ทำได้แน่นอน! ’รมว.แรงงาน‘แจงขึ้นค่าแรง 400 บาท รอ‘คณะกรรมการไตรภาคี’เคาะ ก่อนเดินหน้าประกาศ 1 ต.ค.นี้ ยันไร้แทรกแซง ชี้หากใครตกหล่นให้ทำเรื่องส่งมารอรับ 1 ม.ค.2568 ชง‘ลาคลอด120วัน’แบบพบกันครึ่งทาง คาด 7 ปีปลดหนี้กองทุนประกันสังคมได้หมด
เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาวาระคณะรัฐมนตรี(ครม.) แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162 ต่อเนื่องเป็นวันที่2 โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ลุกขึ้นชี้แจงการปรับค่าแรงขั้นต่ำว่า ตนเชื่อว่าที่พูดถึงการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตนเองสำนึกเข้าใจดีกับการดูแลกระทรวงแรงงาน เราต้องทำใน 2 มิติ คือมิติของผู้ใช้แรงงาน และมิติของผู้ประกอบการ หากเราไม่มีมิติของผู้ประกอบการ แล้วเราจะมีมิติของผู้ใช้แรงงานได้อย่างไร ฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างต้องหาความสมดุลให้ได้ดีที่สุด หากเอียงหรือหนักไปทางข้างใดข้างหนึ่ง เชื่อว่าก็จะไม่ประสบความสำเร็จ
รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 1 ปีที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ในการคิด และพิจารณาหารือในหลายๆ มิติว่า การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาท ต้องมีความเหมาะสมของเวลาว่าจะเริ่มได้เมื่อไหร่ ซึ่งตนเองก็ได้ให้สัมภาษณ์อยู่หลายครั้งว่า เราจะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พร้อมกันทั้งประเทศ ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ซึ่งรัฐมนตรีจะไม่ไปแทรกแซง หรือไปกดขี่คณะกรรมการไตรภาคีได้ และตนก็จะเชิญปลัดกระทรวงที่เป็นประธานบอร์ดไตรภาคีในเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ มาหารือกันว่านโยบายของรัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี มีนโยบายอย่างไร
“ถึงแม้ว่านโยบายของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้บรรจุอยู่ในนโยบายเร่งด่วน ถามว่าทำไมต้องรอถึงวันที่ 1 ต.ค.นี้ เพราะต้องรอคณะกรรมการไตรภาคี ที่จะทำการประชุมในวันที่ 17 ก.ย. และวันที่ 24 ก.ย.นี้ เมื่อเราได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการไตรภาคี เราก็จะประกาศขึ้นในวันที่ 1 ต.ค.ได้” รมว.แรงงาน กล่าว
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนแรงงานภาคใดที่ยังไม่ได้รับการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทในวันที่ 1ต.ค. เราก็จะพิจารณา และประกาศอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 1 ม.ค.2568 ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องรออนุมัติกรรมการไตรภาคีในแต่ละจังหวัดแล้วนำมาเสนอที่กระทรวงแรงงาน และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เราดำเนินการอย่างแน่นอน ขณะที่เรื่องสิทธิวันลาคลอด ในอดีตเราให้ที่ 90 วัน แต่ปัจจุบันขยายให้ถึง 98 วัน โดยนายจ้างรับผิดชอบ 49 วัน ประกันสังคมรับผิดชอบ 49 วัน ซึ่งตนเองจะนำเสนอในรัฐบาลชุดนี้ แต่ได้ทราบว่าพรรคประชาชน ก็จะนำเข้าเสนอต่อในเรื่องของร่าง พ.ร.บ. วันลาคลอด ที่ได้นำเสนอ 180 วัน
ซึ่งพรรคภูมิใจไทยได้มีข้อเสนอว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเจอกันคนละครึ่งทางที่ 120 วัน ซึ่งตนไม่ขัดข้อง แต่ขอให้สภาได้ตัดสิน ทางกระทรวงแรงงานเราพร้อมที่จะปฏิบัติตาม ในกรณีที่สภาได้มีการลงมติร่วมกัน ส่วนกรณีการพัฒนาประสิทธิของกองทุนประกันสังคม สำหรับเงินสมทบที่รัฐบาลปัจจุบัน ที่สมาชิกรัฐสภาได้ทวงเงินจากรัฐบาลให้กับกองทุนประกันสังคมนั้น คาดว่าภายใน 7 ปี จะใช้หนี้ให้กับกองทุนประกันสังคมได้หมด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี