ที่ห้องประชุม คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข. พร้อมด้วย ผศ. ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี (มข.), ผศ.นุศรา สุระโคตร รองคณบดีฝ่ายการศึกษา พัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์, ศ.ดร.อลิศรา เรืองแสง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์, ผศ.เกียรติศักดิ์ศรภิรมย์ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี และคณาจารย์คณะเทคโนโลยี ให้การต้อนรับผู้บริหารจากโครงการ Subsurface Data for U นำโดยคณะผู้บริหารจากบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) นำโดยนายรังสรรค์เพ็งพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานธรณีศาสตร์และการสำรวจในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สวนหินกลางแจ้ง คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผศ. ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี (มข.) กล่าวว่าจากการลงนาม MOU ร่วมกันระหว่างคณะเทคโนโลยี และบริษัท ปตท. สำรวจฯ ทำให้เกิดการสนับสนุนการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์สวนหินกลางแจ้งในพื้นที่คณะเทคโนโลยีที่รวบรวมตัวอย่างหินขนาดใหญ่จากหลายแหล่งในประเทศไทยเพื่อจัดแสดงเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาของสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณีและสำหรับให้นักเรียน นักศึกษา บุคคลทั่วไปเข้าเยี่ยมชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติที่มีคุณค่า รวมทั้งสนับสนุนข้อมูลธรณีวิทยาและวิศวกรรมปิโตรเลียม อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และฮาร์ดดิสก์ เพื่อการศึกษาและการวิจัยร่วมกันของสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี และเกิดเป็นโครงการ Subsurface Data for U หรือ Subsurface Data for University เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอน และสร้างนักธรณีวิทยาที่มีศักยภาพสูง ส่งเสริมการศึกษาวิจัยร่วมกันในมิติของการศึกษาธรณีโครงสร้างใต้ผิวดินและการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมที่สำคัญ รวมทั้งการทำวิจัยร่วมกันที่เกี่ยวกับการดักจับ และการกักเก็บคาร์บอนหรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ในหมวดหินผานกเค้าอายุเพอร์เมียน (ประมาณ 250 ล้านปี) ที่เป็นชั้นหินกักเก็บปิโตรเลียมหลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ซึ่ง CCS เป็นกระบวนการในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรม และนำมากักเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดินอย่างถาวร โดยไม่ปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ มีการบริหารจัดการ การติดตาม และตรวจสอบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกกักเก็บอย่างเหมาะสมเพื่อความปลอดภัยในทุกขั้นตอน เทคโนโลยี CCS มีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีนัยสำคัญ หลายประเทศจึงวางแผนให้เป็นเทคโนโลยีหลักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ในปริมาณมากกว่าเทคโนโลยีรูปแบบอื่น
ผศ.ดร.อารยา กล่าวอีกว่า ต้องขอขอบคุณทาง ปตท.สผ.ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนพันธกิจการผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพสูงและตรงตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตอย่างยั่งยืน รวมทั้งการวิจัยที่ส่งผลกระทบสูงต่อสังคม ประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ
มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีปณิธานในการสร้างความยั่งยืนของสังคม และคณาจารย์จากคณะเทคโนโลยีนำองค์ความรู้ทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชนและเครือข่ายศิษย์เก่า เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก โดยนำเทคโนโลยีด้านการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน มาประยุกต์ใช้ในภาคพลังงาน และภาคอุตสาหกรรม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี