ไต้ฝุ่น‘ยางิ’ยังแรงต่อเนื่อง
เตือน36จังหวัด
‘เหนือ-อีสาน’รับฝนถล่ม
เสี่ยงท่วมฉับพลัน/น้ำป่า
หนองคายนาจม3หมื่นไร่
กรมอุตุฯเตือนพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ทำให้ “เหนือ-อีสาน” มีฝนตกหนักถึง 8 กันยายนนี้ ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก “อ.ธรณ์” ระบุไต้ฝุ่น“ยางิ” รุนแรงสุดรอบ 10 ปี กรมชลฯคุมเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำไม่เกิน1,500 ลบ.ม./วินาที ชัยนาทน้ำเอ่อล้นท่วมแปลงผักขนาดใหญ่ ขณะที่ชาวนาอ่างทอง เร่งเกี่ยวข้าวหนีน้ำ หนองคายหลายอำเภอยังจมน้ำ พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 3 หมื่นไร่
เมื่อวันที่ 6 กันยายน ว่าที่ ร.ต.ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ เรื่อง พายุ “ยางิ” ฉบับที่ 12 ระบุว่าพายไต้ฝุ่น “ยางิ” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางด้านทิศตะวันออกของเกาะไหหลำ ประมาณ 160 กิโลเมตร มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในวันที่ 7 กันยายนนี้ จากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมากและลมกระโชกแรงบางแห่ง ในช่วงวันที่ 7-8 กันยายน 2567
อุตุฯเตือนทั่วไทยยังมีฝนหนัก
อนึ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
ทะเลอันดามัน-อ่าวไทยคลื่นแรง
ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งถึงวันที่ 8 กันยายนนี้
ภาคกลาง-กทม.มีฝนร้อยละ60
ขณะที่พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณ จ.อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี และพระนครศรีอยุธยา ส่วน กทม.และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณ จ.นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด
ใต้ฝั่งตะวันตกฝนฉ่ำร้อยละ70
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี ขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช ลงไป ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 3 เมตร
‘ธรณ์’ชี้‘ยางิ’ผลจากโลกร้อน
อีกด้านหนึ่ง ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่าพายุยางิ เข้าเกาะไห่หนาน (ไหหลำ) ด้วยเหตุจากภาวะโลกร้อน อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น พายุได้เร่งความเร็วลมจาก 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง กลายเป็น 240 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายในเวลาไม่ถึง 2 วัน นักวิทยาศาสตร์ พบว่าพายุโลกร้อนจะเร่งความแรงในลักษณะนี้ และเราจะเจอบ่อยขึ้น เช่น otis ปีก่อน และ yagi (ยางิ) ปีนี้ และอาจมีตามมา
ไต้ฝุ่น‘ยางิ’รุนแรงสุดรอบ10ปี
ดร.ธรณ์ เผยอีกว่าความแรงของยางิ คือ ซูเปอร์ไต้ฝุ่น ถือเป็นพายุรุนแรงเป็นอันดับ 2 ของโลกในปีนี้ (นับถึงขณะนี้) ตอนนี้คลื่นยักษ์สูง 7-8 เมตร กำลังเริ่มเข้าชายฝั่งไห่หนาน ทางการสั่งหยุดทุกอย่าง อพยพคนหลายแสนคนหลบภัย เรือประมง 34,000 ลำ เข้าท่าเตรียมรับมือพายุ
ทั้งนี้ พายุยางิ เป็นพายุแรงสุดในรอบ 10 ปี นับจาก “รามสูร”ที่เข้าไห่หนานในปี 2014 ฝนตกหนักมากคือสิ่งที่น่าห่วงตลอดชายฝั่งจีนตอนล่าง ปีนี้จีนใต้เจอพายุหลายลูก ซึ่งมาเร็วกว่าคาดการณ์ เกิดเหตุน้ำท่วมหลายครั้ง พายุยางิจะข้ามไห่หนาน ลงทะเลช่วงสั้นๆ ก่อนเข้าเวียดนามทางตอนเหนือในวันที่ 7 กันยายนนี้ เมื่อขึ้นฝั่ง พายุจะอ่อนแรงลงอย่างรวดเร็ว แต่ต้องระวังเรื่องฝนหนัก
ชี้ไทยโชคยังดีแต่มีฝนตกหนัก
ดร.ธรณ์ ระบุว่า โชคดีเป็นอย่างยิ่งที่เมืองไทยอยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดิน เราอาจได้รับผลกระทบบ้างโดยเฉพาะภาคเหนือ เช่น จ.เชียงราย อาจมีฝนตกในวันที่ 8-9 กันยายนนี้ ขณะที่เวียดนาม ลาว เมียนมา (ตรงรอยต่อชายแดนสบรวก) น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่า แต่แถวแม่สาย ควรระวังฝนตกหนัก ขอให้ทุกคนทุกชาติปลอดภัย โลกร้อนหยุดไม่ได้แต่ชะลอให้ช้าลงได้ด้วยการกระทำของพวกเราทั้งหลาย คนละไม้ละมือ ธรรมชาติคือสิ่งดีที่สุดในการคุ้มครองพวกเรา รักษาธรรมชาติใกล้บ้านไว้ให้มากที่สุด
เขื่อนเจ้าพระยาคงการระบายน้ำ
ด้านกรมชลประทาน รายงานถึงสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา โดยปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2. จ.นครสวรรค์ ลดลงจาก 1,507 เหลือ 1,496 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ที่ อ.เมือง จ.ชัยนาท มีปริมาณ 1,803 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อน ลดลงจากวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา 9 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 16.70 เมตร(รทก) แต่ยังสูงกว่าระดับเก็บกัก 20 เซนติเมตร กรมชลประทาน ยังคงระบายน้ำท้ายเขื่อนในอัตรา 1,498 ลบ.ม./วินาที ติดต่อเป็นวันที่ 4 ระดับน้ำท้ายเขื่อนที่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ทรงตัวอยู่ที่ 12.82 เมตร (รทก)
ดูปริมาณฝนหากต้องระบายเพิ่ม
นายวัชระ ไกรสัย ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยว่า ยังคงควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 1,498 ลบ.ม./วินาที ส่วนการจะเพิ่มระบายน้ำเป็น 2,000 ลบ.ม./วินาที เมื่อใด ต้องดูปริมาณฝนที่ตกในระยะนี้ หากปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2. จ.นครสวรรค์ และปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี ที่ไหลมารวมกันเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ ก็จะปรับเพิ่มระบายน้ำท้ายเขื่อนตามลำดับต่อไป
ชัยนาทแปลงผักจมน้ำกว่า500ไร่
ที่ จ.ชัยนาท ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม่น้ำเจ้าพระยา ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ในพื้นที่หมู่ 3-4 ต.ศิลาดาน อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นแหล่งปลูกผักใหญ่ที่สุดใน จ.ชัยนาท แปลงผักกว่า 500 ไร่ ถูกน้ำท่วมสูง 20–40 เซนติเมตร เกษตรกรต้องเร่งเก็บผลผลิต เช่น ข้าวโพด ถั่วฝักยาว มะเขือ มะระ และพริก หนีน้ำท่วม แต่เก็บได้เพียงบางส่วน เพราะบางจุดถูกน้ำท่วมสูง เข้าไปเก็บลำบากจึงต้องปล่อยทิ้ง นอกจากนี้ยังพบอุปสรรคถูกปลิงตัวใหญ่กัดขา โดยปลิงมากับน้ำ
ชาวนาอ่างทองเกี่ยวข้าวหนีน้ำ
ส่วนที่ จ.อ่างทอง ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 1 ต.ป่างิ้ว อ.เมือง จ.อ่างทอง ทุ่งลำท่าแดง แก้มลิงรับน้ำ ได้เร่งเกี่ยวข้าวในนาทั้งที่ยังไม่ถึงกำหนดเกี่ยว หลังจากน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทางจังหวัดอ่างทอง ประกาศแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยชาวบ้านต่างระบุว่า พื้นที่นาอยู่ใกล้ทุ่งแก้มลิงรับน้ำ เมื่อน้ำขึ้นต่อเนื่องจึงต้องรีบเกี่ยวข้าวในแปลงนา แม้ยังไม่ถึงกำหนด เนื่องจากเกรงว่าจะเกี่ยวไม่ทัน แม้ว่าจะเกี่ยวได้ไม่มากก็ดีกว่าปล่อยให้ถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมด
น้ำท่วมบ้านนอกคันกั้น224หลัง
ขณะเดียวกัน บ้านเรือนในพื้นที่ริมแม่น้ำน้อย ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาแม่น้ำเจ้าพระยา ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ชาวบ้านที่อยู่ริมน้ำนอกคันกั้นน้ำ ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นตลิ่ง เข้าท่วมบ้าน ระดับน้ำสูง 50 เซนติเมตร-1.5 เมตร รวม 224 หลังคาเรือน ทางจังหวัดอ่างทอง ได้ประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ก่อนจะเร่งเข้าสำรวจและช่วยเหลือต่อไป
หนองคายหลายอำเภอยังจมน้ำ
ส่วนที่ จ.หนองคาย สถานการณ์น้ำท่วมแม้ว่าน้ำในแม่น้ำโขงที่ผ่าน จ.หนองคาย จะลดลงต่อเนื่อง โดยวัดที่ส่วนอุทกวิทยา วัดได้ 9.45 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 2.75 เมตร แต่ยังปรากฏว่ามีหลายอำเภอที่ถูกน้ำท่วม รอการระบาย นับตั้งแต่น้ำล้นตลิ่งช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และฝนที่ตกหนักทำให้พื้นที่การเกษตร ไร่นาในที่ลุ่มถูกน้ำท่วมสูง 1-2 เมตร
พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า3หมื่นไร่
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานเกษตร จ.หนองคาย ซึ่งอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย ผลกระทบและความเดือดร้อนของเกษตรกรในพื้นที่ประสบอุทกภัย 8 จาก 9 อำเภอของ จ.หนองคาย มีพื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย 33,507 ไร่ โดยที่บ้านนาเมย ต.เหล่าต่างคำ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย พบว่าน้ำท่วมขังนานกว่าสัปดาห์แล้ว ระดับน้ำทรงตัว น้ำลดลงช้าทำให้นาข้าวของเกษตรกร พืชสวน พืชไร่ ต้นกล้วย ปาล์ม สวนยาง ถูกน้ำท่วมขัง นาข้าวได้รับความเสียหายทั้งหมด เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ ได้เร่งสำรวจความเสียหายเพื่อเตรียมมาตรการเยียวยาช่วยเหลือต่อไป
ระบายน้ำกว๊านพะเยาเริ่มลดลง
ที่ จ.พะเยา ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำที่กว๊านพะเยา ซึ่งอยู่ในระดับวิกฤตมีปริมาณการกักเก็บสูงถึง 74 ล้าน ลบ.ม.จนเอ่อล้นเข้าท่วมถนนและร้านค้ารอบชายกว๊าน กินบริเวณกว้าง โดยปริมาณน้ำได้สร้างผลกระทบในพื้นที่เทศบาลเมืองพะเยา อย่างหนัก มีการเร่งระบายน้ำออกทางประตูระบายน้ำสถานีประมง จ.พะเยา ลงสู่ลำน้ำอิง จนเหลือระดับน้ำในกว๊านพะเยา 53.975 ล้าน ลบ.ม.ต่ำกว่าระดับมาตรฐานการกักเก็บน้ำปริมาณ 55.65 ล้าน ลบ.ม.ทำให้พื้นที่โดยรอบระดับน้ำเริ่มลดลง บางจุดประชาชนได้เร่งทำความสะอาดถนน นำเศษวัชพืชและดินโคลนออก ส่วนบริเวณท้ายน้ำซึ่งเป็นชุมชนบ้านแม่ต่ำ เมืองชุม เขตเทศบาลเมืองพะเยา และชุมชนบ้านฝั่งหมิ่น ต.ดอกคำใต้ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ยังถูกน้ำกว๊านพะเยา ที่ไหลลงสู่ลำน้ำอิง เข้าท่วมถนน บ้านเรือน วัด ไร่นา บ่อปลา จมน้ำอยู่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี