ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่าจากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินโครงการ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” ทำให้โรงเรียนในโครงการฯทั้งหมด จำนวน 1,808 โรงเรียน เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐานตามบริบทของตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทั่วประเทศได้จริง สพฐ.จึงมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ซึ่งมีโรงเรียนคุณภาพในพื้นที่ที่มีความเป็นเลิศโดดเด่น ไปทำวิจัยเชิงพัฒนานวัตกรรมยกระดับโรงเรียนคุณภาพตามนโยบาย โดยถอดบทเรียนจากการดำเนินงานบริหารจัดการศึกษาที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้มีจำนวน สพท.ที่ส่งโครงร่างงานวิจัยมา ทั้งสิ้น 41 เขตพื้นที่การศึกษา และจะเร่งดำเนินการวิจัย ถอดบทเรียนให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีการศึกษา 2567 นี้ เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาหาแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ มาขับเคลื่อน และไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานของโรงเรียนคุณภาพที่กำลังพัฒนายกระดับให้โดดเด่น เป็นโรงเรียน ที่มีความพร้อมในการเป็นโรงเรียนหลัก รองรับโรงเรียนเครือข่ายในการเรียนรวม ตลอดจนแบ่งปัน และใช้ทรัพยากรทางการศึกษาร่วมกันอย่างมีคุณภาพต่อไป
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า โครงร่างงานวิจัยที่เขตพื้นที่เสนอมามีหลายหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น โครงร่างงานวิจัยถอดบทเรียนการดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพ รูปแบบการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพสู่การเป็นศูนย์กลาง การเรียนรู้และการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สุพรรณบุรี เขต 1 ที่ดำเนินการขับเคลื่อนงานด้วยรูปแบบ/เทคนิคที่ทำให้เกิดความสำเร็จตามกระบวนการ SPB’1 Seven Steps ซึ่งเป็นกระบวนการเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนคุณภาพและโรงเรียนเครือข่ายโดยมี 7 ขั้นตอน คือ 1.วิเคราะห์บริบท 2.กำหนดแนวทาง 3.สร้างทีมงานเด่น 4.เน้นการมีส่วนร่วม 5.รวมพลังติดตาม 6.นำผลพัฒนา และ7.พาชื่นชมยินดีสร้างขวัญกำลังใจ นอกจากนี้ มีการขับเคลื่อนกิจกรรมการดำเนินงานการจัดการเรียนรู้เชิงรุกActive Learning และหลักสูตรฐานสมรรถนะ มีการวางแผนบูรณาการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากการบริหารจัดการสถานศึกษาในภาพรวมพบว่า ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา มีหลายประการที่สำคัญ ได้แก่ 1.การมีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนชุมชนและผู้ปกครอง 2.คุณภาพของบุคลากรทางการศึกษา ทั้งครู และผู้บริหารโรงเรียนที่มีคุณภาพ มีทักษะ ความสามารถในการสอน และการบริหารจัดการที่ดี 3.โรงเรียนต้องได้รับการจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอ เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน หรือโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม 4.การสนับสนุนจากภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น งบประมาณ การฝึกอบรมครู 5.มีการประเมินและติดตามผลที่ต่อเนื่องซึ่งจะช่วยให้ทราบ ถึงความก้าวหน้า ประสิทธิภาพของโครงการ และทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขในจุดที่ยังมีปัญหาได้อย่างทันท่วงที 6.การสร้างแรงจูงใจและการยกย่องความสำเร็จให้แก่ครู นักเรียน และบุคลากรในโรงเรียน และ 7.มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ท้องถิ่น มีความยืดหยุ่นต่อความต้องการของนักเรียนและชุมชนจะช่วยให้การศึกษาในโรงเรียนมีความเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันและสังคมมากขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี