กทม. MOU สจล. ขับเคลื่อนการจัดการประชากรสุนัข-แมว พาหะนำโรคพิษสุนัขบ้าและสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์ สร้าง “ลาดกระบัง”เขตต้นแบบใช้นวัตกรรมดูแลสัตว์เลี้ยง
วันที่ 11 ก.ย.2567 นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัย ระหว่างกรุงเทพมหานคร และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพื่อขับเคลื่อนการจัดการปัญหาประชากรสุนัขและแมวที่เป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า และการสร้างภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ โดยมี รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นผู้ร่วมลงนาม มีผู้บริหารเจ้าหน้าที่ของ กทม. และ สจล.ร่วมพิธี ณ ห้องประชุม 701 ชั้น 7 สำนักงานอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
นพ.สุนทรกล่าวว่า มิติสัตว์เลี้ยงในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันเป็นอีกปัจจัยที่สัตว์เป็นเพื่อนของครอบครัว คนกรุงเทพฯเลี้ยงสัตว์กันเพิ่มมากขึ้น ในกรุงเทพมหานครมีปัญหาเรื่องสัตว์เลี้ยง สัตว์จร ซึ่งมีบริบทที่ซับซ้อนเกี่ยวข้องกับเรื่องพฤติกรรมการเลี้ยง และกฎหมายต่างๆผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กำหนดเป็นนโยบายสำคัญ 2 ประเด็น คือ 1.การดูแลสัตว์จรจัด เพื่อการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า และควบคุมประชากร ที่ผ่านมา กทม.ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทำหมันสุนัขและแมว (ปีงบประมาณ 2567) ไปแล้วรวม 48,286 ตัว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวม 136,569 ตัว (ข้อมูล ณ 30 มิ.ย. 2567) 2.การดูแลสัตว์ชุมชน ต้องอาศัยความร่วมมือของชุมชน ทำอย่างไรให้สัตว์อยู่ร่วมกับชุมชนได้ และควบคุมประชากรไม่ให้เพิ่มขึ้น กทม.อยู่ระหว่างแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การเลี้ยงสัตว์ ฉบับใหม่ซึ่งจะมีการแก้ไขการขึ้นทะเบียน คาดว่าจะได้ใช้ในปีงบประมาณ 2568
“วันนี้ยินดีที่ สจล. มาเป็นเครือข่ายของ กทม. ที่จะเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา โดยพื้นที่ลาดกระบังเป็น 1 ใน 10 เขต ที่ กทม.เสนอกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเป็นเขตปลอดโรคพิษสุนัขบ้า เชื่อว่าความร่วมมือนี้จะได้พลังของวิชาการเข้ามาพัฒนาสร้างนวัตกรรมใช้เทคโนโลยีในการดูแลสัตว์เลี้ยงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างต้นแบบเขตปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในอีกมิติ ให้เป็นต้นแบบของการดูแลสัตว์ด้วยนวัตกรรม” นพ.สุนทร กล่าว
ทั้งนี้ โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่อันตราย และเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทย รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ สถานการณ์ของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ของกรุงเทพมหานคร ปี 2567 พบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 1 ตัว ที่เขตหนองจอก ปัจจุบันปัญหาเกี่ยวกับสัตว์จรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งสุนัขและแมวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ได้สร้างปัญหาทางด้านสาธารณสุขและก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการแก้ปัญหาและจัดการอย่างเป็นระบบ โดยออกหน่วยปฏิบัติการทำหมันและฉีดวัคซีนเชิงรุก และได้ประสานความร่วมภาคีเครือข่ายต่างๆ
เข้ามาร่วมกันจัดการปัญหา
ในส่วนความร่วมมือกับ สจล. จะร่วมกันในด้านการจัดการประชากรสุนัขและแมวที่เป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า และการสร้างภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร เพื่อควบคุมการเพิ่มประชากรสัตว์พาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า โดยการผ่าตัดทำหมันสุนัขแมวจรจัดและมีเจ้าของ และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ รวมถึงการให้ความรู้ คำปรึกษาและแนะนำแก่ประชาชนในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ ภายในงานนอกจากลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ยังมีให้บริการผ่าตัดทำหมัน ฉีดวัคซีนให้แก่สุนัขและแมว จดทะเบียนสุนัขและฝังไมโครชิพ ณ บริเวณสนามกีฬาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี