำเพิ่มอยู่ที่ 1,500 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที
ด้านนายจำลอง ฤกษ์สุนทร ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบระบุว่า น้ำขึ้นมาประมาณ 1 สัปดาห์ ขณะนี้ก็ยังไม่ลดลง โดยน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนบ้านพักของตนที่แม้จะอยู่บนพื้นที่สูง ยังถูกน้ำท่วม ระดับน้ำประมาณ 50-60 เซนติเมตร เริ่มได้รับผลกระทบกับพืชผักที่ปลูกไว้ เริ่มจมน้ำ ส่วนบ้านพักในละแวกเดียวกัน ถูกน้ำท่วมใต้ถุนบ้านแล้วทุกหลัง ซึ่งต้องมาลุ้นว่าปีนี้น้ำจะท่วมหนักเหมือนปีที่ผ่านมา หรือไม่ แต่ก็ได้เตรียมการรับมือกับสถานการณ์น้ำไว้แล้ว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี